ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ

หออัครศิลปิน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ในหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา
ให้กับบุคลากรครูผู้สอนทางด้านจิตรกรรมจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ
จำนวนทั้งสิ้น ๘๐ คน
ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี



โดยมีอาจารย์ผู้เข้าร่วมอบรมและตัวแทนมหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ดนายา เชี่ยววัฒกี
อาจารย์อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์
อาจารย์หมวดวิชาพื้นฐานคณะฯ
คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต

ศิลปินแห่งชาติเปิดดวงตาครูศิลปะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่
เมื่อเป็นครูผู้สอนประจำวิชาศิลปะต้องขับเคลื่อนความคิดให้ทันยุคสมัยตลอดเวลา นอกจากพัฒนาตัวเองแล้ว ยังใช้องค์ความรู้สำหรับถ่ายทอดกับนักศึกษาด้านศิลปะ โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ในหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน 2553 ณ หออัครศิลปิน โดยเชิญศิลปินแห่งชาติมาแนะนำเทคนิคการสอนและวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะ จึงทำให้ครูศิลปะได้พบกับสุดยอดทางด้านศิลปะ ต้นแบบที่พวกเขาจะนำมาสร้างความมุ่งมั่นและเพื่อต่อยอดให้กับตัวเอง

สำหรับศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ด้านจิตรกรรมที่มาเสริมเขี้ยวเล็บครูสอนศิลปะครั้งนี้ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ, ดร.กมล ทัศนาญชลี, ดร.ถวัลย์ ดัชนี, ทวี รัชนีกร, ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, ดร.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วราชุน, ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก และ ศ.ปรีชา เถาทอง นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านทัศนศิลป์มาเสริมทีม ไม่ว่าจะเป็น ศ.วิโชค มุกดามณี, ปัญญา วิจินธนสาร, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ, สรรณรงค์ สิงหเสนีย์ ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านการวาดเส้น องค์ประกอบศิลป์ และวิธีการศิลปะเชิงสร้างสรรค์ เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงคับคั่งไปด้วยความรู้ที่แหลมคมน่าสนใจ รองรับด้วยประสบการณ์ที่ได้รับการศึกษาทดลองอย่างดี ครูผู้สอนด้านจิตรกรรมจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศไทย จำนวน 54 คนที่ร่วมอบรม สามารถนำไปต่อยอดสบายมาก

ดร.ถวัลย์ ดัชนี เป็นหนึ่งในทีมศิลปินแห่งชาติที่มาบรรยายทางด้านศิลปะให้แก่ครูศิลปะ พร้อมกับนำหนังสือศิลปะที่มีความพิเศษและหาดูได้ยากกว่า 40 เล่ม มีมูลค่าตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ซึ่งไม่มีตีพิมพ์ในท้องตลาด อาจารย์ถวัลย์บอกว่า รักหนังสือมากเก็บสะสมมานานกว่า 70 ปี นำมาให้ครูได้ศึกษาเพื่อเปิดโลกทัศน์ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและการเรียนการสอน ปรัชญาศิลปะที่อยู่ในหนังสือเหล่านี้จะงอกงามในหัวใจครูผู้สอนศิลปะ และสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้เป็นปรากฏต่อไป

"การเรียนรู้มีสี่วิธี ส่วนแรกพ่อแม่ ต่อไปจึงเป็นครูบาอาจารย์ ประสบการณ์ และส่วนที่สำคัญสุด เป็นการเรียนรู้จากตัวตนที่แท้จริง หรือจิตเดิมแท้ ซึ่งไม่มีใครสอนได้ การมาร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ ผมเป็นนักวาดรูป สอนด้วยสัญชาตญาณ ความรัก และหัวใจ เหมือนผมกำลังหายใจ ผมเห็นว่าครูที่ดีสอนให้น้อยที่สุด ควรปล่อยช่องว่างระหว่างกันให้ลมได้พัดผ่านบ้าง อยู่ด้วยกันเหมือนสายของพิณ แต่เล่นด้วยท่วงทำนองเดียวกัน" อาจารย์ถวัลย์ฝากถึงครูศิลปะ นอกจากนี้ยังมีการสะบัดพู่กันเขียนภาพให้ชมกันแบบใกล้ชิดเพื่อชักจูงครูเข้าสู่โลกของศิลปินแห่งชาติเจ้าของบ้านดำนางแลผู้นี้

แน่นอนว่าในกลุ่มศิลปินแห่งชาติ มีที่เป็นศิลปินอาจารย์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอาชีพสอนศิลปะและทำงานสร้างสรรค์ควบคู่กันไป ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งเป็นศิลปินอาจารย์ แนะนำครูศิลปะว่า ทั้งสองหน้าที่มีความสำคัญและมีเกียรติ จากประสบการณ์ที่สอนศิลปะมา 40 ปี ช่วงที่งานวิชาการหนัก งานสร้างสรรค์ส่วนตัวลดลง เพราะไม่มีสมาธิ แต่หากมีแค่การเรียนการสอนปกติสามารถทำงานศิลปะได้ จะทำยังไงให้ทำทั้งสองอย่างได้ดีและเสริมซึ่งกันและกัน หากเทียบเราเหมือนศิลปินมือสมัครเล่นเพราะทำงานพาร์ตไทม์ ต่างจากศิลปินมืออาชีพที่มีเวลาเต็มที่และมีสมาธิจดจ่อ แต่มองข้อดีการเป็นอาจารย์ทำให้ได้ศึกษาหาความรู้ให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ได้นำความรู้มาพัฒนาตัวเองและให้กับนิสิต นักศึกษา เหมือนอยู่ศูนย์กลางการสร้างสรรค์ ขอให้ครูศิลปะทำงานทั้งสองอย่างแบบสมดุลจะประสบผลสำเร็จ

การอบรมครั้งนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยภาคทฤษฎีที่เหล่าศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์เทคนิควิธีสอนให้ครูศิลปะได้ต่อทักษะ ส่วนในภาคปฏิบัติจะให้ครูผู้เข้าฝึกอบรมเขียนภาพในเนื้อหาความสามัคคีหรือการรักษ์สิ่งแวดล้อม คนละ 2 ภาพ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็น "อัครศิลปิน" และนำไปจัดแสดงนิทรรศการศิลปะต่อไป
ดนยา เชี่ยววัฒกี อาจารย์คณะศิลปะการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหนึ่งในครูศิลปะที่เข้าอบรม กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้รับฟังความรู้ที่กลั่นกรองจากศิลปินแห่งชาติ แต่ละท่านมีเคล็ดลับต่างๆ กัน ซึ่งเราสามารถต่อยอดทางความคิดได้ ในส่วนเวิร์กช็อปศิลปะตนน่าจะได้คิดค้น ทดลองเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มเติมจากความรู้ที่ได้รับ อาชีพครูต้องหมั่นขวนขวายหาความรู้ เห็นว่าวิถีอาจารย์กับศิลปินเกื้อกูลกัน มีการไหลเวียนทางความรู้ ต้องติดตามสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นตลอด เพื่อพัฒนาตัวเองและส่งต่อสู่เยาวชน เหมือนที่อาจารย์ถวัลย์กล่าวว่า เราให้ดวงตากับคนรุ่นใหม่เพื่อเขาจะเป็นเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะที่ดีและแพร่กระจายศิลปะในสังคมต่อไป





สำหรับโครงการ "ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ" ไม่ใช่แค่การอบรมที่เข้มข้น แต่ยังมีการขยายผลโดยศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกครูศิลปะที่มีผลงานดีเด่นจำนวน 8 คน เพื่อเดินทางไปเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์และทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านศิลปะ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งผลผลิตจากโครงการฯ ที่สำคัญคือ การรวบรวมองค์ความรู้การฝึกอบรมของศิลปินแห่งชาติสำหรับเป็นคู่มือเสริมหลักสูตรในการเรียนการสอนวิชาศิลปะ




ครูศิลปะที่มีผลงานในระดับดีเด่น จำนวน 10 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์ และทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทางด้านศิลปะ พร้อมทั้ง workshop ในสถานที่สำคัญ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา


ในประเด็นนี้ ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์ความรู้ที่ครูได้รับจะเป็นฐานวิธีการสอนงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ครูได้นำกลับไปพัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงวิธีการเรียนการสอน นอกเหนือจากรับใช้การทำงานสร้างสรรค์ส่วนตัว เราคาดว่าครูจะได้รับความรู้ขั้นสูงจากการอบรม โดยเวิร์กช็อปตลอด 5 วัน เริ่มต้นด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยทฤษฎี เพื่อนำไปสู่การลดละเลิกทฤษฎี เหลือแต่ความครีเอทีฟเพียงอย่างเดียว.

ความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art)


ความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art)
ได้มีผู้ให้คำนิยามเกี่ยวกับความหมายของศิลปะไว้มากมาย ทั้งนักปรัชญา นักวิจารณ์ และนักศึกษาศิลปะ เนื่องจากศิลปะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ แสดงออกจากความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ จาก มโนภาพที่ได้จากความจริงหรือจากจินตนาการที่คิดฝันขึ้น โดยใช้ภาษาของศิลปะเป็นสื่อกลางให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจในอุดมการณ์นั้น งานศิลปะที่มีคุณค่าจึงสร้างสรรค์ขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ต้องใช้สติปัญญาอันสูงส่งจนเชื่อกันว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีสติปัญญาจนถึงขั้นที่สามารถจะแก้ปัญหาสร้างสรรค์งานศิลปะได้ ทำให้ผลงานมีวิวัฒนาการเจริญต่อเนื่องเป็นลำดับ
ความหมายของคำว่า “ศิลปะ” นั้นมีความหลากหลายตามการนิยามต่าง ๆ กันดังนี้
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2541 ให้คำจำกัดความว่า ศิลปะ หมายถึง ผลแห่งพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือ ความสะเทือนอารมณ์ ตามอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ หรือเพื่อสนองตอบขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หรือความเชื่อในลัทธิศาสนา
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวไว้ว่า ศิลปะ คือ งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ที่ต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดของศิลปิน
เกอเต (Goethe : 1749 – 1836) กวีชาวเยอรมัน กล่าวว่า “ศิลปะเป็นศิลปะได้ เพราะว่าศิลปะไม่ใช่ธรรมชาติ (Art is art only because it is not nature)”
เซอร์ เฮอร์เบิร์ท รีด (Sir Herbert Read, 1893 – 1968) กวี นักปรัชญา นักเขียน และนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ กล่าวว่า “ศิลปะจึงได้มีคำจำกัดความอย่างง่ายและเป็นธรรมดาที่สุด คือ พยายามที่จะสร้างสรรค์รูปลักษณ์ความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์นั้นก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกในความงามนั้น จะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อประสาทสัมผัสของเรารู้สึกชื่นชมในเอกภาพหรือความประสานกลมกลืนกัน ในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน”
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่นักปราชญ์ให้ความเห็นที่ตรงกันคือ ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Artifact) เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น ถึงธรรมชาติจะมีความสวยงามเพียงไรก็ไม่ใช่ศิลปะ เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ต่างๆ ป่าเขา ทะเล ทิวทัศน์ ฯลฯ อาจมีคุณค่าทางความงาม แต่เป็นเพียงปรากฎการณ์ธรรมชาติ
เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งทรัพยากรอันสำคัญของศิลปะ เป็นแหล่งกระตุ้นให้มนุษย์เกิดแรงดลใจในการสร้างสรรค์ศิลปวัตถุของมนุษย์ทุกแขนง เป็นแหล่งรวมความรู้สาขาต่าง ๆ ศิลปินเชื่อว่าธรรมชาติรอบตัวนั้น เป็นวัตถุแห่งความรื่นรมย์ยินดี (Objects of Delight) สร้างความเบิกบานให้แก่ตนเองและผู้อื่นนานัปการ ศิลปินจึงพยายามถ่ายทอดความรู้สึกต่าง ๆ ดังกล่าว บันทึกเป็นงานศิลปะ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ตามความสามารถและด้วยวัสดุที่เห็นว่าเหมาะสม หลักการทำงานของศิลปินในการทำงานศิลปะ จึงแตกต่างกันตามยุคสมัย เช่น สมัยหนึ่งเชื่อว่าศิลปะจะต้องเลียนแบบธรรมชาติ สร้างให้เหมือนธรรมชาติ ผลงานจะปรากฎเป็นเรื่องของธรรมชาติตามสิ่งที่ตาเห็นมากที่สุด ต่อมามีความเข้าใจว่า การเลียนแบบความเหมือนตามธรรมชาตินั้น ไม่มีความแน่นอน ไม่มีศิลปินคนใดสามารถถ่ายทอดความเหมือนนั้นได้ แนวโน้มการถ่ายทอดก็เปลี่ยนไป
ศิลปะเป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ รวมทั้งลักษณะความชำนาญของมนุษย์ ศิลปะจึงเป็นฝีมือทางการช่าง การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางเทคนิค ในการสร้างสรรค์และการแสดงออกของความคิดศิลปะจึงมีความหมายถึงการทำให้วิจิตรพิสดารต่าง ๆ รวมทั้งการใช้วัสดุและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ศิลปะในความหมายเฉพาะ
วิจิตรศิลป์ (Fine Arts หรือ Beaux’ Art) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้เรียกงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประเทืองปัญญาและอารมณ์ แยกออกจากประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) ซึ่งเป็นศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวโน้มที่จะไม่เรียกสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียวว่าศิลปะอีกต่อไป จะใช้คำว่า อุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยี หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์แทน แต่คำว่าประยุกตศิลป์ก็ยังคงใช้อยู่ตลอดมา เพื่อเรียกงานศิลปะที่ผสมประโยชน์ใช้สอยเข้าไปด้วย เช่น เครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งทอ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงศิลปะคำเดียว จะหมายถึงเฉพาะศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์เท่านั้น ส่วนงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นจะเรียกว่า ประยุกต์ศิลป์ หรือเรียกจำแนกออกไปตามสาขา เช่น อุตสาหกรรมศิลป์(Industrial Art) นิเทศศิลป์(communication Art) มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) เป็นต้น ซึ่งหมาย ความว่าได้ประยุกต์ศิลปะหรือสุนทรียภาพเข้าไปในงานอุตสาหกรรม งานสื่อสารมวลชน หรืองานตกแต่งบ้านเรือนแล้ว
การศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของงานศิลปะ
จากแนวโน้มการศึกษาในปัจจุบัน นักการศึกษาพยายามเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดรวบยอด (Concept) หมายถึง ความคิดที่มนุษย์ใช้เป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ ศึกษาทำความเข้าใจชีวิตสภาพแวดล้อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสรรพสิ่งรอบตัว หลักการอยู่ที่ความสามารถในการจำแนกและการจัดหมวดหมู่ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจตลอดชีวิต เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ทางสังคมและธรรมชาติต่าง ๆ ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้ปราศจากคิด เป็นอันตราย” การตระหนักถึงความสำคัญของความคิด และมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับวิชาที่ศึกษานั้นอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งจำเป็น การเน้นความรู้ทางความจำไม่เป็นการเพียงพอ ต้องรู้จักคิดหรือคิดเป็นด้วย การศึกษาในวิชานั้นจึงจะสมบูรณ์ โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นมาและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในลักษณะขององค์รวม (Holistic) เกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องราว รูปแบบ เหตุการณ์ แรงบันดาลใจ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้สามารถแยกแยะประเด็นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบศิลปกรรม โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ (อารี สุทธิพันธ์ 2531 : 29)
1. ต้นกำเนิด (Origin) การศึกษาเรื่องราวของศิลปกรรมต้องมีความเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นได้ย่อมมีรากฐานที่มา สิ่งนั้นเริ่มสร้างเมื่อไหร่ มีเหตุผลของลัทธิในการสร้างอย่างไร ใช้วัสดุอะไร มีเทคนิควิธีก่อสร้างอย่างไร มีรูปทรงแบบอย่างเป็นอย่างไร เป็นต้น
2. การวิวัฒนาการ (Evolution) เพื่อให้เข้าใจถึงการคลี่คลายหรือความเปลี่ยนแปลงของศิลปะแต่ละยุคสมัยว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรง หรือวิธีการในการสร้างสรรค์ศิลปะ ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความเจริญ หรือความเสื่อมของมนุษย์แต่ละยุคสมัย ย่อมทำให้ศิลปะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
3. การพัฒนา (Development) เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เกิดความก้าวหน้าทางศิลปะ ศิลปินจงใจนำเอารูปแบบวิธีการเดิมมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับวัสดุหรือประโยชน์ใช้สอยตามยุคนั้น ๆ หรือการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบและวิธีการให้ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงความเจริญทางศิลปะของมนุษย์ยุคหนึ่ง โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อนำวัตถุต่าง ๆ มาเปรียบเทียบ
4. อิทธิพล (Influence) เพื่อให้เข้าใจถึงการนำเอาแบบอย่างหรือเลียนแบบ ซึ่งมีอิทธิพลในการสร้างศิลปะ โดยปกติช่างสกุลหนึ่งหรือชนชาติหนึ่งย่อมมีวัฒนธรรมทางศิลปะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ หากแต่มนุษย์ได้ติดต่อสัมพันธ์กันโดยทางต่าง ๆ ทำให้รับเอาแบบอย่างศิลปะของชาติอื่นปะปนเข้าไว้ในงานศิลปะของตัว การรับอิทธิพลมี 2 ประการ คือ อิทธิพลที่มองเห็น (Visible Influence) ได้แก่ การลอกเลียนแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน และอิทธิพลที่มองไม่เห็น (Invisible Influence) ได้แก่ การที่ศิลปินเห็นความดีงามในการสร้างสรรค์งานของศิลปินสกุลอื่นหรือชาติอื่น แล้วกลั่นกรองเอาแบบอย่างผสมผสานลงในงานของตน ซึ่งอาจทำให้เกิดศิลปะแบบใหม่ขึ้น
5. การสืบเนื่อง (Transition) เพื่อให้รู้จักการสืบเนื่องและการถ่ายทอดศิลปกรรม เพราะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะรักษาศิลปะไว้มิให้สูญหาย การมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นมาของศิลปะแขนงต่าง ๆ ทำให้สามารถรักษาแบบอย่างและวิธีการสร้างศิลปะนั้นได้อย่างถูกต้อง เป็นการรักษามรดกทางสังคมของมนุษยชาติที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และเป็นมรดกสืบทอดไปในอนาคต
6. การประยุกต์ (Application) เพื่อให้รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นในปัจจุบัน และสนองธรรมชาติความต้องการสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ของมนุษย์ เมื่อได้ศึกษาจนเข้าใจรากฐานการวิวัฒนาการ การพัฒนาการ การรับอิทธิพล และได้ฝึกฝนฝีมือจนมีความชำนาญ สามารถประกอบงานได้ตามความนึกคิดของตนแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างสรรค์ศิลปกรรมใหม่โดยอาศัยความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น (จีรพันธ์ สมประสงค์ 2524 : 10 – 11)
จอห์น รัสกิน (John Ruskin) นักวิจารณ์และครูที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะของประวัติศาสตร์ศิลปะไว้ว่า ชาติที่ยิ่งใหญ่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ของชาติตนเป็นหนังสือได้ 3 เล่ม คือ หนังสือแห่งคำพูด หนังสือแห่งการกระทำ และหนังสือศิลปะ (Book of speech, Book of doing, Book of art) หนังสือทั้งสามเล่มนี้ เล่มแรกเป็นหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดี เล่มที่สองเป็นหนังสือเกี่ยวกับสงครามและเล่มที่สามเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ
หนังสือเกี่ยวกับศิลปะมีลักษณะเป็น 2 มิติ และ 3 มิติ มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากเล่มอื่น นอกจากนี้ยังเป็นรูปทรงกินเนื้อที่ในบริเวณว่าง (Volume in space) เปิดโอกาสให้ผู้พบเห็นแสดงความรู้สึกตอบสนองวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามภูมิหลังของตนอย่างเสรี โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่อาจมีบางกระแสที่มองว่าศิลปกรรมบางประเภทในอดีต สร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขและแวดวงอันเข้มงวดของศาสนา ได้รับการบัญญัติมาจากเบื้องบน หรือเป็นสุนทรียศาสตร์จากเบื้องบน (Aesthetic from above) ซึ่งผู้ดูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทั้งทางตรง คือ ขัดต่อผู้มีอำนาจ และทางอ้อมคือ ขัดต่อความเชื่อส่วนรวม จึงอาจกล่าวได้ว่างานศิลปกรรมวิพากษ์วิจารณ์ได้ยังมีข้อยกเว้น (อารี สุทธิพันธ์ 2532 : 47 – 48)
รูปแบบงานศิลปกรรม
รูปแบบงานศิลปะ หมายถึง ลักษณะเด่นที่มองเห็นในศิลปกรรมแขนงใดแขนงหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับความศรัทธาของมนุษย์ และเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับคุณค่าของวัสดุ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของมนุษย์นั้น มิได้เป็นไปในแนวทางหรือรูปแบบเดียวกันหมด มนุษย์มีความแตกต่างกับสัตว์อื่นอีกประการหนึ่งตรงที่รู้จักเลือกการกระทำ ทำให้แนวความคิด ทัศนคติ พื้นฐานประสบการณ์และเงื่อนไขอื่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นรูปแบบการถ่ายทอดศิลปะจึงปรากฏอย่างมากมาย และกฎเกณฑ์ทางศิลปะก็มิได้กำหนดแน่นอนตายตัวเหมือนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ อาจจะมีการตกลงร่วมกันในบางข้อ เพื่อตีกรอบแนวทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวกัน และถึงแม้ผลงานทางศิลปะจะมีแนวทางหรือรูปแบบมากมายก็ตาม ในบรรดางานที่แตกต่างเหล่านี้ สามารถที่จะแยกรูปแบบตามแนวทางการถ่ายทอดได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ดังนี้คือ
1. รูปแบบในลักษณะที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ (Realistic)
การถ่ายทอดลักษณะนี้ เป็นการถ่ายทอดโดยใช้สื่อรูปแบบตามธรรมชาติ เช่น ภาพคน สัตว์ ทิวทัศน์ ดอกไม้ ต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งผู้ดูส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้ด้วยเคยมีพื้นฐานประสบการณ์เกี่ยวกับรูปแบบเหล่านี้มาแล้ว ศิลปินอาจถ่ายทอดตามตาเห็น หรือนำเอาวัสดุมาจัดวางใหม่ ตามความคิดเห็นที่คิดว่าเหมาะสมโดยศิลปินมีโอกาสเลือกมุม การจัดวางรูปแบบ การตัดทอนบางส่วน นำมาแสดงเฉพาะบางส่วน ซึ่งศิลปะลักษณะนี้ดูเหมือนเลียนแบบธรรมชาติก็จริง แต่การเลียนแบบธรรมชาติของศิลปิน ไม่ใช่เป็นกระจกเงาที่ต้องสะท้อนทุกสิ่งตรงหน้าให้ปรากฏ ศิลปิน จะสอดแทรกความคิดเห็น ความรู้สึก ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญในการใช้สื่อเครื่องมือ เทคนิค วิธีการ ฯลฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในตัวศิลปิน ส่วนผู้ดูจะอาศัยประสบการณ์เดิมมาประกอบในการตีความ โดยการเปรียบเทียบว่าเหมือน คล้าย สวย ไม่เหมือน หรือสิ่งอื่น ๆ โดยนำเอาธรรมชาติมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ และศึกษาเทคนิค วิธีการ ซึ่งเป็นผลสะท้อนให้เกิดการเรียนรู้ในผลงานนั้น
2. รูปแบบในลักษณะกึ่งนามธรรม (Semi abstract)
เป็นการถ่ายทอดโดยให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติน้อยลง และเพิ่มความสำคัญที่ตัวบุคคลผู้สร้างศิลปกรรมมากขึ้น โดยรูปแบบของธรรมชาติที่นำมาเป็นสื่อนั้นถูกลด สกัด ตัดทอน การจัดวางมิได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ความเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยศิลปินตัดทอนเอารูปแบบจากธรรมชาติมาเป็นสื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน บางครั้งนำเอาลักษณะเด่นๆ ของธรรมชาติมาประกอบกัน จัดเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ เป็นการสะท้อนความรู้สึกภายในของศิลปินออกมา โดยอาศัยรูปแบบทางธรรมชาติเป็นสะพานมายังผู้ดู
ศิลปินต้องแสวงหาข้อมูลที่มีอยู่ในธรรมชาติ แล้วตัดทอนเอาแต่ลักษณะเด่น ๆ ของรูปแบบในธรรมชาติมาผูกเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ โดยมีการจัดวางตำแหน่งข้อมูล ซึ่งเรียกว่าการจัดองค์ประกอบ (Composition) การดูงานศิลปะกึ่งนามธรรม ผู้ดูต้องสร้างจิตนาการขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลคือรูปแบบที่ปรากฎในผลงานส่วนจิตนาการจะตรงกับจุดประสงค์ของผู้สร้างหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะงานศิลปะให้อิสระในความคิดแก่ผู้ดู สุนทรียรสที่ผู้ดูจำได้คือ จินตนาการของตนเอง โดยอาศัยศิลปกรรม เป็นแรงผลักดัน และอาศัยข้อมูลอื่น เช่น การตั้งชื่อภาพ ซึ่งเป็นการสรุปครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมดภายในชื่อนั้น การอธิบายเป็นข้อความ เทคนิคกรรมวิธีในการสร้าง เป็นส่วนของการทำความเข้าใจในตัวของผู้สร้างงานศิลปกรรม
3. รูปแบบในลักษณะนามธรรม (Abstract)
เป็นการถ่ายทอดที่ผู้สร้างงานศิลปกรรมไม่คำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเลยแต่จะคำนึงถึงรูปแบบอันเป็นลักษณะที่ตนจะต้องแก้ปัญหา ให้สามารถนำมาใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองไปยังผู้ดู โดยมีกฎเกณฑ์ทางศิลปะเป็นแนวประกอบในการสร้างงาน (ทัศนธาตุ ได้แก่ เส้น สี พื้นผิว รูปทรง น้ำหนัก) ความชำนาญในการถ่ายทอด ความสามารถในการใช้สื่อวัสดุ ทักษะและความชำนาญในด้านเทคนิควิธีการ สื่อที่ใช้เป็นตัวกลางการถ่ายทอดความรู้สึกภายในไม่มีการจำกัด จึงมีอิสระในการค้นหาวัสดุ อุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ มาดัดแปลงประยุกต์ ประกอบรวมกันออกมาเป็นผลงาน

การดูศิลปกรรมลักษณะนามธรรม ถ้าผู้ดูตั้งใจดูให้รู้ว่าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงอะไรที่เคยเห็นจากธรรมชาติ จะกล่าวว่าดูไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่สามารถใช้พื้นฐานประสบการณ์เดิมที่เคยพบเห็นธรรมชาติเข้ามาตีความ การดูศิลปกรรมประเภทนี้ไม่ควรติดอยู่ที่พยายามจะให้รู้ว่ารูปอะไร แต่เป็นการดูที่ใช้การตีความตามจินตนาการหรือความรู้สึกของผู้ดู เมื่อผู้สร้างไม่คำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ ผู้ดูก็ไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเช่นกัน เมื่อผู้สร้างใช้กฎเกณฑ์ทางศิลปะเป็นแนวทางประกอบ ผู้ดูก็ควรใช้กฎเกณฑ์ทางศิลปะเข้ามาประกอบการตีความเช่นกัน จึงอาจนับได้ว่าเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันทั้งผู้สร้างและ ผู้ดู
งานศิลปกรรมประเภทนามธรรมจัดว่าเป็นการเปิดโลกแห่งจินตนาการอย่างไร้ขอบเขตเป็นการเปิดกว้างในการตีความ ซึ่งจะเห็นพ้องต้องกันหรือแตกต่างกันนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในโลกแห่งจินตนาการเป็นอาณาจักรเฉพาะของแต่ละบุคคลโดยมีเงื่อนไขประสบการณ์เดิมเป็นฐาน แต่เพื่อความเข้าใจในตัวผู้สร้างถึงแนวคิดและแรงผลักดันในการสร้างผลงาน ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากชื่อภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้เบื้องต้นผู้ดูจะได้รับแรงกระตุ้นก่อให้เกิดเรื่องราวปรากฏขึ้นในความรู้สึกที่ออกมาในลักษณะตื้นลึก ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เวิ้งว้าง หนักแน่น ทึบ ตัน โปร่งใส ตื่นเต้น ยุ่งเหยิง สดใส หดหู่ เบิกบาน เศร้าสร้อย ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกที่ปรากฎเหล่านี้ไม่สามารถแปลค่าให้ออกมาเป็นรูปแบบธรรมชาติได้เลย สิ่งที่ได้ช่วงแรกจากการดูคือความเพลิดเพลินไปกับจินตนาการที่ไม่หยุดนิ่ง ลึกลงไปดูโดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับศิลปะ เช่น ดูลักษณะการจัดภาพ การใช้สื่อที่เหมาะสม การแสดงออกลักษณะเฉพาะของบุคคลเป็นแนวทางในการประกอบการประเมินตีค่าผลงาน (ประเสริฐ ศีลรัตนา 2525 : 25 – 33)


------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
จีรพันธ์ สมประสงค์. ประวัติศิลปะ. กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2524.
ชะลูด นิ่มเสมอ. องค์ประกอบของศิลปะ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2534
ประเสริฐ ศีลรัตนา. ความเข้าใจในศิลปะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2525.
สกนธ์ ภู่งามดี. ศิลปะเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสัมพันธ์, 2545.
สุชาติ เถาทอง. ศิลปะกับมนุษย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2532.
วิรุณ ตั้งเจริญ. ศิลปะร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิฌวลอาร์ต, 2527.
วิรัตน์ พิชญ์ไพบูลย์. ความเข้าใจศิลปะ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช, 2528.
วิรัตน์ พิชญ์ไพบูลย์. ศิลปนิยม 1. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2524.
อารี สุทธิพันธ์. ศิลปนิยม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กระดาษสา, 2528.
อารี สุทธิพันธ์. มนุษย์กับจินตนาการ. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์, 2532.