ความเป็นเพศ : วารุณี ภูริสนสิทธิ์

ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายทางสรีระได้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในทางอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด จิตใจ และอารมณ์ ความเชื่อเช่นว่านี้ได้มีมาเป็นเวลานานนับพันปี ความแตกต่างดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นความแตกต่างที่มีมา “ตามธรรมชาติ” ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายได้นำไปสู่สถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชาย เช่น ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผลชอบใช้อารมณ์ นำไปสู่การที่สังคมไม่ยอมรับผู้หญิงให้เป็นผู้นำเพราะมีคุณสมบัติทางเพศที่ไม่เหมาะสม ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งทางคณิตศาสตร์ ไม่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีและมีเกียรติในสังคม หรือผู้หญิงจะเป็นได้เพียงกรรมกรไร้ฝีมือในโรงงาน ไม่สามารถเป็นช่างเครื่องยนต์ได้ เพราะผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีความสามารถทางช่าง ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติหรือความสามารถทางเพศในการดูแลผู้อื่น เช่น เด็ก คนแก่ ทำให้ ผู้หญิงต้องเป็นผู้รับภาระหลักในการดูแลลูกและคนในครอบครัว แม้ว่าผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณสองร้อยปีที่ผ่านมา สังคมของมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ การเกิดและการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งได้รับโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงได้ทำงานนอกบ้านมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเชื่อเดิมๆ ที่มองว่าผู้หญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าชาย และความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ว่าจริงหรือไม่ รวมทั้งการพยายามหาคำตอบว่าทำไมความเชื่อเช่นว่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานาน การเกิดการตั้งคำถามและการหาคำอธิบายนี้ คือ ความคิดเรื่องสิทธิสตรี หรือ สตรีนิยม (Feminism) ความคิดนี้ได้รับความสนใจและการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ ในโลก ในช่วง30 ปีหลังของศตวรรษที่ 20 ความคิดเรื่องสิทธิสตรีจะให้ความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นหญิงและความเป็นชาย และได้ใช้ความคิดรวบยอดในเรื่องความเป็นเพศ (Gender) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญ
ความเป็นเพศคืออะไร
ในขณะที่เพศ(sex) หมายถึงความแตกต่างทางสรีระ ความเป็นเพศหมายถึง องค์ความรู้ที่สร้างความหมายให้กับความแตกต่างทางร่างกาย เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิทยาระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ความเป็นเพศเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม เป็นการการจัดการทางสังคมของความแตกต่างระหว่างเพศในด้านต่างๆ(scutt 1988) เป็นพฤติกรรมที่ถูกเรียนรู้ทางสังคม และเป็นความคาดหวังของสังคมที่สัมพันธ์กับเพศสองเพศ เพศหญิงเพศชายเป็นข้อเท็จจริงทางสรีระ แต่การจะกลายเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วัฒนธรรมสร้างความเป็นหญิงเป็นชายในสังคมขึ้น วัฒนธรรมเป็นตัวสร้างความเป็นเพศ วัฒนธรรมเป็นผู้บอกว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร คิดอย่างไร และเราควรจะคาดหวังอะไรจากผู้อื่น และเมื่อวัฒนธรรมเป็นผู้กำหนดความเป็นหญิงความเป็นชาย วัฒนธรรมก็เป็นผู้บอกว่าผู้หญิงและผู้ชายควรต้องทำตัวอย่างไร เช่น ผู้หญิง (ในวัฒนธรรมไทย) ต้องเป็นคนเรียบร้อย ไม่พูดเสียงดัง ไม่สบถ ในขณะที่ผู้ชายไม่ถูกคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น หรือภรรยาต้องเชื่อฟังสามี สามีต้องเป็นผู้นำในครอบครัว หรือผู้หญิงต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่ของภรรยาและแม่มากกว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ในขณะที่ผู้ชายต้องทำงานเพื่อประสบความสำเร็จซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หรือผู้ชายต้องเป็นผู้เกี้ยวพาราสี ถ้าผู้หญิงคนใดเป็นผู้เกี้ยวพาราสีผู้ชายก่อนผู้หญิงคนนั้นจะถูกตำหนิจากสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่สังคมมีต่อความเป็นหญิงความเป็นชาย และถ้าใครไม่ทำตามที่สังคมคาดหวัง ก็จะพบกับสิทธานุมัติ (Sanction) จากสังคมในเชิงลบ เช่น การติฉินนินทา หรือเยาะเย้ย ถากถาง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในสังคมต้องปฏิบัติตามที่วัฒนธรรมในสังคมกำหนด และเนื่องจากความเป็นหญิงความเป็นชายในสังคมถูกกำหนดจากวัฒนธรรม ดังนั้นความเป็นหญิงความเป็นชายจะแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่ กล่าวคือ ความเป็นหญิงความเป็นชายในยุคสมัยหนึ่งอาจไม่เป็นความเป็นหญิงความเป็นชายในอีกยุคสมัยหนึ่ง เช่น สังคมไทยในอดีต ผู้หญิงในชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงถูกคาดหวังให้อยู่อยู่กับบ้าน ดูแลครอบครัว การทำงานนอกบ้านถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเกียรติ แต่ในปัจจุบันการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติและในบางส่วนเป็นความจำเป็นของครอบครัว นอกจากนี้ความเป็นชายความเป็นหญิงที่ถูกคาดหวังจากสังคมจะไม่เหมือนกันในแต่ละสังคมด้วย เช่น ผู้หญิงในชนบทภาคเหนือมีอิสระในการเลือกคู่มากกว่าผู้หญิงในชนบทภาคใต้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การอ้างว่ามีธรรมชาติของผู้หญิงและธรรมชาติของผู้ชายที่แน่นอน เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน
นอกจากแตกต่างกันตามเวลาและสถานที่แล้ว การให้ความหมายทางสังคมต่อความเป็นเพศยังเป็นผลจากสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยและในแต่ละสังคมด้วย เช่น ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงโดยเฉพาะในประเทศที่เข้าร่วมสงคราม ผู้ชายต้องออกไปรบ ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้ออกมาทำงานทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม และในงานด้านอื่นๆ เพื่อทำให้ ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ แต่เมื่อสงครามยุติลง ผู้หญิงถูกผลักออกจากตลาดแรงงานเพื่อให้ผู้ชายมีงานทำ และผู้หญิงก็ถูกบอกว่าหน้าที่ของผู้หญิงหรือสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีที่สุด คือดูแลบ้านและครอบครัว
กรณีการแบ่งหน้าที่ของหญิงและชายให้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดเกิดขึ้นจากระบบคิดที่แบ่งสังคมออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสาธารณะ (Public) อันได้แก่ เรื่องนอกบ้านหรือเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและบอกว่าส่วนนี้เป็นโลกหรือสังคมของผู้ชาย อีกส่วนถือว่าเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว (Private) อันได้แก่ เรื่องในบ้าน หรือการดูแลบ้านเรือนและสมาชิกภายในครอบครัว โดยมองว่าส่วนนี้เป็นโลกของผู้หญิง ระบบคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นในสังคมตะวันตก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม การผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้งานและบ้านถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด อุดมการณ์ความเป็นแม่บ้าน (Ideology of Domesticity) ได้ถูกสร้างขึ้นและจำกัดบทบาทผู้หญิงให้อยู่ภายในโลกของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง
ความเป็นเพศ เป็นความคิดรวบยอดที่แตกต่างจากเรื่องบทบาททางเพศ เพราะความเป็นเพศมีความหมายที่กว้างกว่าบทบาททางเพศ บทบาททางเพศหมายความถึงแบบแผนต่างๆ ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ของความเป็นเพศ เช่น บทบาทในการดูแลลูกเป็นของผู้หญิง บทบาทในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นของผู้ชาย แต่ความเป็นเพศมีความหมายที่มากกว่านั้น เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจต่อความเป็นเพศต้องไม่ถูกลดลงเพียงการทำความเข้าใจในเรื่องบทบาทที่แสดงออกในสังคมเท่านั้น ในความสัมพันธ์หญิง-ชายยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาในเรื่องของบทบาท เช่น ความรู้สึกที่ผู้หญิงรู้สึกว่าด้อยกว่าชาย ความรู้สึกที่ต้องการพึ่งพิงผู้ชาย ความรู้สึกที่ต้องการมีผู้ชายในชีวิตเพื่อทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความหมายของความเป็นเพศทั้งสิ้น

การสร้างความเป็นเพศผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
คุณลักษณะของแต่ละเพศที่ปรากฏไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ซับซ้อน และซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของคนในสังคม ความเป็นเพศเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวตน ทักษะ และความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นของคนในแต่ละเพศ กระบวนการขัดเกลาทางเพศจะเริ่มตั้งแต่เด็กเกิด ในช่วงที่ยังเป็นเด็กอ่อนอาจจะยังไม่แตกต่างกันนักในการเลี้ยงดูของทั้งสองเพศ แต่พบได้บ้างในเรื่องการเน้นที่อวัยวะทางเพศที่แตกต่างกัน เช่น ในการศึกษาของ สตีเฟน สปาร์ค (Stephen Sparkes) เรื่อง Body and Space: Socialization and Gender Hierarchy among the Shan and Isan (1996) ศึกษาการเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในพวกไทยใหญ่ ที่แม่ฮ่องสอน พบว่า คนในชุมชนให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศของเด็กอ่อนเพศชาย โดยการจับและนำมาเป็นเรื่องล้อเล่นในที่สาธารณะ ในขณะที่อวัยวะเพศของเด็กอ่อนเพศหญิงถูกมองว่าเป็นของไม่สวย เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ซึ่งผู้ศึกษาอธิบายว่าการแสดงออกของคนในชุมชนเช่นนี้ ทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกว่า ตนเองมีความด้อยมีความน่าอับอายอยู่ในตัวเอง ซึ่งจะติดอยู่ในความนึกคิดของเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ และไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ความแตกต่างในเรื่องการเลี้ยงดูจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กผู้ชายมีโอกาสเล่นได้ในทุกที่และเล่นนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ของเล่นของเด็กผู้ชายจะมีความหลากหลายและเกมส์ที่เล่นจะมีกฏเกณฑ์และซับซ้อน มีจุดมุ่งหมาย และเป็นการแข่งขัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมให้ผู้ชายมีทักษะในการจัดการและความเป็นผู้นำ ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะถูกจำกัดให้เล่นแต่ในบ้าน ของเล่นมีเพียงไม่กี่ชนิด การเล่นไม่มีกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน เช่น เล่นขายของ เล่นตุ๊กตา ช่วยแม่ทำกับข้าว นอกจากนี้หนังสืออ่านเล่นของเด็กหรือหนังสือการ์ตูน จะกำหนดความเป็นหญิงความเป็นชายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้าหญิง เจ้าชาย หรือเรื่องอื่นๆ ผู้หญิงก็คือ ผู้ตาม คือ แม่บ้าน คือ ผู้ดูแลครอบครัว ผู้พึ่งพิง ในขณะที่ผู้ชายคือผู้นำ ผู้ปกป้อง ผู้เสนอความเห็น ผู้ตัดสินใจ
เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน เด็กพบกับความคาดหวังของครู ความสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งล้วนมีส่วนสร้างทักษะที่เชื่อว่าเหมาะกับเพศที่แตกต่างกัน ผู้หญิงถูกเชื่อว่าเหมาะที่จะเรียนทางศิลปศาสตร์ ขณะที่ผู้ชายถูกมองว่าเหมาะที่จะเรียนทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยมีความสนใจเรียนทางวิทยาศาสตร์เพราะเชื่อเสียแล้วว่าตนเองไม่มีทักษะ รวมทั้งผู้หญิงจะถูกจำกัดโอกาสในการทำงานในบางอาชีพที่ถูกเชื่อว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนการกำหนดเส้นทางให้ผู้หญิงเดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในสังคมปัจจุบันการขัดเกลาทางเพศที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าครอบครัว โรงเรียน หรือกลุ่มเพื่อน คือ สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย โฆษณา ภาพยนตร์ ล้วนสร้างและเสริมความเป็นหญิงความเป็นชายตามประเพณีนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณค่าของสาวบริสุทธิ์ ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน ผู้หญิงกับความสวย ความสาว ในขณะที่ผู้ชายถูกสะท้อนควบคู่กับการทำงาน การเป็นผู้นำ ความเป็นผู้กล้า ในสังคมที่เป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกที่คนในสังคมไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศชายยังมีคุณลักษณะที่ดูแตกต่างกัน และยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ผลที่ตามมาของความเป็นเพศ
การที่สังคมกำหนดความเป็นเพศขึ้น โดยให้ผู้หญิงมีคุณลักษณะบางอย่าง และผู้ชายมีคุณลักษณะบางอย่างและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ รวมทั้งสถานะสูงต่ำที่แตกต่างกันของคนสองเพศ ผู้หญิงอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่ด้อยกว่า เป็นผู้ตาม เป็นผู้ถูกกำหนด ในขณะที่ผู้ชายอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า เป็นผู้นำ เป็นผู้กำหนด ตัวอย่างเช่น การเชื่อว่าผู้หญิงมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว นำไปสู่การที่ครอบครัวไม่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษา โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก แต่เด็กผู้ชายจะได้รับการศึกษาเพราะเชื่อว่าผู้ชายมีหน้าที่ในการเป็นผู้นำของครอบครัว ความเชื่อเช่นว่านี้ ทำให้ผู้หญิงในโลกนี้มีสัดส่วนของการไม่รู้หนังสือจำนวนมากกว่าผู้ชาย และเนื่องจากด้อยทางการศึกษารวมทั้งความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่มีทักษะทางเครื่องยนต์กลไก ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกนี้เช่นกันที่มีสัดส่วนที่ต้องทำงานไร้ทักษะและได้รับการจ้างแรงงานต่ำมากกว่าชาย นำไปสู่การที่ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มของผู้ยากจนในสัดส่วนที่มากกว่าชาย
การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล ไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนได้ ไม่สามารถคิดอะไรในระดับที่นอกเหนือจากประสบการณ์ได้ ไม่สามารถตัดสินใจในปัญหาที่สำคัญได้ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้สนใจและไม่ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำไม่ว่าในระดับใด และทำให้ในโลกนี้จึงมีสัดส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในระดับนำที่มีโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลต่อชีวิตของคนจำนวนมากน้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้หญิงมีอยู่ครึ่งหนึ่งในโลกนี้
การเชื่อว่าในเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงเป็นผู้รองรับ ไม่สามารถเป็นผู้แสดง (Passive) และต้องเป็นสาวบริสุทธิ์ ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้ที่ต้องแสดง ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเสนอหรือต่อรองในการใช้เครื่องมือคุมกำเนิด เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีหรือมีประสบการณ์ ในเรื่องเพศมาก่อน ผลที่ตามมา คือผู้หญิงต้องแบกรับภาระการตั้งท้องและรับผิดชอบต่อเด็กที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด หรือติดโรคทางเพศอื่นๆ1
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เมื่อความเป็นหญิงความเป็นชายถูกสร้างให้มีความแตกต่าง ความแตกต่างกันดังกล่าว ได้ทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะที่ด้อยโอกาสกว่าผู้ชายทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม


คำอธิบายถึงการเกิดความเป็นเพศหรือความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ
การอธิบายถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มแนวคิดใหญ่ๆ ดังนี้
1. แนวคิดสตรีนิยมสายเสรีนิยม ถือว่าเป็นแนวคิดแรกเมื่อเกิดมีแนวคิดเรื่องสตรีนิยมขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 แนวคิดนี้อธิบายว่า ความไม่เท่าเทียมกันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ในเรื่องบทบาทความเป็นเพศ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเชื่อและการปฏิบัติตามประเพณีนิยมที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้หญิงถูกสังคมปฏิเสธโอกาสในด้านต่างๆ แนวคิดนี้เชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกด้าน ผู้หญิงควรทำทุกอย่างได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
2. แนวคิดสตรีนิยมแนวสุดขั้ว (Radical Feminism) อธิบายว่า ความไม่เทียมกันทางเพศเกิดจาก อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ระบบชายเป็นใหญ่ หมายถึง ระบบของโครงสร้างสังคมและแนวการปฏิบัติที่ผู้ชายมีความเหนือกว่า กดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นระบบที่ผู้ชายมีความเหนือกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม กลุ่มแนวคิดนี้จะให้ความสนใจต่อสถานะที่เป็นรองของผู้หญิงและมองว่าความเป็นรองที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความต้องการเหนือกว่าของผู้ชาย และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่นี้พยายามสร้างความชอบธรรมต่อความเหนือกว่าของผู้ชาย (ผู้ชายเข้มแข็งกว่า ฉลาดกว่า มีเหตุผลมากกว่า คิดอะไรที่ลึกซึ้งได้มากกว่า ฯลฯ) และทำให้ความเหนือกว่านี้ดำรงอยู่ในความเชื่อของคนในสังคม
3. กลุ่มแนวคิดสตรีนิยมสายมาร์กซิสต์-สังคมนิยม (Marxist-Socialist) ซึ่งเสนอว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันของระบบชายเป็นใหญ่และระบบทุนนิยมในสังคม หรือกล่าวได้ว่า เมื่อทั้งระบบความเป็นเพศและระบบเศรษฐกิจมาสัมพันธ์กันในยุคสมัยหนึ่งๆ ได้ทำให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้ชายอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ส่วนผู้หญิงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เช่น ระบบชายเป็นใหญ่ได้สร้างความเชื่อที่ว่า คุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่ความสวยและความสาว (คุณค่าของผู้ชายอยู่ที่ความสามารถ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน) ความเชื่อนี้เมื่อปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแบบตลาดที่ต้องการขายสินค้าให้ได้มาก ดังนั้น ผ่านทางการโฆษณา ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อทางการค้าของธุรกิจเครื่องสำอางค์หลากหลายชนิดอย่างเต็มใจ เพื่อต้องการสวยและรักษาความสาวไว้
4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic) แนวคิดนี้ให้ความสนใจต่อกระบวนการที่อัตลักษณ์ที่ด้อยกว่าถูกสร้างขึ้น หมายความว่าความรู้สึกว่าด้อยกว่าผู้ชายที่ผู้หญิงมีอยู่ในตัวนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยกลุ่มนี้ได้ความสนใจศึกษาถึงพัฒนาการชีวิตช่วงต้นๆ ของเด็ก เพราะเชื่อว่าระยะนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการก่อรูปอัตลักษณ์ของความเป็นเพศ เช่น พิจารณาว่าสิ่งที่เด็กเห็น ได้ยิน หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร มีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร
ประโยชน์ของความเป็นเพศในการศึกษาสังคม
ในการศึกษาสังคมที่ปฏิบัติกันมาหรือที่ยังมีการทำเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้คือ เมื่อต้องการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น จะพิจารณาคนในสังคมแบบรวม ไม่แบ่งแยกเพศ หรือบางครั้งก็ใช้การศึกษาข้อมูลของผู้ชายและถือว่าเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ซึ่งในการศึกษาสังคมลักษณะนี้ได้ถูกนักสตรีนิยม วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการครอบงำในวงการวิชาการที่มีชายเป็นใหญ่ เพราะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงมีน้อยมาก ผู้หญิงจะไม่ได้รับความสนใจในการศึกษาหรือถ้าได้รับการศึกษาก็เป็นเพียงข้อมูลประกอบเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้มาจากการที่ผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีส่วนสำคัญในการกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น และอาจจะเพราะนักวิชาการที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนที่น้อยกว่าชายมาก เพราะฉะนั้นจะพบว่าในการศึกษาสังคมไม่ว่าในด้านใดก็ตาม มักไม่ค่อยมีเรื่องของผู้หญิงปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การรวมกลุ่ม การจัดการความขัดแย้ง ระบบความคิด ทั้งๆ ที่ในทุกสังคมมีผู้หญิงอยู่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีความคิดสตรีนิยมเกิดขึ้น ความคิดรวบยอดความเป็นเพศจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาสังคม เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงประชากรอีกครึ่งหนึ่งของสังคม ที่มีส่วนสัมพันธ์กับความเป็นไปในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นต่อสังคมนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการศึกษาสังคมที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง และเห็นว่าหมู่บ้านนี้มีเศรษฐกิจที่ดี มีเงินไหลเวียนในชุมชน ถ้าพิจารณาสังคมแบบรวมๆ อาจสรุปว่าการพัฒนาของรัฐประสบความสำเร็จ แต่ถ้านำความเป็นเพศมาพิจารณาอาจพบว่าเงินที่สะพัดอยู่ในหมู่บ้านเป็นเงินที่ได้จากการไปค้าประเวณีของผู้หญิงในหมู่บ้าน ข้อสรุปในเรื่องการพัฒนาคงเป็นในด้านที่ตรงกันข้าม
อีกตัวอย่างของการศึกษาทางสังคมวิทยาที่ไม่ได้มีการพิจารณาถึงมิติของความเป็นเพศ คือการศึกษาในเรื่องการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ซึ่งทำการวิเคราะห์และอธิบายถึงความแตกต่างหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มคน ในกรอบความคิดที่ใช้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันที่ผ่านมา ไม่ได้ตระหนักและไม่ได้รวมความเป็นเพศว่าเป็นมิติหนึ่งของการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าหรือไม่มีความเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำความเข้าใจสังคมโดยพิจารณาถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะมีส่วนช่วยในการอธิบาย ปรากฏการณ์สังคมในด้านต่างๆ ได้สมบูรณ์ขึ้น
เชิงอรรถ
1ดูได้จากงานวิจัยต่างๆ ใน Alan Gray and S. Punpuing et al., Gender, Sexuality and Reproductive Health in Thailand, Thailand: Institute for Population and Social Research, Mahidol University, 1999.
บรรณานุกรม
Anderson, Margaret L. (1993) Thinking About Women: Sociological Perspectives on Sex and Gender 3th edition. New York: Macmillan Publishing Company.
Ashenden, Samantha. (1997) “Feminism, Postmodernism and the Sociology of Gender” in Sociology after Postmodernism David Owen ed. London: Sage Publications.
Scott, Joan W. (1988) Gender and the Politics of History. New York: Columbia University Press.
Sparkes, Stephen. (1996) “Body and Space: Socialization and Gender Hierarchy among the Shan and Isan.” Paper Presented at the 6th International Conference on Thai Studies, Chiangmai, Thailand.

ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนhttp://61.47.2.69/~midnight/midnightuniv/newpage91.htm

สอนคนให้เป็นคน ก่อนที่จะสอนคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกร

…ศิลปะเด็กเป็นสื่อที่ดีในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก ไม่ใช่การเตรียมคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกรในอนาคต…              
ศิลปะในโลกของเด็กๆ นั้นคือ การแสดงออกอย่างอิสระเสรี (Free Expression) อันเต็มไปด้วยความซื่อบริสุทธิ์จริงใจ เปิดเผยและเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาประสาของเด็ก โดยปราศจากการเสแสร้ง ดัดจริตและไร้มารยาสาไถยซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่หายากในงานศิลปะของผู้ใหญ่ทั่วไปโดยเฉพาะมีศิลปินชั้นนำของโลก เพียงบางท่านเท่านั้นเช่น ปิกัสโซ่, ชากาล, แคนดินสกี, ฯลฯ ที่มีความเข้าใจ และสามารถทำงานศิลปะที่บริสุทธิ์ คล้ายคลึงกับผลงานศิลปะของเด็กๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าในปัจจุบันนี้ศิลปะบริสุทธิ์ของบรรดาเด็กๆกำลังถูกผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์พยายามชักจูงและเกลี้ยกล่อมให้ทำงานศิลปะโดยเอารางวัลมาเป็นตัวล่อ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน ด้วยการยืมฝีมือของเด็กๆ ส่งผลงานไปประกวดและแข่งขันยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะครูศิลปะบางคนที่ยังขาดความเข้าใจในปรัชญาเกี่ยวกับศิลปะเด็กมักสำคัญผิดคิดว่าวิธีการส่งเสริม


ศิลปะสำหรับเด็ก คือ
การประกวดและแข่งขันชิงรางวัลครูศิลปะและผู้ใหญ่ประเภทดังกล่าวนี้ จึงมักจะส่งเสริมกิจกรรมศิลปะโดยมุ่งหวังที่รางวัลแต่เพียงประการเดียวจนกระทั่งเด็กๆ หลายคนถูกชักนำให้กลายเป็นนักล่ารางวัลไปโดยไม่รู้สึกตัว

พ่อแม่และผู้ปกครองตลอดจนผู้เกี่ยวข้องก็พลอยยินดีไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจเพราะคิดว่ารางวัลนั้น คือ ตัวแทนของความสามารถและเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่น้อยคนจะได้รับ บรรดาผู้ใหญ่ที่แสดงความรักเด็กในขณะเดียวกันก็รักรางวัลไปพร้อมๆ กันด้วยนี้ จึงพากันมุ่งส่งเสริมกิจกรรมศิลปะเพื่อต้องการเอารางวัล บางคนพยายามสืบเสาะดูว่าในการประกวดและแข่งขันศิลปะนั้นๆ มีใครเป็นกรรมการบ้าง กรรมการแต่ละคนมีรสนิยมอย่างไรเพื่อว่าที่จะได้กลับมาชี้แนะให้เด็กๆ ทำงานศิลปะให้ถูกใจกรรมการ หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเท่ากับเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่สะอาดบริสุทธิ์ของเด็กๆ ตั้งแต่เยาว์วัย
อย่าสอนเด็กให้เป็นทาสรางวัล
ผู้ใหญ่บางคนที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กทำงานศิลปะเพื่อหวังแต่รางวัลจนเด็กตกเป็นทาสของรางวัลนั้น เคยสังเกตบ้างไหมว่าในดวงใจของเด็กที่เคยสะอาดสะอ้าน บริสุทธิ์ น่ารัก และร่าเริง แจ่มใสอย่างมีชีวิตชีวาหลังจากถูกเพาะกิเลส ด้วยรางวัลจากผู้ใหญ่ ได้กลับกลายเป็นเด็กที่มีหัวใจอันหยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว เย่อหยิ่งยะโสก้าวร้าว บางครั้งอาการผิดหวัง ซึมเศร้า อิจฉาริษยา และโกรธแค้นชิงชัง เมื่อไม่ได้รับรางวัลอีก นอกจากนี้ ในบรรยากาศที่มุ่งประกวดและแข่งขันชิงรางวัลนั้น ในดวงตาของเด็กๆ ไม่ได้ถูกสอนไม่ได้ถูกสอนให้มองถึงความงดงามของศิลปะ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวแต่กลับมีนัยน์ตาเป็นประกายมองเห็นแต่รางวัลและสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้หลงบูชาด้วยความชื่นชม เช่น เหรียญโล่ โบว์และกล่องของขวัญชนิดต่างๆ ซึ่งบางครั้งเมื่อแกะกล่องออกมาแล้วภายในเป็นเพียงสิ่งของราคาถูกและมักถูกโยนทิ้งลงถังขยะในที่สุด ทำไมเราไม่สอนให้เด็กรักศิลปะ แทนที่จะมุ่งแสวงหารางวัล คะแนนและสิ่งตอบแทนต่างๆที่มอมเมาเด็กทำไมไม่สอนเด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ก่อนที่จะสอนให้เด็กเป็นศิลปินหรือจิตรกรที่บางคนแต่งกายสกปรกผมเผ้ารกรุงรัง คล้ายคนบ้าๆ บอๆ และมีพฤติกรรมที่แปลกๆ ประหลาด ซึ่งเด็กๆ ผู้อ่อนเยาว์ไม่สมควรจะเอาเป็นตัวอย่าง

รางวัลสร้างสรรค์หรือทำลาย
ณ ที่ใดที่มีการประกวดและแข่งขันเพื่อชิงรางวัลที่นั้นย่อมจะต้องมีผู้ดีใจและเสียใจ  ดังนั้น รางวัลจึงเปรียบเสมือน "ดาบสองคม" ที่คุณและโทษ ทางด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประโยชน์กล่าวคือ เป็นเครื่องหมายของการยกย่องให้เกียติ ซึ่งนำมาสู่ความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับ ถ้าหากรู้จักใช้อย่างพอเหมาะพอควร รางวัลจะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ทำให้เกิดกำลังใจในทางสร้างสรรค์ที่ดีงาม ส่วนคมอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นตัวทำลาย เนื่องจากการประกวดและแข่งขันมักจะถูกกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ นานาจากผู้ดำเนินการในแต่ละครั้ง อาทิ เช่น การกำหนดเนื้อหาเรื่องราว เทคนิควิธีการและข้อจำกัดอื่นๆ ตามแต่ผู้จัดจะกำหนดโดยทั่วไปเด็กๆ จึงไม่มีโอกาสได้แสดงออกอย่างอิสระเสรี ซ้ำบางครั้งครูและผู้ปกครองที่มีความประสงค์อยากให้เด็กของตนได้รับรางวัล มักจะออกคำสั่งให้เด็กนั้นๆ ทำงานตามวิธีการของผู้ใหญ่ที่คิดว่าจะทำให้ผลงานนั้นดีกว่าหรือได้เปรียบกว่าผู้ประกวดและผู้แข่งขันคนอื่นๆ  

จากการชี้แนะและออกคำสั่งบงการให้เด็กต้องทนทำงานศิลปะตามลักษณะรูปแบบที่ผู้ใหญ่คาดหมายว่าจะได้รับรางวัล โดยที่เด็กไม่มีโอกาสใช้ความคิดของตนเองเลยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังถูกแทรกแซงทางความคิดให้จำต้องสร้างงานศิลปะตามคำบงการของผู้อื่นโดยมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ ซึ่งนอกจากไม่เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อศิลปะเด็กแล้ว ยังเป็นการทำลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์ของเด็กๆ ลงอย่างน่าเสียดายอีกด้วย
ผลจากการเป็นนักล่ารางวัล
เด็กที่มีความสามารถทางศิลปะบางคนแทนที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จในการใช้ความถนัดทางธรรมชาติของตนตามความเหมาะสม บางครั้งได้กลายเป็นความโชคร้ายของเด็กคนนั้น เมื่อถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการประกวดแข่งขันตามเวทีศิลปะต่างๆ จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป

แถวๆ ฝั่งธนมีคุณแม่อยู่คนหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในวงการว่าเป็นคนที่จุ้นจ้าน ชอบบงการชีวิตของลูกชายผู้รักศิลปะของตน บางครั้งจะโทรศัพท์หรือไม่ก็ไปพบกรรมการผู้เกี่ยวข้องกับศิลปะเด็กบางคน เพื่อปรึกษาหรือร้องทุกข์ถึงความผิดหวัง เจ็บปวดรวดร้าว เมื่อลูกชายสุดที่รักคนเดียวส่งภาพเขียนไปประกวดแล้วถูกกรรมการที่ไม่เอาไหนตัดสินให้รับรางวัลชมเชย ทั้งๆ ที่น่าจะได้รับรางวัลที่ 1
คุณแม่ของจิตรกรรุ่นเยาว์ผู้เคราะห์ร้ายจะบ่นรำพันมาตามสาย เพื่ออธิบายให้เห็นถึงความสายตาสั้นของกรรมการผู้ตัดสินบางคน ที่มองไม่เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะทางศิลปะของลูกรัก ตาต่ำ ไร้รสนิยม และขาดความยุติธรรมจนกระทั่งเห็นผลงานคนอื่นดีกว่า

อันที่จริงกรรมการบางท่านก็อาจจะเป็นเช่นนั้นในบางครั้ง เพราะอาจถูกเชิญมาในฐานะศิลปิน จึงมีความคิดเป็นของตนเองและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ เวลาพิจารณาตัดสินจะพูดอยู่เพียงสองคำเท่านั้นคือ "เอา" กับ "ไม่เอา" ถ้าไม่เอาก็หมายความว่าภาพเขียนชิ้นนั้นจะถูกนำไปกองในประเภทคัดออกไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งในขนาดวางภาพหัวกลับก็สามารถตัดสินได้ อย่างไรก็ตามการพิจารณาตัดสินโดยทั่วไปก็มักจะมีการเชิญกรรมการหลายคน และยึดถือเสียงส่วนใหญ่เป็นข้อยุติ ดังนั้น เมื่อกรรมการตัดสินไปแล้วปรากฏผลเป็นอย่างไรก็ควรยอมรับ ถ้าหากไม่ยอมรับก็ไม่สมควรจะเข้าไปร่วมการประกวดและแข่งขันนั้นๆเสียตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ควรทราบด้วยว่าในการประกวดและแข่งขันย่อมไม่ใช่วิธีการส่งเสริมศิลปะเด็กที่เหมาะสมทุกประการ แต่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งเสมือนเป็น "สนาม" สำหรับประลองฝีมือทางศิลปะให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นเท่านั้น

บทบาทในการส่งเสริมศิลปะเด็ก
สรุปได้ว่า ผู้ที่เป็นพ่อแม่ ครู อาจารย์และผู้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเด็กๆไม่สมควรมุ่งหวังที่ตัวรางวัลหรือส่งเสริมศิลปะเด็กเพื่อเตรียมตัวเป็นศิลปินหรือจิตรกรในอนคต เนื่องจากเด็กยังมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน พ่อแม่หรือผู้หวังดีไม่ควรรีบร้อนกำหนดชีวิตอนาคตของเด็กว่าจะต้องมีอาชีพทางศิลปะ เช่น จิตรกรหรือศิลปินผู้มีชื่อเสียง แนวทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กในวันนี้ เด็กๆทุกคนควรได้รับการส่งเสริม ให้แสดงออกทางศิลปะ เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ และปลูกฝังศิลปะนิสัยที่ดีงามลงในตัวเด็ก เพื่อเตรียมเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไปเมื่อถึงวันนั้นแล้วเราอาจจะได้บุคคลหลายๆวิชาชีพที่ล้วนแต่มีคุณภาพที่ดีหรือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สูง เช่น นายแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักการเมือง นักธุรกิจ แม่บ้าน หรือแม้แต่จะเป็นชาวนาหรือคนขับรถฯลฯทุกคนต่างก็จะมีคุณภาพของชีวิตที่ดี คือ สามารถพัฒนาตนเองและสังคมให้มีสภาพดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้


รองศาสตราจารย์เลิศ อานันทนะ
นิทรรศการประกวดภาพเขียนเด็กเยาวชนไทย "โลกก้าวหน้า" และภาพเขียนเด็กและเยาวชนญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2538
ณ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง 8-18 ธันวาคม 2538