Banksy ถูกบันทึกภาพ ขณะกำลัง ปฏิบัติการจู่โจมสร้างงานศิลป์ ริมถนน

Banksy แบงค์ซี่ คือ 1 ใน เทพแห่งกราฟฟิตี้ ผู้ โด่งดังที่สุดในโลก และ ลึกลับที่สุดในโลก ผู้หนึ่ง ถูกบันทึกภาพได้โดยกล้อง CCTV ของผับที่มีชื่อว่า Primrose Hill pub ขณะกำลังสร้างสรรค์ผลงาน กราฟฟิตี้ ที่มีชื่อว่า " Run for your lives "



ภาพผลงาน "Run for your lives" เมื่อแล้วเสร็จ ภายในผับ Primrose Hill pub เมื่อแล้วเสร็จ

ภาพ นกพิราบขาวใส่เสื้อเกราะ ถูก เล็งด้วยปืน บนผนังในเมือง เบธเลเฮม (Bethlehem) เป็นเมืองเล็ก ๆ ในแคว้นยูเดียทางตอนใต้ของอิสราเอลในปัจจุบัน


เป็นภาพใน 1 ใน 9 ผลงาน ของ แบงค์ซี่ ทีสร้างสรรค์ขึ้นในช่วง สิงหาคม 2005 บนกำแพงเวสต์แบงก์ ในอิสราเอล เป็นรูป กำแพงเวสต์แบงก์ที่แตกออก เผยให้เห็นท้องฟ้าสีครามสดใส มีเด็กน้อย ถือกระป๋อง และพลั่วตักทรายเด็กเล่น ยืนอยู่ตรงกลาง หากได้ชมคลิปวีดีโอที่เขาถ่ายไว้ จะเห็นว่าด้านหลังกำแพง มี ทหารถือปืนยืนอยู่ (เสี่ยงโคตร สำหรับบริเวณ เขาอาจถูกสอยได้ทุกเวลา)


เป็นภาพล้อเลียน ภาพยนต์เรื่อง เขย่าชีพจรเกินเดือด ( Pulp Fiction ) ของผู้กำกับ เควนติน ทาแรนติโน(Quentin Tarantino) จากในภาพที่นักแสดงนำ จอห์น ทราโวลตร้า( John Travolta ) และ ซามูเอล แอล. แจ็คสัน( Samuel L. Jackson ) แทนที่จะถือปืน กับ เปลี่ยนเป็นถือกล้วยแทน เพื่อสื่อให้เห็นถึงหยุดใช้ความรุนแรง ภาพนี้อยู่ที่ ถนน Old Street ในกรุงลอนดอน(London) ประเทศอังกฤษ


ภาพนี้ ถ้าดูประกอบข้อความ The mild mild west แบงค์ซี่คงต้องการจะสื่อให้เห็น นี้หรือคือ ความละมุนละม่อม ของ โลกตะวันตก ภาพนี้ปรากฏบนผนังริมถนน Croft street ในเมืองบริสตอล(Bristol)


1 ใน ภาพที่โด่งดังที่สุดของ Banksy เป็นภาพ ชู้ที่ต้องออกมาห้อยแต๋งแต่ง นอกหน้าต่างเมื่อ ผัวเขากลับมา ภาพนี้อยู่ที่เมืองบริสตอล(Bristol)


ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร แบงค์ซี่ก็สามารถ นำผลงานของเขาไปร่วมแสดงได้อย่างลงตัว อย่างน่าอัศจรรย์ใจ อย่างยิ่ง ภาพนี้เป็นภาพรถบดถนน ที่ เหมือนจะวิ่งทับ ตำรวจ จนแบนติดล้อไปเลย


ภาพผลงาน ของ Banksy ที่เป็นรูปของตำรวจกำลังเล็งปืน สไนเปอร์ ด้านหลังเป็น เด็กน้อยมีอาวุธในมือ ถือถุงเป่าลม ที่หมายจะตบให้ ตำรวจ ตกใจ ภาพนี้ปรากฏในเมือง บริสตอล(Bristol)


ภาพนี้ เป็นภาพตำรวจกำลังค้นร่างกายเด็กหญิง (สังเกตไหมว่า ไม่ว่าบ้านไหน เมืองไหน ตำรวจ ก็เก่งแต่คนไม่มีทางสู้ กฎหมายมีไว้บังคับผู้อ่อนแอ เท่านั้น)


ภาพนี้ แสดงให้เห็นว่า แบงค์ซี่ ต่อต้านกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่เข้ามาทำลายร้านค้าโชห่วย ขนาดเล็กจนพังพินาศ (ในภาพเห็นว่าเด็กชักธงที่เป็นถุงของห้าง Tesco ส่วนเด็กคนอื่นก็ยืนทำความเคารพ ) ภาพนี้ปรากฏบนผนังของร้านขายยา Savemain pharmacy ริมถนน Essex Road เมือง Islington


ภาพนี้จะเห็นเด็กน้อยชุดแดง กำลัง กลิ้งสีเป็นข้อความว่า " ONE NATION UNDER CCTV " มุมซ้ายล่างมีตำรวจยืนถ่ายภาพ กับ หมา ซึ่งเหมือนจะสื่อว่า พบเรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้การเฝ้าดู ของ กล้อง CCTV ทุกหนทุกแห่ง


ภาพนี้เป็น ผลงานที่จัดแสดงในงานผลงาน Barely Legal exhibit ผลงานนี้มีชื่อว่า " Love is in the AIR " เป็นภาพของผู้ประท้วง มีผ้าเช็ดหน้าคาดจมูก ปิดปาก เพื่อป้องกัน Gas น้ำตา ทำท่ากำลังจะขว้าง แต่แทนที่ในมือจะขว้างระเบิดขวด แต่ มันกลับกลายเป็น ช่อดอกไม้
หากเหตุการณ์เมื่อเดือน พฤศภาคม 2553 ทำไมไม่แสดงออกกันอย่างนี้บ้างนะ ผมว่าถ้าผู้ร่วมชุมนุมทุกคน รวมกันขว้างดอกไม้ใส่ทหาร ผลที่ออกมา มันอาจจะเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ ของ เมืองไทย ไปอย่างสิ้นเชิง ในทุกแง่ ทุกมุม ไปตลอดกาลแน่นอน โดยส่วนตัวผมชอบภาพนี้มากมาย


รูปสาวใช้กำลัง หมก ความสกปรกเข้าหลังผนัง ทำไม บ้าน เมือง มันถึงสับสนวุ่นวาย ก็เกิดจาก พวกเราที่มักจะ ซุก ปัญหา กัน แทนที่จะแก้ไขมัน ปล่อยให้มันสะสมรอวัน ระเบิดออกมา จนไม่สามารถแก้ไขได้อีก


ภาพนี้เป็นอีก 1 ผลงานของ Banksy และการนำเสนอผลงานนั้นยิ่งแปลกแหวกแนวอย่างยิ่ง เป็นรูปล้อเลียน แบบภาพเขียนภายในถ้ำ ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ กำลังเข็นรถไป Shopping สัตว์ป่า แบงค์ซี่นำผลงานนี้ไปซุกไว้ใน พิพิธภัณฑ์ The British Museum โดยใช้เทปกาว 2 หน้าติดไว้ที่ด้านหลังของผลงาน แล้วนำติด กับ ผนัง แบงค์ซี่เฝ้ารอ รอคอยอย่างใจจดใจจ่อว่าจะมีใครมาพบผลงานนี้ของเขา จนเหนื่อยใจ จนเขาต้อง Post ข้อความ บน website ส่วนตัวของเขา ถึงเรื่องราวดังกล่าว


เมื่อผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทราบเรื่องราวจึงทำการออกค้นหาภายในพิพิธภัณฑ์ จึงพบผลงานของ แบงค์ซี่ แต่ผลงานของเขานั้นล้ำค่าเกินกว่าจะโยนทิ้งลงถังขยะ มันถูกนำไป จัดแสดง อย่างเป็นทางการใน พิพิธภัณฑ์ The British Museum ดังแสดงในภาพ(รูปในกรอบขวามือล่าง)
โดยส่วนตัวต้องยอมรับเขาได้เป็นเพียงจิตกร แต่ เขายังเป็นนักการตลาดที่ยอดเยี่ยมด้วย

"ศิลปะ" ร่วมสมัยกันอย่างไร และ อย่างไรจึงร่วมสมัย

โดย : อารยา ราษฎร์จำเริญสุข 

‘ร่วมสมัย’ เป็นคำที่คนในวงการศิลปะใช้บ่อย บางครั้งในการใช้ต่างคนก็ต่างเหมือนจะเข้าใจกันดีว่า หมายถึงศิลปะปัจจุบันที่น่าตั้งคำถามว่ามีศิลปะที่ผลิตในเวลาปัจจุบันซึ่งหน้าตาไปร่วมสมัยกับอดีต และมีศิลปะที่ผลิตในเวลาปัจจุบันที่คนปัจจุบันดูไม่รู้เรื่อง

น้อยครั้งแต่ไม่ใช่ไม่มี ในที่ประชุมในองค์กรศิลปะจะมีใครสักคนลุกท้วงการใช้คำนี้ในหลักสูตรว่า จริงๆ แล้วแปลว่าอย่างไรกันแน่เล่า

เราเอาเวลาผลิตเป็นที่ตั้งแล้วก็นึกว่า ศิลปะที่ถูกผลิต ณ เวลาปัจจุบันเป็นศิลปะร่วมสมัยคือผลงานร่วมสมัยกับเวลา ลืมไปว่าคำว่า ‘เวลา’ ไม่หมายถึงเพียงวันที่ เดือนและปีพ.ศ. แต่ผนวกพ่วงเอาความเป็นไปแห่งเวลามาด้วย ลืมไปว่าละครทีวีของเราเองเอานิยายเก่าๆ มาเปลี่ยนตัวละครเป็นดารารุ่นใหม่แล้วสร้างซ้ำๆ มาเนิ่นนาน ที่เราจะนั่งดูละครเรื่องเก่าในสายตาของคนในส่วนแวดล้อมใหม่ ลืมไปว่าละครย้อนยุคถูกสร้างขึ้นในยุคปัจจุบันมีไม่น้อยและเราอาจดูละครเรื่องนั้นด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีต เวลาจึงไม่ใช่ตัวกำหนดความร่วมสมัยถ้าในส่วนของ ‘ความเป็นไป’ นั้นไม่ใช่ คือไม่ไปด้วยกันทั้งเป็นๆ หมายว่ามีบางอย่างตาย เวลาเคลื่อน ศิลปะถูกผลิต แต่ความเป็นไปตายหรือแช่นิ่ง หรือเอาความเป็นไปที่ตายแล้วมาดองให้คงอยู่ในชิ้นงานศิลปะ

ในเวลาและความเป็นไปร่วมสมัย หันมองรายรอบ ยังมีศิลปะของยุคสมัยใหม่อยู่มากมาย ส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการศึกษา ในเวลาและความเป็นไปร่วมสมัยยังมีศรัทธาสืบทอดที่คล้ายยังคุกรุ่นร้อนเร่าอย่างเคยมา (ถ้าคำอ้างแห่งศรัทธานั้นไม่เป็นเพียงแนวคิดงานศิลปะ) มีความจงรักและภักดีต่อสไตล์เดิม (ถ้าไม่ใช่การยืนยันว่าไม่ อาจหาก้าวใหม่ที่แตกต่าง) ที่สำคัญคือมีทัศนคติอย่างเดิมที่ดูเหมือนขัดแย้งกับปัจจุบันผ่านผลงานศิลปะที่ไม่ร่วมสมัยแต่ในเวลาร่วมสมัย (ถ้าไม่ใช่การยึดติดแล้วคืออะไร)

อาการของการเปลี่ยนแปลงจากสมัยใหม่ไปสู่ลักษณะอาการของคำจำกัดความที่บอกท่วงทีอื่นๆ ในศิลปะอาจไม่ชัดนัก อย่างที่ Annabelle O. Boissier ตั้งคำถามต่อลักษณาการของศิลปะ ในบทความว่าด้วยศิลปะในประเทศไทยในสูจิบัตรนิทรรศการหนึ่งในต้นปีพ.ศ.2550 ว่า "งานเหล่านี้เป็นงานสมัยใหม่ งานร่วมสมัย ยังคงเป็นงานแบบไทยๆ หรือถูกโลกาภิวัตน์แล้วกันแน่?"

นอกจากนี้ ความสมัยใหม่ (ในคำถามของ โอ โบซิเยร์ข้างต้น) ที่เป็นแนวคิดซึ่งออกอาการ ที่ไม่ใช่ "ความมั้ยหมั่ย" นั้นได้ถูกกล่าวหาไว้หลายมุมในราวสิบปีมานี้

Shimizu Toshio ในปี พ.ศ.2538 ผู้ที่ทอดสายตามองบางฉากของประเทศในเอเชียซึ่งดำเนินไปอย่างเรียบง่าย สงบ ในขณะที่ฉุกใจคิดต่อข้อความในป้ายผ้าหน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ในญี่ปุ่นซึ่งรับอิทธิพลสมัยใหม่ทางวัตถุและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วว่า "สิ่งที่ฉันมองหาคือความสุข" ในข้อเขียนที่ชื่อ Vision of Happiness เขากล่าวว่า "ระบบสมัยใหม่ไม่ได้เป็นแค่วิธีการหนึ่ง แต่เป็นต้นแบบ"

ในขณะที่อีกบทความหนึ่งคือ Jean - Hubert Martin เขียนไว้ในส่วนของอาการทางศิลปะสมัยใหม่ใน Art in a multi - ethnic Society ว่า "ความเป็นสมัยใหม่ก่อปัญหามากมาย...ประเภทของงานจิตรกรรมและประติมากรรมมักจะเลือนหายไปในศิลปะร่วมสมัย รูปแบบการแบ่งแบบเก่าได้พิสูจน์แล้วว่าไม่อาจอยู่ได้กับวัฒนธรรมอื่นๆ"

และทัศนัย เศรษฐเสรี เขียนไว้ในบทความวิจารณ์ยุคสว่างและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ถึงโครงงานซึ่งเป็นความหวังของแนวคิดสมัยใหม่ที่ไม่ได้ผลและ "ไม่ก่อให้เกิดการคิดซ้ำหรือคิดใหม่" และ "ทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานศิลปะ"

ถ้า ‘สมัยใหม่’ เป็นดังข้างต้นแล้ว ‘ร่วมสมัย’ เล่าเป็นอย่างไร

ครั้งหนึ่งราวต้นปี พ.ศ.2548 ข้าพเจ้าได้ฟังการบรรยายของ ศ.เจตนา นาควัชระ ส่วนเล็กๆ ของการบรรยายนำไปสู่คู่กลุ่มคนร่วมสมัย เป็นคู่ระหว่างคีตกวีในอดีตในยุโรปนานมากับกลุ่มผู้ฟังที่ "ทันกัน" เนื้อความนำไปสู่คีตกวีนั้นต้องรักษาคุณภาพผลงานเพราะผู้ฟังเขามีรสนิยม เขาจับสำเหนียกได้ว่างานตก หรือคงระดับแห่งความปราดเปรื่องเปล่งประกายเอาไว้ได้

มีอาการของศิลปะร่วมสมัยที่พอจับได้จากแถบแถวของตัวหนังสือ เก่าบ้าง ใหม่บ้างที่แน่นอนต้องไม่ใช่ คำตอบเดียว เพราะในความร่วมสมัยมีความหลากหลายแบบที่ "อัตลักษณ์ลูกผสมและเปลี่ยนผ่านนับวันจะกลายเป็นกฎเกณฑ์แทนการเป็นข้อยกเว้น"

"ศิลปะร่วมสมัยเป็นผลผลิตของขนบ" เป็นคำกล่าวของ Caroline Turner ในนิทรรศการ First Asia Pacific. 1993 ที่ Queensland Art Gallery เป็นในขณะที่มีความพยายามจะหาฐานที่มั่นในเอเชียแปซิฟิกเพื่อพ้นจากสถานการณ์ศิลปะร่วมสมัยที่ถูกครอบงำจากศูนย์กลางตะวันตก และออสเตรเลียมีบทบาทเป็นแม่งาน

ที่อาจยืนยันกับเราได้ถึงความไม่ไร้รากของศิลปะร่วมสมัย

Jean Hubert Martin กล่าวไว้ใน Art in a multi-ethnic Society 1995 ว่า ในบริบทศิลปะร่วมสมัย คำจำกัดความของศิลปะในฐานะที่เป็นสิ่งที่ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอยไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป และในรายละเอียดที่มากไปกว่าประโยคข้างต้นคือ "ไม่มีวัสดุชนิดใดหรือเทคนิคใดที่ศิลปินทัศนศิลป์ในปัจจุบันไม่สามารถนำมาใช้ในงานของตน"

Dan Cameron ได้ให้อรรถาธิบายผ่านคำถามไว้หลายท่อนในบทความ 2546 "ศิลปะวันนี้ รวมถึงกวีนิพนธ์ ดนตรี และงานสร้างสรรค์อื่นๆ สะท้อนความบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่าที่ขยายไปไกลกว่าอาณาเขตของความงาม ความพึงพอใจ และรสชาติหรือไม่"

ในส่วนคำถามสุดท้ายที่เป็นคำถามชี้นำต่อคำตอบที่ดูเหมือนผู้เขียนมีอยู่แล้วในใจคือ

"ศิลปินร่วมสมัยกับการสร้างสรรค์ของพวกเขาเป็นสัญญาณบอกล่วงหน้าของการมาถึงของยุคซึ่งต้องเคลื่อนไปไกลเกินคำนิยามที่ถูกจำกัดของตัวตน ชาติ เพศ ชั้นและเชื้อชาติ ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์โดยรวมหรือไม่"

และถ้าเป็นอย่างนั้นความเฉพาะพิเศษของศิลปะร่วมสมัยคือการปรับตัวและการกลืนเข้าเนื้อกับความ เป็นไปทุกสิ่งทุกอย่างใช่หรือไม่ ศิลปินร่วมสมัยกำลังถูกกระทำจากเหตุการณ์แวดล้อมจนเป็นเหยื่อของสถานการณ์วัฒนธรรมโลกหรือไม่

อันนาแบล โอ โบซิเยร์ ได้ให้คำตอบที่ว่าศิลปินไม่ได้เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ลูกผสมเสมอไป แต่เป็นผู้กำหนดตนเองด้วย ดังข้อความนี้ "ศิลปินร่วมสมัยมักใฝ่หาเอกลักษณ์ที่หลากหลาย และหลีกเลี่ยงการจัดกลุ่มตน ให้สังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะอาจส่งผลต่อช่องทางการจัดแสดงผลงาน"

คำตอบของหัวข้อที่ตั้งไว้ว่าด้วยศิลปะร่วมสมัยในยุคของเราอาจอยู่ที่คำทำนายที่ว่า ในความเป็นไปหลากหลายสายทางอาจมีสำนวนทางศิลปะร่วมสมัยเพียงชุดเดียวที่เราใช้เป็นวาทกรรมต่อศิลปะร่วมสมัยในยุคของเราได้ มีเงื่อนไขเดียวคือต้องเป็นสำนวนที่เปิดกว้างที่สุด

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
 

“Nino” ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมจากฟิลิปปินส์ ภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse เรื่องที่ 3


วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2555 เวลา 17.20 – 21.00 น.
ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5
         หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Films Forum นำเสนอภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ในเทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse เรื่อง Nino ภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับ Loy Arcenas ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากมาย และได้รับการยกย่องจากหลายเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก นำแสดงโดยนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียง Shamaine Centara Buencamin ผู้ได้รับรางวัลนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยมที่ Hongkong Film Festival ภาพยนตร์มุ่งความสนใจไปยังเด็กน้อย ผู้ที่แต่งตัวเป็น Santo Nino พระคริสต์เด็กผู้เป็นชาวฟิลิปปินส์ โดยเชื่อว่าจะนำปาฏิหาริย์มาให้ เขาอาศัยอยู่ในของครัวชนชั้นสูงที่กำลังลดถอยลง และรอคอยให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น
 ืื         ภาพยนตร์มี Subtitle ภาษาอังกฤษ ช่วงท้ายรายการมีการเสวนากับผู้กำกับ เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์ให้ได้แลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้สร้างสรรค์งานและผู้เสพงานศิลปะในเชิงภาพยนตร์
 ืื          โครงการฉายภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse นำเสนอภาพยนตร์จากนานาประเทศ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความโดดเด่นน่าสนใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองที่แตกต่างจากวัฒนธรรมที่แวดล้อมอยู่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องต่อไปในโครงการภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse ได้แก่ The Clay Bird (บังคลาเทศ subtitle ไทยและอังกฤษ) ในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน และภาพยนตร์ไทยเรื่อง ฟ้าทะลายโจร ในวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2555
—–
“Nino” (Philippines 2011), the third film of Cinema Diverse Series
 Saturday 20 October 2012, 5.20 p.m. – 9 p.m.
Auditorium, 5th floor
           Bangkok Art and Culture Centre and FilmS Forum present the third film of Cinema Diverse series; Nino (Philippines 2011). This is the first film of a director Loy Arcenas and the film has won awards and praise at many festivals around the world. Well-known actress Shamaine Centera Buencamin, won the Asian Film Award for Best Supporting Actress, at the Hongkong Film Festival. The story centres around the young child Nino, who dresses up as Santo Nino, the child-christ who the Filippinos believe, will bring miracles.  He lives with a fading aristocratic family  who have many secrets to hide, and  who all wait desperately for a miracle to happen.
            After the film shown, there will be a Q&A session with the director about the film as well as to share experience between the content provider and consumer.
             Cinema Diverse is a programme showing films from various countries. Films selected have content regarding culture and society so with this selection, filmgoers can gain perspective and idea which is from a familiar environment. The next films are The Clay Bird (Bangladesh with English subtitle) on Saturday 17 November and Tears of the Black Tiger (Thai with English subtitle) on Saturday 15 December 2012.
—–

ก้าวย่างสำคัญของ “ตลาดศิลปะร่วมสมัย” ในอุษาคเนย์




พูดไปใครจะเชื่อว่า ในวีคเอนด์หนึ่งของเดือนกรกฎาคม 2555 ณ อาคารเล็กๆ หลังหนึ่งกลางเมืองยอกยาการ์ต้า (เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่บนเกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย) ที่นี่จะได้เปิดประตูต้อนรับนักเสพงานศิลป์กว่า 6000 ชีวิต ที่ทยอยกันมา “รับชม” และ “หาซื้อ” ผลงานศิลปะของ “ศิลปินเลือดอาเซียน” กันอย่างคึกคัก
TCDCCONNECT ได้แวะไปเยี่ยมเยียนตลาดงานศิลป์น้องใหม่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ART/JOG’12 นี้แบบไม่เป็นทางการ (หรือจะเรียกว่าไม่ได้ตั้งใจก็คงไม่ผิดนัก) แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราได้ค้นพบว่า Art Fair ขนาดย่อมๆ ณ มุมเล็กมุมหนึ่งบนเกาะชวานี้ มันได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผ่านฝีมือนักบริหารจัดการศิลปะระดับโปรฯ และมันมีเป้าที่จะไต่ระดับบินสู่เวที “การค้าศิลปะสากล” อย่างไม่ต้องสงสัย
ในปี 2555 นี้ ART/JOG ได้เติบโตเข้าสู่ขวบปีที่ 5 แล้ว พร้อมกับธีมงาน “Looking East — A Gaze upon Indonesian Contemporary Art” ที่ตอกย้ำถึงจุดยืน “ความเป็นท้องถิ่น” ได้อย่างชัดเจน เราลองไปดูกันว่า เพื่อนบ้าน AEC ของเรารายนี้ เขากำลังพยายามทำอะไรกับ “ตลาดศิลปะร่วมสมัย” หนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ
Artist-Centered Art Fair : เมื่อศิลปินคือผู้กำหนดตลาดงานศิลปะ
ดูเหมือนว่าทางกลุ่มผู้จัดงาน ART/JOG’12 นี้ จะรู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีว่า คิวงาน Art event ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียนั้น “อัดแน่น” แค่ไหนในแต่ละปี ดังนั้นการจะทำให้ Art Fair หน้าใหม่ ในเมืองที่ไม่ใช่ “ฮ่องกง” “ปักกิ่ง” “เซี่ยงไฮ้” หรือ “สิงคโปร์” โดดเด่นขึ้นมาในความรู้สึกของนักสะสม และนักค้างานศิลป์ระดับภูมิภาคนั้น มันจำเป็นจะต้องมี “รูปแบบ” และ “สไตล์” ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร
นี่เองน่าจะเป็นที่มาว่าทำไม ART/JOG ถึงโฟกัสการเลือกผลงานทั้งหมดไปที่ “ศิลปินเลือดใหม่” โดยทางผู้จัด Heri Pemad Art Management ได้เปิดประตูกว้างแบบ Open Call ให้ศิลปินหน้าใหม่ (หรือหน้าไหนก็ได้) ร่วมส่งผลงานเข้าคัดสรร และหากผลงานใดเข้าตากรรมการ (ทีมคิวเรเตอร์) ผลงานนั้นก็จะได้เนื้อที่จัดแสดงภายในหอศิลปวัฒนธรรม Taman Budaya Yogyarkata ไปทันที
นอกจากนั้น ART/JOG ยังได้ปรับฟอร์แมทของงานให้แตกต่างจาก Art Fair ทั่วไป นั่นก็คือ พวกเขาเลือกที่จะตัดตอนพ่อค้าคนกลางออกไปทั้งหมด และนำเสนอผลงานของศิลปินในรูปแบบของ “นิทรรศการรวม” (แทนที่จะแบ่งเนื้อที่แฟร์ออกเป็นบูทๆ เพื่อขายให้กับแกลเลอรี่น้อยใหญ่) ดังนั้น หากคุณเป็นนักช้อปงานศิลปะแล้วล่ะก็ ที่ ART/JOG’12 คุณก็จะมีโอกาสเลือกซื้อผลงานชั้นดีที่คัดสรรมาแล้วรวม 224 ชิ้น จากศิลปิน 153 คน โดยไม่ต้องผ่านแกลเลอรี่หรือเทรเดอร์หน้าไหนทั้งสิ้น และศิลปินที่เข้าร่วมงานนี้ก็คือ ผู้ที่ “ตั้งราคา” ผลงานของพวกเขาเองทั้งหมด (โดยมีทีมผู้จัดงานคอยให้คำแนะนำ)
จุดเด่นอันนี้ทำให้ ART/JOG’12 เป็น “Art Fair ของศิลปิน” ที่มีผลงานหลากหลายรูปแบบ และมีระดับราคาที่ “เป็นสากล” มากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคเดียวกัน (สนนราคามีตั้งแต่ 320 เหรียญขึ้นไปจนถึง 260,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชิ้นที่แพงที่สุดนี้คืองาน Installation สเตนเลสสตีลรูปเครื่องบินขนาดมโหฬาร “Mythic Airways” – โดย Pintor Sirait)
จากก้าวแรกที่เราเดินเข้าไปในตัวงาน สัมผัสแรกที่ทุกคนน่าจะรู้สึกตรงกันก็คือ Art Fair นี้มีบุคลิกที่เข้าถึงได้ง่ายมากๆ ยกตัวอย่างเช่น
1) ทุกคนสามารถถือกล้องถ่ายรูปเข้าไปได้
2) ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย หรือพนักงานรักษาความปลอยภัย มาคอยจ้องหรือเดินตามคุณ (อันจะทำให้คุณรู้สึกกริ่งเกรงที่จะสังเกตผลงานอย่างใกล้ชิด)
3) ART/JOG ไม่คิดค่าบัตรเข้างานแม้แต่สตางค์แดงเดียว (ข้อนี้ทำให้ผู้ชมชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกถึงกับงง)
4) หากคุณอยากทราบราคา อยากซื้อ หรืออยากสั่งจองผลงานชิ้นไหน คุณก็แค่เดินเข้าไปถามพนักงานของแฟร์ที่มักจะนั่งอยู่บริเวณด้านหน้า ซึ่งเขาและเธอเหล่านี้ก็จะมีใบราคาแบบ Full List พร้อมยื่นให้คุณทันที
คำถามต่อมาคือ การจัด Art Fair สเกลขนาดนี้ แถมไม่คิดค่าเข้า แล้วฝ่ายจัดงานได้อะไร …ทำไปมันจะไม่เข้าเนื้อหรือ?  คำตอบคือ “หวังว่าจะไม่” ทางผู้จัด Heri Pemad กล่าวว่า ดีลง่ายๆ และตรงไปตรงมาที่สุดระหว่างผู้จัดกับศิลปิน ก็คือ ภายในนิทรรศการนี้หากผลงานชิ้นไหนขายตัวเองออก ทางผู้จัดก็จะขอหักคอมมิชชั่นไว้ส่วนหนึ่ง (เพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายในการจัดงาน) ส่วนชิ้นไหนที่ขายไม่ได้ ก็จะถูกส่งคืนให้ทางศิลปินหลังงานจบ …ก็เท่านั้น
เวทีท้องถิ่นเพื่อศิลปินทั่วโลก Satriagama Rakantaseta ผู้อำนวยการของ ART/JOG’12 เผยว่า แม้ผลงานส่วนใหญ่ในแฟร์นี้จะเป็นผลงานจากศิลปินอินโดฯ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาจากศิลปินชาติอื่นๆ ทั้งจากในอาเซียน และจากชาติยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Ahmad Fuad Osman จากมาเลเซีย, Willis Turner Henry จากสิงคโปร์, Wim Delvoye จากเบลเยี่ยม, Ashley Bickerton ศิลปินอเมริกันในบาหลี นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งส่งเข้ามาโดยศิลปินอินโดฯ ที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ อาทิเช่น  Tintin Wulia จาก Australia and EddiE haRA จาก Switzerland เป็นต้น
ผลงานทั้งหมด 224 ชิ้นที่ได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงใน ART/JOG’12 ครั้งนี้ ถูกตัดสินบนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบงาน และความเกี่ยวโยงกับธีมงานเป็นหลัก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทีมคิวเรเตอร์ชุดนี้จะทำงานได้มีประสิทธิภาพใช้ได้ เพราะสถิติผลงานที่ถูกจองซื้อแค่ในสัปดาห์แรกก็กระโดดไปอยู่ที่ราว 40% แล้ว (ระยะเวลาจัดงานทั้งหมด 2 สัปดาห์)
“ฉันรู้สึกดีที่เห็นนักสะสมสนใจซื้องานจากศิลปินหน้าใหม่ๆ เพราะมันเป็นการตอกย้ำว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว ที่สำคัญมันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นด้วยว่า สิ่งที่เราพยายามทำอยู่นี้มันมีความหมายกับแวดวงศิลปะในภูมิภาคนี้จริงๆ” Rakanteseta ผู้อำนวยการ ART/JOG’12 กล่าวกับสื่อมวลชนเช่นนั้น
สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ART/JOG กำลังจะก้าวสู่การเป็น “อาร์ตอีเวนท์ดาวรุ่ง” ของอาเซียนก็คือ การที่ Lorenzo Rudolf ตอบตกลงร่วมงานกับ ART/JOG’12 ในฐานะที่ปรึกษาพัฒนาโครงการ เพราะเขาคนนี้คือ ผู้ปลุกปั้นงาน Art Basel ให้โด่งดังขึ้นมาในช่วงปี 1991 – 2000 และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งของ ShContemporary in Shanghai และ Art Stage Singapore อีกด้วย
ดูเหมือนว่าพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ที่หลงใหลในศิลปะร่วมสมัยจากอุษาคเนย์ คงจะไม่ใช่อะไรที่ “เล็ก” ตลอดไปเสียแล้ว ความคิดนี้ทำให้เราเองอยากกลับไปเยือนยอกยาการ์ต้าอีกครั้งในกรกฎาคมปีหน้า เพื่อติดตาม “ก้าวต่อไปของศิลปะอาเซียน” ในงาน ART/JOG’13

V64 Art Studio พื้นที่จัดสรรของเหล่าศิลปิน อีกความเคลื่อนไหวในสังคมสร้างสรรค์ไทย


เรื่อง : ชัชรพล เพ็ญโฉม
ศิลปะวัตถุและโบราณสถานเปรียบเสมือนแบบเรียนประวัติศาสตร์มีชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวความเจริญทางศิลปะวัฒนธรรมในอดีตของชนแต่ละชาติ แต่สำหรับอนาคต ศิลปะยุคสมัยใดจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของสังคม หากไม่ใช่… “ปัจจุบัน”
นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศูนย์วัฒนธรรมแล้ว “ชุมชนทางศิลปะ” อันหมายถึง พื้นที่ทั้งในแง่ของสถานที่และในเชิงความคิดที่ศิลปินมีโอกาสได้ทำงานและแสดงผลงานร่วมกัน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออกทางศิลปะแขนงต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมและช่วยให้ศิลปะอันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญในสังคมนั้นธำรงอยู่
ชุมชนทางศิลปะไม่เพียงเป็นสังเวียนของการปะทะกันทางความคิดและความสามารถของเหล่าศิลปิน แต่ยังเป็นเสมือนยุ้งฉางที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและปากท้องของศิลปินรวมไปถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย
ในต่างประเทศ บรรดาศิลปินทั้งมีชื่อและ(ยัง)ไม่มีชื่อมักจะเสาะหาที่พำนักราคาถูกเพื่อยึดเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและพากันย้ายไปอยู่รวมกันจนกระทั่งเกิดเป็นกระแสและกลายเป็นชุมชนทางศิลปะในที่สุด ตัวอย่างที่เป็นโมเดลระดับโลกคือโรงงานทอฝ้ายเก่า Spinnerei ในเมือง Leipziger ประเทศเยอรมันและ 798 Art District โรงผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งหลังจากที่โรงงานทั้งสองแห่งเลิกใช้งานมาระยะหนึ่ง (และถูกทิ้งร้าง) มันก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสตูดิโอและแกลเลอรี่ เริ่มจากหนึ่งเป็นสิบจากสิบเป็นร้อย จนกระทั่งเกิดเป็นชุมชนทางศิลปะไปในที่สุด
สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศที่จำนวนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์สู้จำนวนห้างสรรพสินค้าไม่ได้ แต่ความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกับในต่างประเทศก็ได้เริ่มสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นแล้ว เพราะบนพื้นที่ 3 ไร่ในซอยวิภาวดีรังสิต 64 คือ V64 Art Studio สตูดิโอขนาดเท่าโกดังเก็บสินค้าพร้อมด้วยแกลเลอรี่ 35 ห้องที่กำลังกลายร่างตั้งไข่เพื่อเป็น “ชุมชนทางศิลปะ” แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
กว่าจะมาเป็น V64 
V64 Art Studio คือ สตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและแกลเลอรี่แสดงงานที่รวมเอาผลงานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ ภาพวาด เซรามิกส์ ศิลปะจัดวาง ฯลฯ ไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังมีโรงเรียนสอนศิลปะและพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางศิลปะด้วย
“จะมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยกันไหม?” คือ คำถามของคุณอธิมา ทองลุม ประติมากรจากตลาดนัดสวนจตุจักร ที่ทำให้ศิลปินหนุ่มสาวหลากสาขากว่า 60 ชีวิตยกพลมาร่วมกันสานฝันให้ตัวเองพร้อมทั้งสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแวดวงศิลปะไทย
“เราเป็นกลุ่มศิลปินที่ผลิตผลงานขายในตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ละคนมีแนวทางการทำงานของตัวเองที่ชัดเจนมาก และมีความเชื่อร่วมกันว่า ศิลปินเป็นอาชีพที่มั่นคง พวกเราจึงรวมตัวกันหาพื้นที่เพื่อรองรับการทำงานของตัวเองโดยได้แรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศ อาทิเช่น M 50 ของเซี่ยงไฮ้ 798 Art District ของปักกิ่ง และ Spinnerei ของเยอรมัน คือ หลายๆ คนในกลุ่มเราได้มีโอกาสไปแสดงงานในต่างประเทศ จึงดูมาเป็นตัวอย่างแล้วเอาไอเดียมาคุยกัน” คุณกิตติ นารอด หนึ่งในศิลปินผู้ก่อตั้งเล่าถึงที่มาของ V64
ส่วนคุณอธิมา ผู้จัดการโครงการ เล่าถึงแรงบันดาลใจของเธอว่า “ศิลปินขายงานที่จตุจักรมักถูกมองว่า ไม่มีอุดมการณ์ แต่ดิฉันคิดว่า การที่คนทำงานศิลปะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจะช่วยพัฒนาคุณภาพงานให้ก้าวหน้าขึ้น”
“มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอยู่รวมกันจะทำให้ผลงานกลืนกันไป แต่เท่าที่ผ่านมาดิฉันพบว่าแต่ละคนสามารถผลักดันผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ”
“สิ่งที่เราทำเป็นการช่วยเพื่อนในวงการศิลปะให้ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทุกวันนี้มีนักศึกษาจบใหม่ไม่น้อยที่ต้องเบนเข็มไปทำงานอย่างอื่น เราว่ามันเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษาและสิ้นเปลืองงบประมาณรัฐนะ เมื่อมีที่นี่เกิดขึ้นศิลปินก็จะมีพื้นที่แสดงผลงาน แม้ไม่มีเงินก็มาคุยกันได้”
ศรัทธา + ใจ บริหารงานแบบศิลปิน
ด้วยความที่เป็นศิลปิน การบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่ถนัดนัก แต่คุณกิตติก็เชื่อว่าความศรัทธาในวิชาชีพบวกกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้น่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้
“กระบวนการทำงานเริ่มจากการคุยกันในกลุ่มว่าใครจะมาร่วมทำบ้าง เมื่อรวมกลุ่มกันได้แล้วเราก็เริ่มหาสถานที่ ซึ่งมีหลายที่ที่เหมาะสม อย่างเช่น โกดังเก่าริมน้ำ แต่ดันติดปัญหาเรื่องราคา ติดต่อเจ้าของไม่ได้ ฯลฯ จนกระทั่งเรามาได้ที่นี่ พวกเราเริ่มทำงานจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เช่นการเช่าสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาเช่าได้ ทำให้เราต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องศึกษาทั้งเรื่องของกฎหมายและเรื่องนอกกฎหมายต่างๆ”
“รายได้ของเรามาจากค่าเช่าพื้นที่ของศิลปิน โรงเรียนสอนศิลปะ คาเฟ่และบาร์ ส่วนรายจ่ายคือ ค่าเช่าพื้นที่เดือนละ 2 แสนกว่าบาทและค่าดำเนินงานอีกเดือนละแสนกว่าบาท เราไม่ได้เอาเรื่องธุรกิจเป็นตัวตั้ง ทำเพราะรักและเชื่อในอาชีพศิลปิน มันเป็นเรื่องโรแมนติกล้วนๆ”
“การทำงานเราต้องเรียนรู้ที่จะประนีประนอมโดยเฉพาะเวลาที่ประสานงานกับศิลปิน ต้องเรียนรู้เรื่องการหมุนเงินและการหารายได้เพิ่มเติม ส่วนเรื่องที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน อาทิเช่น การตลาด การประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเรื่องกฎหมาย ฯลฯ เราก็ให้มืออาชีพมาช่วยทำโดยอาศัยคอนเนคชั่นจากเพื่อนๆ”
คุณอธิมาเสริมว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยในขณะนี้พวกเธอได้วางแผนว่าจะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งออกให้เช่าเป็นร้านอาหาร
“ปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ในแง่ธุรกิจแล้วอาจยังไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่หากเราคำนึงถึงการได้สร้างความเป็นชุมชน เราก็ภูมิใจแล้วว่า อย่างน้อยทุกวันอาทิตย์เวลาบ่าย 2 เราก็มีโครงการ Art Workshop ให้เด็กๆ มาเรียนศิลปะได้ฟรี แค่คิดว่า เราดึงเวลาเล่นเกมส์ของเขามาได้สามชั่วโมง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”
แม้โครงการจะเพิ่งเปิดตัวได้เพียงไม่กี่เดือน แต่คุณอธิมาและคุณกิตติเล่าถึงเป้าหมายในอนาคตของ V64 ว่า ต้องการขยายผลเป็นชุมชนทางศิลปะเต็มรูปแบบและอยากจะเป็นอีกเวทีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพงานของศิลปินไทย
“ในอนาคตเราจะมีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการ มีอีเว้นท์ต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของศิลปิน ทั้งยังเป็นการช่วยสร้างคอนเนคชั่นระหว่างคนในอาชีพเดียวกันด้วย”
“ผมอยากให้ผลงานของศิลปินไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่คิดว่า ตอนนี้ศิลปินไทยยังขาดการฝึกฝนในบางด้าน เช่น ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ อีกอย่างการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย (ส่วนมาก) ยังยึดติดอยู่ในกรอบที่ว่าศิลปะคือการวาดรูปเหมือน ซึ่งมันไม่ใช่”
“เราอยากให้ V64 เป็นเหมือนหมู่บ้านให้กับศิลปินหลายๆ กลุ่ม ทั้งนักดนตรี ดีไซเนอร์ นักแสดง ฯลฯ ถ้าทุกคนมาอยู่ร่วมกันที่ V64 ได้ก็จะดีใจมาก”
คุณกิตติทิ้งท้ายกับเราว่า “ศิลปะเป็นเรื่องของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปิน เพราะการที่เราจะป่าวร้องหรือสื่อสารว่าเราเป็นใคร …มันก็ต้องดูที่ศิลปะนี่แหละ”

ปรัชญาศิลป์ : ศิลปะและสุนทรียศาสตร์แนวสตรี


สมเกียรติ์ ตั้งนโม
ความนำ
สุนทรียศาสตร์ของเฟมินิสท์หรือของนักสตรีนิยม (Feminist aesthetics) ไม่ใช่ป้ายฉลากของสุนทรีย์ศาสตร์ในแนวทางอย่างเช่น เป็นศัพท์ของ “ทฤษฎีคุณความดี” (virtue theory) และ “ญานวิทยาธรรมชาติ” (naturalized epistemology) ในแบบฉบับต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมของจริยศาสตร์และทฤษฎีทั้งหลายทางความรู้ อันที่จริง การอ้างอิงถึงสุนทรียศาสตร์เฟมินสท์ต้องการที่จะจำแนกให้เห็นภาพชุดหนึ่ง ที่ติดตามคำถามทั้งหลายเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญา และสมมุติฐานต่างๆ ของผู้หญิง ซึ่งพิจารณาถึงเรื่องของศิลปะและสุนทรียภาพอย่างเป็นหมวดหมู่
ถึง อย่างไรก็ตาม สำหรับนักสิทธิสตรีโดยทั่วไปแล้วสรุปว่า ดังที่ปรากฏในภาษาที่เป็นกลางๆ และโดยเฉพาะในทางทฤษฎีเกี่ยวกับปรัชญา โดยแท้จริงแล้วทุกขอบเขตความรู้สาขาวิชาต่างๆ มันค้ำยันเครื่องหมายของเพศสภาพเอาไว้ในกรอบโครงร่างทางแนวคิดพื้นฐาน และสำหรับในที่นี้ คนที่ทำงานอยู่ในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ ได้สืบค้นเข้าไปในวิธีการที่เพศสภาพได้มีอิทธิพลต่อการก่อตัวทางความคิด เกี่ยวกับศิลปะ, ในตัวของศิลปินทั้งหลาย, และในคุณค่าทางสุนทรียภาพ
ทัศนียภาพ ต่างๆ ของนักสิทธิสตรีในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ ได้รับการปรับให้เข้ากับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ซึ่งพยายามอยู่เหนือความเป็นอัตวิสัย นั่นคือ วิธีการที่ศิลปะได้สะท้อนและทำให้การก่อตัวทางสังคมเกี่ยวกับเพศสภาพ, เรื่องทางเพศ, และเอกลักษณ์ดำรงอยู่อย่างถาวร
สุนทรียศาสตร์โดยปรกติแล้ว ค่อนข้างเป็นเรื่องของสหวิทยาการมากกว่าขอบเขตความรู้อื่นๆ ทางด้านปรัชญา สำหรับสนามความรู้นี้มันเชื่อมโยงกับปฏิบัติการต่างๆ ทางศิลปะ และสาขาวิชาการเกี่ยวกับการวิจารณ์. ทัศนียภาพต่างๆ ของนักสิทธิสตรีในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ได้รับการช่วยเหลือไม่เพียงจาก บรรดานักปรัชญาเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลป์ รวมถึงบรรดานักดุริยางคศิลป์, และเหล่านักทฤษฎีทางวรรณกรรม, ภาพยนตร์, นาฏกรรม, ท่ามกลางนักอื่นๆ อีกจำนวนมากด้วย
มันมีความเกี่ยวพันและนัย ะเชิงปฏิบัติ สำหรับการค้นพบที่ปรากฏตัวขึ้นมาจากการค้นคว้าต่างๆ ของนักสิทธิสตรี กล่าวในที่นี้คือ การวิเคราะห์เกี่ยวกับกรอบโครงร่างทางแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งควบคุมสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปเอาไว้ ที่ได้ช่วยอธิบายถึงความแตกต่างอย่างมากของชายและหญิงที่เป็นนักปฏิบัติการ อันทรงอิทธิพลทางศิลปะ
ทฤษฎีทางปรัชญาทั้งหลายที่ถูกปรับมาใช้โดยบรรดา นักสิทธิสตรี ยังมีอิทธิพลอย่างสูงในการวิจารณ์และตีความเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมป๊อปปู ล่าร์ และบางครั้งในการพัฒนาเกี่ยวกับการปฏิบัติการของศิลปกรรมร่วมสมัย มากยิ่งไปกว่านั้นสุนทรียศาสตร์ของเฟมินิสท์ยังติดตามการค้นคว้า และการวิจารณ์ซึ่งได้มาถึงคุณค่าต่างๆ ณ จุดที่เป็นรากฐานที่แท้จริงของปรัชญา โดยได้ทำการสำรวจแนวคิดต่างๆ ที่บ่อยครั้ง ไม่ได้อ้างอิงโดยตรงถึงผู้ชายและผู้หญิงแต่อย่างใด แต่กระนั้นก็ตาม ลำดับชั้นสูงต่ำของมันยังถูกทำให้ชุ่มโชกไปด้วยนัยสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเพศ สภาพอย่างมาก
สำหรับขอบเขตของบทความชิ้นนี้ จะกล่าวถึงสาระสำคัญ 3 ข้อด้วยกันคือ
1. ศิลปะและศิลปิน : ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
2. การสร้างสรรค์ และความมีอัฉริยภาพ
3. หมวดหมู่ทางสุนทรียภาพ และการวิจารณ์ของนักสิทธิสตรี
1. ศิลปะและศิลปิน : ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
(Art and Artists: Historical Background)
มุม มองของนักสตรีนิยมในเรื่องสุนทรียศาสตร์เกิดขึ้นมาครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1970s จากการรวมตัวกันระหว่างนักกิจกรรมทางการเมืองในโลกศิลปกรรมร่วมสมัย กับ นักวิจารณ์เกี่ยวกับขนบจารีตทางประวัติศาสตร์ในด้านปรัชญาและศิลปะ. สิ่งเหล่านี้ได้พัฒนาไปเชื่อมต่อกับการถกเถียงกันต่างๆ หลังสมัยใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งเกิดขึ้นในมามากมายหลายในหลายขอบเขตของความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษย์ ศาสตร์
อันที่จริงการถกเถียงกันพวกนี้ บ่อยทีเดียวเริ่มต้นขึ้นจากการประเมินคุณค่าเกี่ยวกับมรดกทางปรัชญาตะวันตก มรดกซึ่งไม่มีที่ใครที่ไหนท้าทายมันมากไปกว่าในโลกศิลปะ ด้วยเหตุดังนั้น นัยะสำคัญของขบวนการศิลปกรรมร่วมสมัยจำนวนมาก รวมถึงผลงานของนักสิทธิสตรีและหลังสิทธิสตรี ที่ได้ถูกทำให้น่าเร้าใจและชัดเจนขึ้นโดยความเข้าใจคุณค่าต่างๆ ทางขนบจารีตและทฤษฎีต่างๆ ซึ่งพวกเธอได้กล่าวถึงและท้าทาย
เป้าหมายทาง ประวัติศาสตร์ที่ร่ำรวยสุดสำหรับการวิจารณ์ตามแนวสิทธิสตรีเกี่ยวกับปรัชญา ศิลปะ ได้ถูกกำหนดทิศทางลงไปที่แนวคิดของศิลปกรรมทางด้านวิจิตรศิลป์(fine arts) ซึ่งอ้างอิงถึงศิลปะว่าได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วเพื่อความเพลิดเพลินทางสุนทรีย์ สำหรับผลงานทางด้านวิจิตรศิลป์ในที่นี้ได้รวมเอางานทางจิตรกรรม, ประติมากรรม, วรรณกรรม, และดนตรีเข้ามาเป็นแกนหลัก ขณะเดียวกันก็เบียดขับงานฝีมือ, ศิลปะป๊อปปูล่าร์, และงานบันเทิงออกไป
ความ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดศิลปะ คือความคิดเกี่ยวกับอัฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของศิลปิน ซึ่งมักจะถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองทัศนะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอัน หนึ่งเกี่ยวกับการแสดงออกในผลงานศิลปะต่างๆ. มันเป็นขนบจารีตทางวิจิตรศิลป์ของจิตรกรรมที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ Linda Nochlin มีอยู่ในใจในปี 1971 เมื่อเธอได้ตั้งคำถามอันเป็นที่โจษขานของเธอว่า “ทำไมจึงไม่มีศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่เลย(ในโลกศิลปะ) ?” (Why have there been no great women artists?”) (Nochlin 1971/1988)
นับจากมีการเพิ่ม เติมคำคุณศัพท์ “fine” (ประณีต-วิจิตร) เข้ามา มันก็ได้บรรจุนัยะแฝงและความเกี่ยวพันอันลึกซึ้งเกี่ยวกับเพศสภาพของบรรดา ศิลปินเข้าไปแล้ว ภูมิหลังบางอย่างของประวัติศาสตร์ทางความคิดที่เก่าแก่ เกี่ยวกับศิลปะและศิลปิน โดยแรกสุด มันเป็นที่ต้องการเพื่อที่จะเข้าใจถึงความหลากหลายเกี่ยวกับคำตอบต่างๆ ที่สามารถถูกจัดหามาให้โดยคำถามอันนั้น
การสืบค้นนี้ได้วางเราให้เข้าใจ เรื่องสื่อต่างๆ, สาระสำคัญ, และสไตล์ต่างๆ ที่บรรดาศิลปินแนวสิทธิสตรีร่วมสมัย และบรรดานักทฤษฎีทั้งหลายกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า มากยิ่งไปกว่านั้น ได้มีการสืบค้นเข้าไปสู่รากเหง้าที่มีมาแต่โบราณเกี่ยวกับปรัชญาศิลปะ ซึ่งเผยให้เห็นโครงสร้างคุณค่าอันเหนียวแน่นที่มีนัยะสำคัญเกี่ยวกับเพศ สภาพอยู่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า มันเป็นสิ่งที่ยังคงยืนหยัดสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
สำหรับศัพท์คำ ว่า”art”(ศิลปะ) ไม่ใช่คำย่อสำหรับคำว่า”fine art”(วิจิตรศิลป์)เสมอไป. คล้ายๆ กับศัพท์แสงส่วนใหญ่ที่อ้างถึงหมุดหลักทางความคิดต่างๆ ของขนบจารีตทางสติปัญญาตะวันตก ต้นกำเนิดของมันอาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงเรื่องราวโบราณอันสูงส่ง. ศัพท์ในภาษากรีกที่ทุกวันนี้เรามักแปลเป็น”ศิลปะ”(art) มาจากคำว่า “techne” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ถูกแปลให้เท่ากับ”skill”(ทักษะ)นั่นเอง, และในความหมายกว้างที่สุดของมันได้ถูกใช้กับผลผลิตที่จำแนกความแตกต่าง ระหว่าง “งานอันเกิดจากความพยายามของมนุษย์”กับ”วัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติ”
รูปแบบของ techne ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดสมัยใหม่ของเรามากที่สุดเกี่ยวกับศิลปะ ก็คือศิลปะล้อเลียนหรือเลียนแบบ(mimetic or imitative) นั่นคือ การผลิตซ้ำ สิ่งที่เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งหรือการแสดงออกถึงไอเดีย/ความคิดอันหนึ่งในเชิงพร รณาหรือละคร. ประติมากรรมเลียนแบบรูปลักษณ์ของมนุษย์ เป็นตัวอย่าง, ดนตรีเลียนแบบเสียงต่างๆ ของธรรมชาติหรือเสียงพูด – หรือเป็นนามธรรมมากขึ้น – อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ทั้งหลาย, ละครและบทกวีมหากาพย์เลียนแบบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่
ธรรมชาติของ ศิลปะที่เป็นลักษณะการเลียนแบบนั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนับเวลาเป็นศตวรรษๆ โดยบรรดานักแสดงความเห็นส่วนใหญ่ รวมถึง Aristotle ซึ่งต่างให้การยกย่องสรรเสริญความสามารถของศิลปินเลียนแบบ ที่สามารถจับฉวยเอาความจริงบางอย่างเกี่ยวกับโลกและชีวิตมาแสดงได้อย่างงด งามและเต็มไปด้วยทักษของพวกเขา. นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน Pliny the Elder ได้บันทึกคำยกย่องเชิดชูบรรดาจิตรกรทั้งหลาย ซึ่งสามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ของพวกเขาได้ด้วยเส้นและสีอย่างถูกต้องสมจริง ซึ่งไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากปรากฏการณ์ของพวกมันตามธรรมชาติเลย
เป็นไป ได้ที่การสนทนากันทางปรัชญาในช่วงต้นๆ เกี่ยวกับศิลปะในขนบประเพณีของกรีกปรากฎขึ้นในหนังสือเรื่อง”อุตม รัฐ”(Republic)ของเพลโต ซึ่งไม่เหมือนกับบุคคลร่วมยุคร่วมสมัยของเขา เพลโตพิจารณาเรื่องของการเลียนแบบหรือการสำเนาความจริงว่าเป็นสิ่งที่ อันตราย ในหนังสือเรื่อง”อุตมรัฐ” และได้สืบสาวขยายกว้างออกไปถึงเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของความยุติธรรม(the nature of justice). สำหรับอุตมรัฐโสกราตีสและเพื่อนๆ ของเขาจินตนาการถึงสังคมในอุดมคติแห่งหนึ่งที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และควบคุมรูปแบบต่างๆ ทางด้านศิลปะ อย่างเช่น การละคร, ดนตรี, จิตรกรรม, และประติมากรรม
ตามความคิดอภิปรัชญา/เมตาฟิสิกส์ของเพลโต โลกนามธรรม(โลกอุดมคติ)ของแบบ(Form)ได้ครอบครองความเป็นจริง(reality)ใน ระดับที่สูงสุด อันนี้สูงกว่ากรณีตัวอย่างต่างๆ ในโลกทางกายภาพ และด้วยเหตุดังนั้น ความหยั่งรู้หรือความเข้าใจโดยตรงเกี่ยวกับ”แบบต่างๆ”จึงมีมากกว่า และใกล้ความจริงกว่า ซึ่งจิตใจมนุษย์สามารถเข้าถึงได้
การเลียนแบบทั้ง หลาย(imitations) อย่างเช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม การละครเพียงล้อเลียนหรือจำลองปรากฏการณ์ของวัตถุทางกายภาพต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นการถอยห่างจากความเป็นจริงลงมาถึง 3 ระดับ (ดังที่เพลโตเสนอในหนังสือเรื่อง”อุตมรัฐ” ในบทที่ 10 [Republic X])
โลก นามธรรม/โลกในอุดมคติ …. โลกของแบบ ……………. ม้า (ความเป็นม้าในโลกของแบบ)
โลกกายภาพ/โลกมนุษย์ …………. โลกของสิ่งเฉพาะ …….. ม้า (ที่เราเห็นในโลกมนุษย์)
โลกการเลียน แบบ/โลกศิลปะ …… ผลงานจิตรกรรม ……… ภาพม้า (ที่เราเห็นในภาพวาด)
มายาการ ซึ่งเป็นตัวแทนการจำลองหรือการเลียนแบบจากความจริง มันทำหน้าที่ในการสร้างความพึงพอใจ, ความเย้ายวนใจ, และเป็นการล่อลวง มากยิ่งไปกว่านั้น ศิลปะอย่างเช่นกวีนิพนธ์แนวโศกนาฏรรมได้ตรึงความสนใจของเรา ให้ผูกพันกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างเหนียวแน่นและทรงพลัง อย่างเช่น ความกลัว ซึ่งทำให้คุณความดีของบุคคลที่แกล้วกล้าอ่อนแอลง แต่ในทางตรงข้ามก็ก่อให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินในเวลาเดียวกันด้วย
ตาม การวิเคราะห์ของเพลโตเกี่ยวกับจิตวิญญานของมนุษย์ องค์ประกอบต่างๆ อันไร้เหตุผลของวิญญานเป็นอำนาจที่ทรงพลัง ซึ่งอาจเบี่ยงเบนสติปัญญาไปจากความเข้าใจที่เยือกเย็นของปัญญาญาน ดังนั้น ความพึงพอใจต่างๆ ที่ศิลปะล้อเลียนมา จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงมากพอ ดังนั้นศิลปะจะต้องถูกควบคุมอย่างระมัดระวังในสังคมที่มีการปกครองที่ดี
การ กล่าวหาว่าการจำลองหรือการเลียนแบบ เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่มีความสำคัญของเพลโต ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของเพศสภาพแต่อย่างใดโดยตรง แม้ว่าระบบคิดอันทรงอิทธิพลของเขาจะมีความเกี่ยวพันและนัยะบางอย่างที่สำคัญ โดยอ้อม ซึ่งเป็นรอยแยกกับเรื่องที่มีนัยสำคัญทางเพศสภาพก็ตาม
ในบุริม สิทธิ์ของเขาสำหรับการแสวงหาทางปรัชญา เพื่อบรรลุถึงความรู้เกี่ยวกับ”แบบ” ที่อยู่เหนือขึ้นไป ด้วยความหมกมุ่นในความพึงพอใจต่างๆ ของการเลียนแบบ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพบเห็นลำดับชั้นสูงต่ำของคุณค่าต่างๆ ที่เรียงลำดับโลกอันเป็นนิรันดร (หรือนามธรรม, โลกแห่งสติปัญญาของแบบต่างๆ ในอุดมคติ) ซึ่งโลกอันเป็นนิรันดรนี้เหนือกว่าโลกของสิ่งที่เป็นอยู่เพียงแค่ชั่ว คราว(transient), โลกของสิ่งเฉพาะ(particular), และโลกเกี่ยวกับความรู้สึกของวัตถุต่างๆ ทางกายภาพ ซึ่งก็คือโลกของเรานั่นเอง
ลำดับชั้นสูงต่ำนี้สนับสนุนแนวคิดทวินิยม ระหว่าง”จิต”กับ”กาย” ที่ได้รับการทำให้สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความอสมมาตรเกี่ยวกับเพศสภาพ และนั่นคือเป้าหมายเบื้องต้นอันหนึ่งของการวิจารณ์ในการวิเคราะห์ของนักสตรี นิยมทั้งหลายมาโดยตลอด
บรรดานักปรัชญาสตรีนิยมตระหนักถึงแนวคิดบางอย่าง ที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดแบบรวมกันเป็นคู่ต่างๆ (binary combinations) นั่นคือ จิต – กาย, ความเป็นสากล – สิ่งเฉพาะ, เหตุผล – อารมณ์, สติสัมปชัญญะ – ความอยากความปรารถนา, และอะไรอื่นๆในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งรวมถึง ชาย – หญิง ด้วย สิ่งเหล่านี้มิใช่เพียงคู่ที่มีความสัมพันธ์กันเท่านั้น พวกมันได้ถูกจัดลำดับเป็นคู่ๆ ซึ่งอันแรกได้รับการยึดถือให้มีความเหนือกว่าอันที่สองโดยธรรมชาติ(Gatens 1991, p.92)
“ความเป็นสากล”ได้ถูกพิจารณาว่าเหนือกว่า”การเป็นสิ่งเฉพาะ” เพราะมันนำเสนอความรู้ที่เป็นการทั่วไปมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น “เหตุผล”มีความเหนือกว่า”อารมณ์ความรู้สึก” เพราะมันมีสมรรถนะอันน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจกว่านั่นเอง
ความชื่นชม ในเรื่อง”ความเป็นสากล”ก็ดี หรือเรื่องของ”เหตุผล”ก็ดี ทั้งคู่ข้างต้นเป็นตัวแทนแสดงออกถึงความลำเอียงระหว่างภววิสัย(objective) ที่เหนือกว่าอัตวิสัย(subjective), ซึ่งเป็นแนวความคิดต่างๆ ที่มีนัยสำคัญอันซับซ้อนโดยเฉพาะในทางสุนทรียศาสตร์ สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือ ประเภทของความรู้สึกพึงพอใจต่างๆ ที่การจำลองหรือเลียนแบบมา ได้ไปกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนา มันดึงดูดไปสู่เรื่องทางกายมากกว่าเรื่องทางสติปัญญา
ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าในการประเมินคุณค่าที่ประหลาดๆ เกี่ยวกับศิลปะจำลองหรือเลียนแบบในฐานะที่เป็นการประเมินค่าเกี่ยวกับสติ ปัญญาและความเป็นนามธรรม เหนือกว่าอารมณ์ความรู้สึกและลักษณะของสิ่งเฉพาะ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรอย่างชัดแจ้ง ซึ่งเพศสภาพมีสมมุติฐานต่างๆ เกี่ยวกับการสนทนากันนี้ เพราะ”ชาย”และ”หญิง” (“male” and “female”)(บางครั้งผสมกับ ลักษณะของเพศชาย และ ลักษณะของเพศหญิง – “masculine” and “feminine,”) คือรากเหง้าวงศ์วานต่างๆ ของความเป็นคู่เกี่ยวกับสิ่งที่ตรงข้ามกันทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ในปรัชญาตะวันตกนับตั้งแต่ไพธากอรัสเป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็ไม่มีการอ้างอิงโดยตรงถึงผู้สร้างสรรค์ที่เป็นผู้หญิงใน เรื่อง”อุตมรัฐ”
โดยเหตุนี้ ปรัชญาดังกล่าวเกี่ยวกับศิลปะ จึงมีส่วนร่วมเกี่ยวกับแนวคิดเพศสภาพ ณ แก่นแกนที่แท้จริงของมันมาแต่ต้น. ความเกี่ยวกับและมีนัยะของแนวความคิดดังกล่าวสำหรับบรรดาศิลปินทั้งหลาย มันได้ค่อยๆ วิวัฒน์ไปสู่รูปแบบที่แจ่มชัดขึ้นด้วยการก่อเกิดของการจัดจำแนกหมวดหมู่สมัย ใหม่ของงานทางด้านวิจิตรศิลป์ และบรรดาผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทั้งหลาย
บรรดา นักวิชาการหลายคนมีความเห็นแย้งกันเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการจำแนกหมวดหมู่ พิเศษเกี่ยวกับศิลปะ ที่ระบุว่าเป็น”วิจิตรศิลป์”(fine arts) หรือ การสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานทัศนศิลป์ (beaux arts) บางคนอ้างว่า แนวความคิดดังกล่าวเริ่มปรากฏตัวขึ้นในสมัยเรอเนสซองค์ (ราวคริสตศตวรรษที่ 14 -16) ขณะที่หลายคนถกว่า มันไม่มีการแยกหมวดหมู่ดังกล่าวจนกระทั่งมาถึงคริสศตวรรษที่ 18 ที่งานทางด้านวิจิตรศิลป์ก่อเกิดขึ้นมาอย่างแท้จริง ในฐานะการถูกแยกหมวดหมู่ที่แตกต่างออกมาหมวดหนึ่ง(Kristeller 1952-3; Shiner 2000) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ความคิดที่ว่าศิลปะ โดยสาระแล้ว เป็นการจำลองหรือการเลียนแบบนั้น ไม่ได้เป็นความคิดที่มีความเข้มแข็งอีกต่อไป และมันค่อยๆ ให้ที่ทางแก่แนวคิดโรแมนติกทางด้านศิลปะในฐานะเป็นการแสดงออกส่วนตัวของ ศิลปิน
คริสตศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงยุคสมัยซึ่งมองความเจริญเติบโตในทางวรรณคดี การเปรียบเทียบศิลปะต่างๆ กับอีกประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมปันในหลักการต่างๆ และทฤษฎีทั้งหลายเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่ง ซึ่งได้มาจากวัตถุทั้งหลายทางธรรมชาติและศิลปะ อันกลายมาเป็นสิ่งที่รู้จักกันในฐานะ”ความเพลิดเพลินทางสุนทรีย์”
การ โฟกัสงานวิจิตรศิลป์ โดยเฉพาะในฐานะคุณค่าต่างๆ ทางสุนทรีย์อย่างบริสุทธิ์ของผลงานศิลปะ และการวางตำแหน่งมันลงยังใจกลางมากๆ อันนี้ ถือว่าเป็นแนวคิดทางศิลปะที่ถูกทำให้ค่อนข้างคับแคบ กล่าวคือมันทำให้งานวิจิตรศิลป์ถูกทำความเข้าใจซาบซึ้งในความงามของมัน หรือคุณความดีทางสุนทรีย์อื่นๆ แตกต่างไปจากงานศิลปะโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น
ศิลปะที่ผลิตขึ้นมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยเพื่อประโยชน์บางอย่างโดยเฉพาะ เช่น เฟอร์นิเจอร์, เบาะรองนั่ง, เครื่องใช้ในครัวต่างๆ ศิลปะเหล่านี้ได้รับการระบุในฐานะที่เป็น”งานฝีมือ”(craft), และขณะที่ประโยชน์ใช้สอยของพวกมันและความต้องการทางด้านทักษะได้รับการยอม รับ แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้วัตถุที่จัดอยู่ในประเภท”งานฝีมือ” ได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นความสำเร็จและความคิดริเริ่ม”น้อยกว่าการ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบวิจิตรศิลป์”อย่างไม่ต้องสงสัย
การสร้างสรรค์ ของศิลปิน เป็นสิ่งที่ได้รับการพินิจพิจารณาในฐานะที่เป็นงานประเภทหนึ่งของการแสดงออก ส่วนตัวค่อนข้างมาก ซึ่งอันนี้ทำให้ภาพเกี่ยวกับปัจเจกศิลปินมีคุณค่าในตัวเองปรากฏออกมาภายนอก. ในทางตรงข้าม งานฝีมือ มีเป้าประสงค์อยู่ที่เรื่องของประโยชน์ใช้สอยในทางปฏิบัติซึ่งถือว่ามีคุณ ค่าน้อยกว่า
นัยะสำคัญเกี่ยวกับข้อแตกต่างระหว่าง”วิจิตรศิลป์”กับ”งาน ฝีมือ” สำหรับการประเมินคุณค่าของผลผลิตการสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่มีแก่นสาร. ขณะที่มันมีวัตถุสสารมากมายที่ถูกเบียดขับออกไปจากหมวดหมู่ของงานประณีตชั้น เลิศ หรือวิจิตรศิลป์ ซึ่งบรรดาผู้สร้างพวกมันคือผู้ชาย. ส่วนวัตถุเหล่านั้นที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน การสร้างสรรค์มันเป็นของผู้หญิงมากกว่า ซึ่งได้ถูกเบียดขับให้ไปอยู่ชายขอบทั้งหมด โดยการจัดหมวดหมู่ดังกล่าวและคุณค่าที่ตามมาของมัน (Parker and Pollock 1981). ด้วยเหตุดังนั้น ศิลปะภายในบ้านตามจารีตประเพณี จึงถูกเคลื่อนย้ายไปจากประวัติศาสตร์ศิลป์
การเปลี่ยนแปลงทางประวัติ ศาสตร์นี้ได้เสนอถึงเหตุผลอันหนึ่งที่ว่า ตัวอย่างเช่น งานจิตรกรรม มีจิตรกรผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่น้อยมาก กล่าวคือ ความพยายามทั้งหลายในการสร้างสรรค์ของผู้หญิงในทางประวัติศาสตร์ เป็นไปได้ว่า ได้ถูกกำกับให้ทำการผลิตเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านต่างๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการสับเปลี่ยนไปสู่หมวดหมู่ของ”งานฝีมือ” ด้วยเหตุดังนั้น การมีอยู่ของผู้หญิงในงานประเภทวิจิตรศิลป์ทั้งหลายจึงหดเล็กลงตามไปด้วย
ยิ่ง ไปกว่านั้น การเกิดขึ้นมาของความสนใจในวิจิตรศิลป์ ได้ทำให้ศิลปะแบบประณีตศิลป์เหล่านั้นปรากฏตัวขึ้นมาสู่สาธารณะเป็นการเฉพาะ สถาบันสมัยใหม่อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ ได้นำเสนอผลงานจิตรกรมและประติมากรรมต่างๆ ออกแสดง ห้องแสดงคอนเสริททำให้การแสดงดนตรีต่อสาธารณชนจำนวนมากมีความเป็นไป ได้(Shiner 2000) นี่คือยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์เมื่อความคิดต่างๆ เกี่ยวกับความถูกต้องเหมาะสมทางสังคม เป็นสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างไป สำหรับเรื่องของชาย-หญิง ในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง, ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่สำคัญของงานทางด้านวิจิตรศิลป์
ขณะที่มันได้รับการ พิจารณาให้เป็นเรื่องกำไรภายในบ้านอย่างหนึ่ง สำหรับเด็กผู้หญิงที่จะสามารถเล่นดนตรีอยู่ที่บ้านเพื่อครอบครัวและแขกผู้มา เยือน และนำงานศิลปะของพวกเธอตกแต่งผนังภายในบ้านด้วยความสามารถที่วิจิตรบรรจง แต่สำหรับการนำเอาผลงานเหล่านั้นออกแสดงสู่สาธารณะ ด้วยพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษอย่างเดียวกันนั้น ได้รับการพิจารณาอย่างกว้างๆ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ใช่คุณลักษณะของเพศหญิง
ด้วยเหตุ นี้ สิ่งที่ผู้หญิงซึ่งมีพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษกระทำในพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ดนตรี มีแนวโน้มที่ยังคงเป็นเรื่องของมือสมัครเล่น ค่อนข้างมากกว่าที่จะพยายามกระทำในโลกของมืออาชีพที่เป็นสาธารณะมากกว่า ซึ่งคอยตรวจตราพัฒนาการสำคัญของรูปแบบต่างๆ ทางศิลปะ (อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้นบางประการด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น นักดนตรีอย่าง Clara Schumann และ Fanny Mendelssohn Hensel เป็นต้น, แต่พวกเธอเหล่านั้นถือเป็นคนส่วนน้อยอยู่ดีในเชิงเปรียบเทียบ)
ด้วยเหตุ นี้ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ศิลปินหญิงทั้งหลายในวงการศิลปกรรมต่างๆ ยังคงนั่งอยู่ยังเบาะหลังของเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นชายของพวกเธอ ซึ่งพวกเธอต้องถอยออกมา หรือถูกปฏิเสธการศึกษาและการฝึกฝนที่ตระเตรียมขึ้นมาให้กับพวกเธออย่างเป็น มาตรฐานจริงๆ สำหรับผู้ฟังที่เป็นสาธารณชน
(Nochlin ได้บันทึกไว้ว่า จิตรกรหญิงจำนวนมากเท่าไร ที่ได้ถูกฝึกมาโดยพ่อที่เป็นศิลปิน ผู้ซึ่งสามารถตระเตรียมและฝึกฝนให้พวกเธอได้เป็นศิลปินขึ้นมา มิฉะนั้นแล้วพวกเธอก็ยากที่จะได้รับการฝึกปรือให้เป็นเช่นนั้นได้ ในทำนองเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่ากรณีของนักดนตรีหญิงก็เช่นกัน [Citron 1993; McClary 1991])
คำอธิบายทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ได้ให้ความกระจ่าง และความเข้าใจความตรงข้ามกันอีกคู่หนึ่งที่ถูกทำเครื่องหมายโดยเพศสภาพ นั่นคือ “พื้นที่สาธารณะ” และ”พื้นที่ส่วนตัว” (public – private). ลักษณะที่เป็นคู่นี้ได้รับการสืบสาวอย่างเป็นการเฉพาะ โดยบรรดานักทฤษฎีสตรีนิยมทางการเมือง และยังมีนัยสำคัญที่น่าพิจารณาสำหรับปรัชญาศิลป์ด้วย (Pollock 1988)
จาก ข้อมูลข้างต้นทำให้เราตระหนักว่า แนวคิดเกี่ยวกับศิลปะซึ่งพิจารณาจากแง่มุมผลงานทางด้านวิจิตรศิลป์ ถือว่าเป็นแนวคิดเกี่ยวกับเพศสภาพอย่างไร ซึ่งจากกระบวนทัศน์เหล่านี้ทำให้เห็นว่า ผลงานส่วนใหญ่นั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เป็นผู้ชาย อันนี้ได้ทำให้เราใคร่ครวญถึงบรรทัดฐานที่มีการกีดกันผู้หญิงออกไปจากงาน วิจิตรศิลป์ ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในปฏิบัติการทางด้านศิลปะสตรีนิยมร่วมสมัย
บรรดา ศิลปินสตรีนิยม(feminist artists) ผู้ซึ่งค่อนข้างกระตือรื้อร้นในขบวนการเคลื่อนไหวคลื่นลูกที่สองของผู้หญิง ในช่วงทศวรรษที่ 1970s อย่างเช่น Faith Ringgold และ Miriam Schapiro, ได้ร่วมกันนำเอาวัสดุทางด้านงานฝีมือต่างๆ อย่างเช่น เส้นใยและเศษผ้าเข้ามาร่วมแสดงในผลงานของพวกเธอ(Lauter 1993). ผลงานของพวกเธอได้ปลุกให้วัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ภายในบ้าน และมีความสัมพันธ์กับความเป็นผู้หญิงปรากฏตัวขึ้นมาสู่ความสนใจ สิ่งเหล่านี้เรียกร้องให้มีการเอาใจใส่เกี่ยวกับแรงงานของผู้หญิง ซึ่งได้ถูกมองข้ามไปเป็นเวลานานเข้ามาสู่ขนบจารีตทางศิลปะ ซึ่งค่อนข้างให้ภาพที่แตกต่างออกไปและมีคุณค่าแก่ความสนใจไม่น้อยไปกว่างาน วิจิตรศิลป์ทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรมเลยทีเดียว
อันที่จริง วัตถุที่เป็นงานฝีมือในตัวของพวกมันเองนั้น อย่างเช่น ผ้านวมคลุมเตียงที่มีการเย็บปักถักร้อยอย่างงดงาม(quilts) มาถึงปัจจุบัน ในบางโอกาสได้จัดเป็นหัวข้อหนึ่งของการแสดงนิทรรศการศิลปะในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทางด้านวิจิตรศิลป์, การยอมรับอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความแตกต่างที่เป็นปัญหาระหว่าง”งานวิจิตรศิลป์”กับ”งานฝีมือ” ได้ค่อยๆละลายหายไปโดยการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรม
ผล งานประเภทต่างๆเหล่านี้เสนอว่า จากจุดยืนความคิดเห็นหนึ่ง ผู้หญิงมิได้หายไปหรือไม่ใช่ไม่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะ ดังที่ประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ทำการกลั่นกรองและสกัดรูปแบบต่างๆ ทางศิลปะจำนวนมากออกไป ซึ่งผู้หญิงมีส่วนในพลังงานเหล่านั้นของพวกเธอตามขนบจารีตโดยตรง
มากยิ่ง ไปกว่านั้น หลักการต่างๆ ของการคัดสรร ซึ่งได้ใส่เรื่องของเพศสภาพเข้าไปสู่ความคิดทางด้านวิจิตรศิลป์ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเกี่ยวกับศิลปินก็มีความลำเอียงเกี่ยวกับเรื่องของเพศสภาพของมัน เช่นเดียวกัน มากต่อมากของช่วงยุคสมัยใหม่ ตัวอย่างต่างๆ ที่ดีที่สุดเกี่ยวกับงานทางด้านวิจิตรศิลป์ได้ถูกทำความเข้าใจในฐานะที่เป็น ผลิตผลของการสร้างสรรค์ของบรรดาศิลปิน ด้วยพรสวรรค์พิเศษที่มีค่าเท่ากับ”อัฉริยภาพ” และอัฉริยภาพเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะอันหนึ่งซึ่งครอบครองความหมายทางเพศ สภาพอย่างสำคัญเป็นการเฉพาะ
2. ความคิดสร้างสรรค์ และอัฉริยภาพ
(Creativity and Genius)
ขณะที่อัฉริยภาพเป็นพรสวรรค์ที่หาได้ยาก ตามความคิดของบรรดานักทฤษฎีส่วนใหญ่ บ่อน้ำของมนุษย์ซึ่งอัฉริยภาพได้ผุดขึ้นมามีเพียงผู้ชายเท่านั้น. ทั้ง Rousseau, Kant, และ Schopenhauer ทั้งหมดต่างประกาศว่า ผู้หญิงครอบครองคุณลักษณะต่างๆ และความสามารถทางสติปัญญาที่อ่อนแอเกินไปที่จะผลิตความมีอัฉริยภาพขึ้นมาได้ คำตัดสินอันนี้เป็นตัวแทนกรณีตัวอย่างที่ชี้เฉพาะอันหนึ่ง ของทฤษฎีทั่วๆ ไปที่ถือว่า ผู้ชายมีคุณภาพทางความคิดจิตใจที่แข็งแกร่งและสำคัญกว่า ในการเปรียบเทียบกับผู้หญิงทั้งหลายที่เป็นคู่กันของมนุษย์แต่จืดจางกว่า
อย่างน้อยที่สุด นับแต่อริสโตเติลเป็นต้นมา ความมีเหตุผลและสติปัญญาอันแหลมคมได้ถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นเรื่อง ของ”ลักษณะเฉพาะของความเป็นชาย” ที่ผู้หญิงเข้าครอบครองในระดับที่น้อยกว่า. ผู้หญิงโดยมาตรฐานได้รับการมองว่ามีสติปัญญาน้อย แต่ค่อนข้างอ่อนไหวและมีอารมณ์ความรู้สึกมาก
ตามความเห็นในบางทฤษฎี เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ การมีอารมณ์ความรู้สึกอันนี้และความรู้สึกอ่อนไหวเป็นคุณความดีในการให้แรง ดลบันดาล และดังนั้นในสนามความรู้ของสุนทรียศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นการตอบสนองการใช้ประโยชน์ในเชิงบวกอยู่มาก ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้อาจถูกนำเสนอในพื้นที่อื่นๆ ของปรัชญา
แต่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเกิดอัฉริยภาพขึ้น บรรดาศิลปินชายจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดของมัน นั่นคือ ความมีอัฉริยภาพทางศิลปะอันยิ่งใหญ่เป็นอะไรที่มากกว่าความฉลาดหลักแหลมทาง สติปัญญา เขามีทั้งลักษณะอ่อนไหวทางอารมณ์ และสามารถปรับมันมาใช้ได้อย่างประณีต ด้วยเหตุดังนั้น จึงครอบครองคุณลักษณะต่างๆ ซึ่งโดยจารีตแล้ว ได้รับการปิดป้ายเป็นทั้ง”ลักษณะของความเป็นชาย”และ”ลักษณะของความเป็น หญิง”(masculine and feminine)ในเวลาเดียวกัน
Christine Battersby มีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนยาวนานเกี่ยวกับแนวความคิด เรื่องอัฉริยภาพ ซึ่งมีรากต่างๆ อยู่ในเรื่องราวโบราณ(Battersby 1989). โดยช่วงเวลาดังกล่าว มันได้พัฒนามาถึงรูปแบบโรแมนติกที่ทรงพลังของคริสตศตวรรษที่ 18-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการกีดกันบรรดาศิลปินหญิงออกไปจากพื้นที่ศิลปะ
อัฉ ริยภาพทางศิลปะ ได้รับการยกย่องสรรเสริญไม่เพียงในเรื่องของความคิดสติปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งมักจะถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ชายอย่างมีน้ำหนักมากกว่าของผู้หญิงเท่า นั้น แต่มันยังเป็นเรื่องของความอ่อนไหวและความคิดสร้างสรรค์ มันมีส่วนเท่าๆ กันกับคุณสมบัติทั้งหลายที่ทึกทักกันขึ้นของลักษณะความเป็นหญิงด้วย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสตศตวรรษที่ 19 แหล่งต้นตอ”อันไร้เหตุผล”(nonrational)เกี่ยวกับแรงดลใจ ได้รับการสรรเสริญเยินยอสำหรับการอยู่เหนือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของเหตุผล และนำเอาบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิตและการดำรงอยู่
การอุปมา อุปมัยความเป็นหญิงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการตั้งครรภ์, การออกแรงเบ่ง, และการให้กำเนิด, ได้ถูกหยิบยืมมาอย่างเสรีในการอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ในเวลาเดียวกันบรรดาศิลปินหญิงจริงๆ ได้รับการละเลยหรือไม่ได้รับความสนใจในฐานะการเป็นตัวแทนต่างๆ ของผลผลิตทางสุนทรีย์ที่สูงสุดอันนั้น
ขณะที่คริสตศตวรรษที่ 19 คืบคลานเข้ามา … การอุปมาอุปมัยต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นมารดาของชายกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ – ดังงานเหล่านั้นของการผดุงครรภ์โดยผู้ชาย. ศิลปินมีความนึกคิด, ตั้งครรภ์, ออกแรงเบ่ง(ด้วยความเหนื่อยยากและเจ็บปวด), ให้กำเนิด, และ(ในภาวะปิติยินดีอย่างเหลือล้นอย่างไม่อาจควบคุม ของความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน) การให้กำเนิดทารก. สิ่งเหล่านี้เป็นจินตนาการของการกำเนิดทารกตามธรรมชาติ ที่ผู้ชายเป็นผู้สร้างสรรค์อันประณีต (Battersby 1989: 73)
คำอธิบาย เรื่องอัฉริยภาพด้วยภาพต่างๆ ของสตรีนิยม มิได้ช่วยเชื่อมสะพานระหว่างศิลปินชายและศิลปินหญิง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากหนทางที่แตกต่างกัน ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ถูกฟูมฟักขึ้น อันที่จริงการคลอดบุตร ได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นผลลัพธ์อันหนึ่งของบทบาทเชิงชีววิทยาที่เป็น ธรรมชาติของผู้หญิง; อารมณ์ความรู้สึกที่มีลักษณะเฉพาะของพวกเธอ และความรู้สึกอ่อนไหวต่างๆ ได้รับการพิจารณาในทำนองเดียวกันในฐานะที่เป็นการแสดงออกของสิ่งที่เป็น ธรรมชาติซึ่งมอบให้กับพวกเธอ
ด้วยเหตุดังนั้น การแสดงออกทางศิลปะของพวกเธอจึงได้ถูกจัดหมวดหมู่”ในฐานะเป็นความ สำเร็จ/สัมฤทธิผล” น้อยกว่า “การนำเสนอหรือการแสดงออกโดยธรรมชาติ” ผลที่ตามมา การแสดงออกทางความรู้สึกในงานศิลปะของผู้หญิง บ่อยครั้งจึงได้รับการมองในฐานะที่เป็นการแสดงของอารมณ์ความรู้สึกตาม ธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ในขณะที่ความรู้สึกต่างๆ ที่เข้มแข็งซึ่งแสดงออกในงานของผู้ชาย ได้รับการตีความในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่นำพาหรือถ่ายทอดด้วยการควบคุมและความ เชี่ยวชาญ. โดยเหตุนี้ อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ในงานศิลปะของผู้หญิง จึงถูกมองในฐานะที่เป็นผลพลอยได้ที่ไม่ตั้งใจ(byproduct)ของธรรมชาติ. ซึ่งในทางตรงข้าม อัฉริยภาพของศิลปินชายได้ผลิตการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อันหนึ่งขึ้นมา ที่อยู่เหนือการบงการของธรรมชาติ (Korsmeyer, 2004: ch.3)
โดยทั่วไปแล้ว การประเมินผลมีความผิดแผกกันมากเกี่ยวกับความสามารถต่างๆ และบทบาททั้งหลายทางสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งได้มาขัดขวางหรือสกัดกั้นความสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในทาง ด้านวิจิตรศิลป์ และไม่มีการปกป้องพวกเธออย่างใดทั้งสิ้น บรรดานักประวัติศาสตร์ทั้งหลายทางด้านดนตรีและศิลปะ ได้มีการประเมินผลกันใหม่เกี่ยวกับบันทึกผลงานทางด้านวิจิตรศิลป์ และทำให้นักปฏิบัติการหรือศิลปินหญิงจำนวนมากได้กลายมาเป็นที่สนใจของสาธารณ ชนในวงการศิลปะและทางวิชาการศิลปะ แม้ว่าจะมีศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่ค่อนข้างน้อยมาก แต่พวกเธอมิใช่ว่าไม่มีอยู่เลยจากบันทึกประวัติศาสตร์
มากยิ่งไปกว่า นั้น มีรูปแบบบางอย่างทางด้านศิลปะที่ผู้หญิงเป็นผู้บุกเบิก อย่างเช่น นวนิยายร้อยแก้ว นวนิยายนี้ค่อนข้างเป็นรูปแบบใหม่อันหนึ่งในตะวันตก และมันเริ่มเป็นรูปแบบทางศิลปะอันเป็นที่นิยมกันขึ้นมา ซึ่งตลาดของงานเหล่านี้ได้ให้โอกาสหลายหลากสำหรับบรรดานักประพันธ์หญิงให้ ได้มาซึ่งเงินทองตามสมควร.
อย่างไรก็ตาม ผลงานต่างๆ ของพวกเธอมักจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดสำหรับผลงานเหล่านั้น อันที่จริงแล้ว ค่อนข้างจะถูกวิจารณ์ในเชิงดูถูกเกี่ยวกับความนิยมในงานของพวกเธอ แต่อย่างไรก็ตาม บางคนในจำนวนนั้น อย่างเช่น George Eliot และ Charlotte Bront?, ได้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า และได้รับการต้อนรับมาอย่างยาวนาน และกระทั่งได้รับการสรรเสริญในเชิงที่ยังโต้เถียงกันอยู่ในความมี”อัฉริ ยภาพ”
ในเวลาเดียวกัน ความสงสัยโดยทั่วไปอันหนึ่งเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของหลักการเกี่ยวกับศิลปะ ที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ ของอดีต มีข้อมูลจำนวนมากของความรู้สตรีนิยมในวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการวิจารณ์ ซึ่งได้มีการประเมินกันใหม่เกี่ยวกับบันทึกต่างๆ ในทางประวัติศาสตร์ทางด้านจิตรกรรม, ประติมากรรม, ดนตรี, และวรรณกรม และได้มีการปรับปรุงหลักการเหล่านั้น เพื่อรวมเอาผลงานที่ถูกทอดทิ้งหรือไม่เคยได้รับความเอาใจใส่ของผู้หญิงเข้า มาด้วย
การค้นพบใหม่เกี่ยวกับผลงานของผู้หญิงในอดีต ถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่สำคัญของนักวิชาการหญิงในช่วงระหว่างคลื่นลูก ที่สองของลัทธิสตรีนิยม ที่ถือเป็นยุคซึ่งได้พบเห็นการก่อตัวขึ้นมาของแนวทางการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับสตรีศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ทั้งในอเมริกาเหนือและยุโรป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีแรกของการศึกษาทางด้านนี้ จุดประสงค์หลักทางด้านวิชาการก็คือ ต้องการให้ผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมในเรื่องการยอมรับ เพื่อที่จะน้อมนำไปสู่เป้าหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศในด้านศิลปะ ต่างๆ ดังที่เราจะได้พบเห็นในไม่ช้า ซึ่งนี่ได้พิสูจน์ถึงเป้าประสงค์ชั่วคราวขั้นตอนหนึ่ง ในการพัฒนาเกี่ยวกับผลงานในทางสุนทรีย์ศาสตร์ของสตรีนิยม
ได้มีการถก เถียงกันค่อนข้างมากท่ามกลางนักวิชาการสตรีนิยม ที่ได้ให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับการประเมินคุณค่าต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับอัฉริยภาพและความสำเร็จทางศิลปะ บางคนได้ให้เหตุผลว่า ความคิดเรื่องอัฉริยภาพ ได้รับการหล่อหลอมขึ้นมาอย่างน่าสงสัย เนื่องจากความแตกต่างกันอย่างยิ่งในการศึกษาที่ใช้กับผู้คน และนั่นคือสิ่งที่ควรได้รับการโยนทิ้งไป
ยิ่งไปกว่านั้น การประคับประคองความสำเร็จของปัจเจกชน ซึ่งทำให้เกิดการละเลยหรือไม่ให้ความเอาใจใส่ต่อการสร้างสรรค์ร่วมกันและของ ชุมชน โดยหันไปให้การสนับสนุนความเป็นวีรบุรุษ/เอกบุรุษของความเป็นชาย (ในข้อเท็จจริง ศิลปะแนวสตรีนิยมของทศวรรษที่ 1970s บ่อยครั้ง เป็นงานที่ทำร่วมกัน, อันนี้เป็นการปฏิเสธอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความคิดเรื่องการสร้างสรรค์ของ ปัจเจกบุคคล โดยหันมาให้ความเอาใจใส่กับความร่วมมือกันทำงานในท่ามกลางหมู่ของผู้หญิง ด้วยกัน)
นักสตรีนิยมอีกหลายคนไม่เห็นด้วย และได้สร้างบรรทัดฐานอื่นที่เป็นทางเลือกเกี่ยวกับการทำงานในความสัมฤทธิผล ต่างๆ ของผู้หญิง โดยได้ให้เหตุผลว่า เราสามารถที่จะตระหนักและเข้าใจขนบจารีตต่างๆ เกี่ยวกับความมีอัฉริยภาพของผู้หญิงได้ในการทำงาน ในรูปงานศิลปะที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้หญิง (Battersby, 1989) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถกเถียงกันอันนี้ ได้นำเข้าไปสู่การสนทนากันอย่างกว้างขวางในเรื่องเกี่ยวกับศิลปะของผู้หญิง ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนขนบจารีตสตรีนิยมเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ (Ecker, 1986; Hein and Korsmeyer, 1993, sect. II)
ถ้าอันนี้หมายความว่า ผลงานทั้งหลายของศิลปินหญิงมักแสดงออกถึงคุณภาพเชิงสุนทรีย์ของสตรีนิยม บางอย่าง เพราะผู้สร้างสรรค์มันคือผู้หญิง หากเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำตอบของนักสตรีนิยมในทางลบ ยอมรับว่าฐานะตำแหน่งทางสังคมต่างๆ (ในเชิงประวัติศาสตร์, เรื่องชาติ, และอื่นๆ) ได้มีการยัดเยียดความแตกต่างมากมายให้กับผู้หญิง โดยให้การยอมรับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงน้อยมากต่อผลงานของพวกเธอ(Felski, 1989, 1998). ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการบางคนได้ให้เหตุผลว่า บรรดาศิลปินและนักประพันธ์หญิง บ่อยครั้งได้ผลิตสุ้มเสียงในทางตรงข้าม ภายใต้ขนบจารีตรายรอบพวกเธอซึ่งสามารถได้รับการพิจารณาและอ้างอิง ถึง”สุนทรียภาพ”ของตัวเอง ใครก็ตามซึ่งยืนหยัดอยู่บนข้อถกเถียงนี้ ต้องขึ้นอยู่กับขอบเขตของหลักฐานค่อนข้างมากที่พิจารณาว่าตรงประเด็นกับคำ ถามอันนั้น (Devereaux, 1998)
การเรียกร้องต่างๆ สำหรับจารีตอันหนึ่งเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ของผู้หญิง โดยกว้างแล้ว ได้ถูกวิจารณ์สำหรับการทำให้เป็นแก่นแท้ของผู้หญิง และละเลยความแตกต่างทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีอยู่อย่างมากมายของพวก เธอ. ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น ดังที่ Cornelia Klinger ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ในการไตร่ตรองย้อนลึกลงไปถึงขนบจารีตทางศิลปะของผู้หญิง ซึ่งอันนี้ดูเหมือนว่าค่อนข้างมีความช่ำชองมากกว่าป้ายฉลากของ”สารัตถะ นิยม(essentialism)ที่แสดงนัยะ เพราะพวกเธอไปพ้นจากลัทธิเสรีนิยมแบบความเสมอภาค และยอมรับอิทธิพลต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนานของเพศสภาพในการก่อตัวขึ้นมาของสุนทรียภาพ (Klinger, 1998, p. 350)
3. หมวดหมู่ทางสุนทรีย์และการวิจารณ์ของเฟมินิสท์
(Aesthetic Categories and Feminist Critiques)
ก่อนหน้านี้ได้มีการทบทวนกันถึง ภาพสะท้อนสตรีนิยมในเชิงทฤษฎีศิลปะ ซึ่งได้พูดถึงประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในทางด้านศิลปกรรมต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อถกเถียงและปฏิบัติการต่างๆของนักสตรีนิยมร่วมสมัย ว่าเป็นอย่างไร. สิ่งสำคัญเท่าๆ กันคือเรื่องของการประเมินคุณค่าต่างๆ ที่ประกอบด้วยกรอบแนวคิดมากมายทางสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลที่สุดบางอย่างเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิจารณ์ แนวสตรีนิยมที่ได้ปรากฏตัวขึ้นมา
การวิจารณ์แนวสตรีนิยมจำนวนมาก ได้รับการโฟกัสลงที่ปรัชญาในคริสตศตวรรษที่ 18 เนื่องมาจากผลงานที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่ในเรื่องความงาม, ความพึงพอใจ, และรสนิยม/รสชาติ ซึ่งได้รับการเขียนขึ้นในช่วงเวลานั้น ต่อมาได้กลายเป็นตำราหลักอันเป็นรากฐานสำหรับทฤษฎีต่างๆ ร่วมสมัย
“รสนิยม/รส ชาติ”อ้างอิงถึงคุณสมบัติที่อนุญาตให้มีการตัดสินที่ดีเกี่ยวกับศิลปะ และความงามของธรรมชาติ. ขณะที่การอุปมาอุปมัยเกี่ยวกับการรับรู้ได้ถูกนำมาจากผัสสะทางด้านรสชาติ ทฤษฎีเหล่านี้อันที่จริงเกี่ยวกับเรื่องความพึงพอใจในการมอง, การฟัง, และการจินตนาการ นับจากการที่มันได้รับการสันนิษฐานว่า ประสบการณ์ด้านรสนิยม/รสชาติที่แท้เป็นเรื่องร่างกายและอัตวิสัยมากเกินไป ที่จะยอมให้กับประเด็นปัญหาทางปรัชญาที่น่าสนใจต่างๆ
การตัดสินต่างๆ ทางด้านรสนิยม/รสชาติ ได้นำเอารูปแบบเฉพาะอันหนึ่งของความพึงพอใจมาใช้ ซึ่งในท้ายที่สุดได้กลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะ”ความพึงพอใจทาง สุนทรีย์”(aesthetic pleasure) (ศัพท์คำหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในภาษาอังกฤษ เพียงเมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 19 มานี้เอง)
แนวคิดทางทฤษฎีหลักๆ เกี่ยวกับยุคนี้เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยนัยสำคัญทางเพศสภาพ แม้ว่าการตามรอยเรื่องเพศสภาพในความวกวนของงานเขียนต่างๆ ของช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักและซับซ้อน โดยบทบาทที่ไม่เสถียรภาพของเรื่องทางเพศในทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับความพึงพอใจทางสุนทรีย์
ตามการวิเคราะห์ที่เข้มงวดและขึงขัง ส่วนใหญ่ของมัน ที่นำมาสู่อิทธิพลทางสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะเข้าใจกันว่า ความเพลิดเพลินทางสุนทรีย์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศแต่อย่างใด นั่นคือ ความพึงพอใจทางสุนทรีย์ไม่ใช่เรื่องของผัสสะ, หรือความพออกพอใจทางเนื้อหนัง/ร่างกาย เพราะมันเป็นอิสระจากข้อพิจารณาต่างๆ ในเชิงปฏิบัติ และได้ชำระล้างความปรารถนาออกไป
ความปรารถนา 2 ชนิดที่ได้เข้ามาขัดจังหวะการพิจารณาใคร่ครวญทางสุนทรีย์ส่วนใหญ่แล้วก็คือ “ความหิวกระหาย”และ”ความปรารถนาทางเพศ” ซึ่งเป็นความพึงพอใจเรื่อง”ผลประโยชน์”พอๆ กับเรื่องของ”ความดีเลิศ”. ความพึงพอใจทางสุนทรีย์เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์(disinterested) (อันนี้เป็นการใช้ศัพท์ของ Kant – 1724 1804) และเป็นเรื่องของการพิจารณาใคร่ครวญ-ไตร่ตรอง(contemplative)
มันเป็น เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ ซึ่งได้ไปขจัดแนวโน้มหรือความปรารถนาแบบปัจเจกของผู้ดู ที่แบ่งแยกผู้คนในการตัดสินต่างๆ ของพวกเขา และนั่นได้ให้ความกระจ่างในใจร่วมกัน กระทั่งความลงรอยกันที่เป็นสากลเกี่ยวกับวัตถุต่างๆ ของความงาม
ในเชิง อุดมคติ รสนิยม/รสชาติคือปรากฏการณ์ที่เป็นสากลอันหนึ่งอย่างมีศักยภาพ แม้ว่าความละเอียดอ่อนของมัน ดังที่ Hume (1711-1776) เสนอไว้, ต้องการการฝึกฝนและการฝึกปฏิบัติ. ในบางระดับ ความต้องการนั้นเกี่ยวกับรสนิยม/รสชาติ อาจได้รับการมองในฐานะที่เป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างท่ามกลางผู้คน. แต่ทว่ามันเป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยหนึ่งของเวลาว่างที่ฝังตรึงอยู่ในคุณค่า ต่างๆของวิจิตรศิลป์ และบรรดานักวิจารณ์ได้ให้เหตุผลว่า รสนิยม/รสชาติ เป็นความสบาย ความปลอดภัยที่เป็นส่วนตัว(ensconce) และการแบ่งแยกทางชนชั้นที่เป็นระบบ (Shusterman 1993; Mattick 1993)
ใน เวลาเดียวกัน บรรดานักทฤษฎีทั้งหลายต่างยกย่องความเป็นไปได้ต่างๆ เกี่ยวกับรสนิยม/รสชาติ ที่เป็นที่สากล แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งพวกเขาได้ดึงเอาความแตกต่างในเรื่องเพศสภาพเข้ามาในปฏิบัติการของ มัน นักทฤษฎีเป็นจำนวนมากให้เหตุผลว่า หญิงและชายครอบครองรสนิยม/รสชาติ ที่ต่างกันในเชิงระบบ หรือครอบครองสมรรถภาพสำหรับความเข้าใจซาบซึ้งทางศิลปะและผลิตผลทางวัฒนธรรม อื่นๆ ต่างกัน
ความแตกต่างที่โดดเด่นมากสุด เกิดขึ้นกับแก่นแกนทางสุนทรีย์ 2 ชนิดในคริสตศตวรรษที่ 18 นั่นคือเรื่องของ”ความงาม”และ”ความน่าพรั่นพรึง”(beauty and sublimity). [คำว่า sublimity มีความหมายถึงความสง่างาม ความดีเลิศ หรือความงามชนิดหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจในทางชื่นชม หรือสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึง. โดยความหมายที่คลุมๆดังกล่าว ในที่นี้จึงขอใช้คำแทน sublimity ว่า "ความน่าพรั่นพรึง"]
1. วัตถุต่างๆ ของ”ความงาม”(Objects of beauty) ได้รับการอธิบายในฐานะที่มีขอบเขต, มีขนาดเล็ก, มีความละเอียดอ่อน, อันเป็นคุณสมบัติต่างๆ ที่ทำให้เป็นผู้หญิง(feminized traits)
2. วัตถุใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะของความน่าพรั่นพรึง(objects that are sublime), ตัวอย่างที่ดีต่างๆของมัน ส่วนมากได้รับการดึงมาจากธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้, ไร้ขอบเขต, หยาบและขรุขระ, ทำให้น่ากลัวหรือหวาดหวั่น – อันเป็นคุณสมบัติต่างๆ ของลักษณะความเป็นชาย(masculinize traits)
ป้ายฉลากทางเพศสภาพเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงถาวรแต่อย่างใด สำหรับความน่ากลัวของธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์อันเข้มข้นมายาวนานเท่าๆกัน เกี่ยวกับการอรรถาธิบายในฐานะที่มันเป็นพลังอำนาจของผู้หญิงในเรื่องของความ สับสนไร้ระเบียบ(feminine forces of chaos) [Battersby 1998]. กล่าวอย่างสั้นๆ วัตถุต่างๆทางสุนทรีย์ ได้นำพาความหมายทางเพศสภาพไปกับแนวคิดต่างๆ ของมัน เกี่ยวกับเรื่องความงามและความน่าพรั่นพรึง(beauty and sublimity)
ยิ่ง ไปกว่านั้น มันยังเป็นไปในทำนองเดียวกันกับคนที่ซาบซึ้งในสุนทรียภาพด้วย. ดังที่ Kant ได้นำเสนอในงานช่วงแรกๆ ของเขาเรื่อง Observations on the Feeling of the Beautiful and Sublime (1763), จิตใจของผู้หญิงเป็นจิตใจที่งดงามอันหนึ่ง แต่ผู้หญิงไม่มีความสามารถที่จะทำความเข้าใจซาบซึ้งในเรื่องความก้าวร้าว ความรุนแรง และความร้ายกาจ และไม่อาจเข้าใจในความสูงส่งน่าพรั่นพรึงที่เผยออกมา
การขาดโอกาสของ ผู้หญิงจากประสบการณ์เกี่ยวกับความน่าพรั่นพรึงนี้ ได้ไปจำกัดพวกเธอจากความสามารถที่จะเข้าใจในนำหนักทางศีลธรรมและการดำรงอยู่ ของอำนาจ/พลัง ความยิ่งใหญ่ของทั้งธรรมชาติและศิลปะ. ความพึงพอใจทางสุนทรีย์เกี่ยวกับความน่าพรั่นพรึงได้ถูกสร้างขึ้นมาบนความ น่ากลัวอย่างขัดกับความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป
การประกอบสร้างต่างๆ เกี่ยวกับความอ่อนแอที่ถูกสมมุติขึ้นมาเป็นของผู้หญิง และข้อจำกัดต่างๆ ทางศีลธรรมนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับข้อจำกัดทั้งหลายทางสังคมของพวกเธอ ซึ่งได้ไปสนับสนุนหรือมีส่วนทำให้แนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับความน่าพรั่นพรึง เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของผู้ชาย. ข้อถกเถียงกันทั้งหลายเหล่านี้ในเรื่องธรรมชาติและแนวคิดเกี่ยวกับความน่า พรั่นพรึง ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงต่างๆ ของนักสตรีนิยมในเรื่อง ความสามารถที่จะเข้าใจในประวัติศาสตร์ของวรรณคดี ขนบจารีตอีกอย่างหนึ่งของความน่าพรั่นพรึงที่ถือว่าเป็น”ความน่าพรั่นพรึง แบบผู้หญิง”(female sublime) (Freeman 1995, 1998; Battersby 1998)
การ ชำระล้างเกี่ยวกับความพึงพอใจทางเพศ จากความเพลิดเพลินทางสุนทรีย์ด้วยความระมัดระวังอันนี้ คลุกเคล้าปนเปกับการใช้ร่างกายของผู้หญิงในลักษณะที่ขัดกับความรู้สึกทั่วไป ในฐานะที่เป็นตัวอย่างต่างๆ ของวัตถุทางสุนทรีย์. ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่เป็นความเห็นลงรอยกันอย่างเป็นธรรมชาติกับธรรมชาติมนุษย์
- สำหรับ Hume แล้วโอนเอียงไปทางดนตรี, ที่สร้างความเบิกบานที่ดี, และเป็นเรื่องของเพศหญิง
- ส่วน Kant กล่าวว่า “ผู้ชายได้พัฒนารสนิยมของตัวเขาขึ้นมา ในขณะที่ผู้หญิงทำให้ตัวของเธอเองเป็นวัตถุหนึ่งของรสนิยม/รสชาติของทุก คน”(Kant 1798/1978, p. 222)
- Edmund Burke ได้ทำให้ความงามเป็นเรื่องของกามวิสัยอย่างเปิดเผย เมื่อเขาพิจารณาใคร่ครวญถึงความนุ่มนวลและความละเอียดอ่อนของเส้น ที่เป็นเครื่องหมายของวัตถุที่มีความงามต่างๆ ซึ่งเตือนให้นึกถึงเส้นโค้งทั้งหลายบนเรือนร่างของผู้หญิง (Burke 1757/1968)
ถ้าผู้หญิงเป็นวัตถุต่างๆ ของความพึงพอใจทางสุนทรีย์ หากเป็นเช่นนั้น ความปรารถนาที่แท้จริงของผู้ดูก็จะต้องได้รับการทำให้มีระยะห่าง(distance) และต้องเอาชนะเพื่อที่จะมีความรู้สึกเพลิดเพลินกับสุนทรียภาพได้ อย่างบริสุทธิ์. ผลลัพธ์อันนี้เป็นความเกี่ยวพันที่มีนัยะหนึ่งถึงความคิดเรื่องความพึงพอใจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์(disinterested pleasure)
ความต้องการนี้ มันดูเหมือนว่าจะยอมรับหรือทึกทักว่าเป็นมาตรฐานทางความคิดอันหนึ่งที่เป็น เรื่องของผู้ชาย และเป็นเรื่องของคนที่รักเพศตรงข้าม(heterosexual). แต่แน่นอน ผู้หญิงยังคงเป็นประธานต่างๆ ซึ่งได้ถูกพลิกแพลงไปใช้กับเรื่องรสนิยม/รสชาติ. อันนี้มีนัยะว่า ผู้หญิงเป็นทั้งประธานและกรรมทางสุนทรีย์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในเวลาเดียว กัน
การไม่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์(disinterestedness)มีประวัติศาสตร์มา ยาวนาน มันได้แสดงถึงคุณลักษณะเฉพาะของทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับทัศนคติทางสุนทรีย์ที่นิยมกันในคริสตศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ให้เหตุผลว่า เงื่อนไขอันดับแรกสำหรับความซาบซึ้งอย่างเต็มที่กับศิลปะทุกชนิด ก็คือระยะห่าง(distance), ซึ่งค่อนข้างเป็นท่าทีของการไตร่ตรองและการครุ่นคิดเกี่ยวกับผลงานศิลปะ
ข้อ สันนิษฐานในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสมในการดูงานศิลปะ มันนอนเนื่องอยู่เบื้องหลังการวิจารณ์แนวรูปทรงนิยม(formalist – หมายถึงศิลปะที่ขจัดเอาเนื้อหาทิ้งไป เหลือแต่รูปทรงล้วนๆ และเทคนิคในการสร้างงานศิลปะ เพื่อสนองความชื่นชมโดยตรง) และมีอิทธิพลครอบงำการตีความทางด้านทัศนศิลป์มาหลายทศวรรษ ซึ่งนั่นได้แสดงให้เห็นคุณลักษณ์พิเศษของบรรทัดฐานในการตีความในรูปแบบงาน ศิลปะอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น วรรณคดี และดนตรี (McClary 1991, p. 4; Devereaux 1998; Brand 2000)
คุณค่าของความเพลิดเพลินทางสุนทรีย์ที่ไม่ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ เกิดขึ้นมาภายใต้การใคร่ครวญอย่างละเอียดในเชิงวิพากษ์อย่างหนักในส่วนของ แนวทางสตรีนิยม ซึ่งได้มีการรื้อสร้างความคิดนี้และให้เหตุผลว่า ท่าทีที่ปราศจากเรื่องผลประโยชน์ที่สมมุติกันขึ้นนั้น อันที่จริงแล้ว เป็นการซ่อนเร้นหรือการกำบังตัวอันหนึ่ง และเป็นเรื่องของพวกถ้ำมอง(voyeurism)ที่มีการควบคุมนั่นเอง
แบบฉบับของศิลปะที่ได้เข้ามาสู่การพินิจพิจารณา อย่างละเอียดเป็นการเฉพาะ ในเทอมต่างๆ ของความเกี่ยวพันที่มีนัยะกับความเพลิดเพลินที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ คืองานศิลปะทางด้านทัศนศิลป์ และจำนวนมากของข้อถกเถียงกันในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งที่ได้กลายมาเป็นที่ รู้จักในฐานะ”การจ้องมองของผู้ชาย”(the male gaze) ซึ่งได้รับการผลิตขึ้นจากทฤษีต่างๆ ทางด้านภาพยนตร์และบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลป์ และต่อมาได้รับการค้นคว้าโดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย
คำว่า”การจ้องมอง ของผู้ชาย”(male gaze) อ้างอิงถึงการวางกรอบเกี่ยวกับวัตถุทั้งหลายทางทัศนศิลป์ ซึ่งผู้ดูได้รับการวางหรือกำหนดอยู่บนตำแหน่งของลักษณะความเป็น ชาย(masculine position)ในการทำความเข้าใจซาบซึ้งกับศิลปะ. โดยการตีความวัตถุต่างๆ ทางศิลปะที่มีลักษณะหลากหลายเท่าๆ กับงานจิตรกรรมทั้งหลายเกี่ยวกับภาพเปลือยและภาพยนตร์ฮอล์ลีวูด บรรดานักทฤษฎีเหล่านี้ได้สรุปว่า ผู้หญิงที่ถูกวาดหรือพรรณาในงานศิลปะ โดยได้รับการวางอย่างมีมาตรฐานในฐานะที่เป็นวัตถุต่างๆ ของความเอาใจใส่ (อันนี้คล้ายคลึงกันมากกับ Burke ที่จัดให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางสุนทรีย์มาแต่เดิม) และบทบาทในเชิงรุกค่อนข้างมากเกี่ยวกับการมองนั้น สมมุติว่าเป็นคล้ายๆ ตำแหน่งของผู้ชายที่กำลังจ้องมอง
ดังที่ Laura Mulvey เสนอว่า ผู้หญิงได้ถูกกำหนดให้อยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายรับของการถูกจ้องมอง – ในทางตรงข้าม ผู้ชายกลายเป็นประธานที่เป็นฝ่ายรุกซึ่งเป็นผู้มองจ้อง (Mulvey 1989). ผลงานศิลปะต่างๆ ในตัวมันเอง ได้มีการชี้แนะหรือกำหนดตำแหน่งของการมองที่เป็นอุดมคติต่างๆ. ขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากก็ซาบซึ้งในศิลปะเหล่านี้เช่นกัน แน่นอน ท่าทีดังกล่าวพวกเธอยอมรับว่า เพื่อที่จะซาบซึ้งในผลงานต่างๆ ในวิธีการนั้น พวกเธอจึงต้องมีเจตนาที่จะสวมเอาท่าทีหรือทัศนคติการรับรู้แบบผู้ชายเข้าไป ด้วย
ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการจ้องมองของผู้ชายมีอยู่อย่างหลากหลายมาก รวมไปถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งมีอิทธิพลในการครอบงำการตีความทางด้านภาพยนตร์, (Mulvey 1989; Doane 1991) แต่การทึกทักหรือสันนิษฐานเอาเองและระเบียบวิธีของพวกเขานั้น ได้ถูกโต้แย้งโดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลายที่ค่อนข้างปรับไปสู่ศาสตร์ ของกระบวนการรับรู้ และปรัชญาวิเคราะห์ที่เหมาะสมต่างๆ (Freeland 1998a; Carroll 1995)
เรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับการจ้องมองของผู้ชาย สามารถถูกพบได้ในลัทธิสตรีนิยมสายอัตถิภาวนิยม(existentialist feminism) ของ Simone de Beauvoir (Beauvoir 1953) อันนี้เป็นการสังเกตการณ์ต่างๆ จากความคิดในเชิงประจักษ์ ซึ่งยืนยันความมีอิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ชายในสิ่งสร้างทาง วัฒนธรรมต่างๆ โดยปราศจากการรับเอาโครงสร้างทางปรัชญาใดๆมาใช้. ทฤษฎีทั้งหลายเหล่านี้แตกต่างกันในการวินิจฉัยของมัน เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ให้กำเนิด”ความเป็นชาย”ในผู้สังเกตที่เป็นอุดมคติสำหรับ งานศิลปะ
สำหรับบรรดานักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เราจะต้องเข้าใจการปฏิบัติการของความไร้สำนึกที่มีอยู่เหนือจินตนาการเกี่ยว กับการมอง เพื่อที่จะอธิบายหรือให้เหตุผลการดำรงอยู่ของความปรารถนาในวัตถุต่างๆ ทางทัศนศิลป์. ส่วนนักทฤษฎีด้านอื่นๆ ถือว่า เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้นเพียงพอที่จะทำความเข้าใจซาบซึ้ง โดยตรงกับศิลปะ ในหนทางต่างๆ ที่เป็นสิทธิพิเศษทางความคิดเห็นของความเป็นชาย
ทั้งๆ ที่มีความแตกต่างในทางทฤษฎีซึ่งมีนัยสำคัญจำนวนมาก และได้มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการจ้องมอง โดยค่อยๆ เข้ามาบรรจบกันในข้อสรุปของพวกเขาที่ว่า งานศิลปะเป็นจำนวนมากที่สร้างขึ้นในขนบจารีตยูโร-อเมริกัน ได้วางหรือกำหนดผู้ที่เข้าใจซาบซึ้งในเชิงอุดมคติในตำแหน่งประธานที่เป็น ผู้ชาย(a masculine subject-position). อันนี้ได้มีการถกเถียงกันบนเรื่องของการมีอิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับตำแหน่งของ ผู้ชายในงานศิลปะทั้งมวล
สำหรับประธานต่างๆ ของความซาบซึ้ง ไม่สามารถถูกเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นเรื่องของ”ความเป็นชาย” แต่มันต้องการความเอาใจใส่มากขึ้นไปกว่านี้ถึงเรื่องทางเพศ(sexuality), เชื้อชาติ, และสัญชาติ(Silverman 1992; hooks 1992). บางครั้ง การอ่านอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการจ้องมองได้ชักจูงหรือลวงให้ใครคนใดคนหนึ่ง ไปเพิ่มเติมความแหลมคมเกี่ยวกับความแตกต่างในเรื่องเพศสภาพขึ้นมาเกินจริงไป สู่ผู้ดูที่เป็นชายและวัตถุของการจ้องมองที่เป็นหญิง แม้ว่าบรรดานักสตรีนิยมส่วนใหญ่ พยายามที่จะหลีกเลี่ยงในเรื่องของคติลดทอน(reductionism)ดังกล่าวก็ตาม
ทั้งๆ ที่มีความแตกต่างกัน แต่ทฤษฎีทั้งหลายเกี่ยวกับการจ้องมองก็ปฏิเสธความคิดที่ว่า การรับรู้เป็นการรับรู้แบบยอมจำนน ทั้งหมดของวิธีการเหล่านี้ยอมรับว่าภาพ, ผัสสะทางสุนทรีย์อันเป็นแก่นสำคัญ, มันครอบครองอำนาจ นั่นคืออำนาจในการทำให้เป็นรูปธรรม – ควบคุมวัตถุที่ถูกจ้องมองสู่การพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและครอบครองมัน
การ จ้องมองของผู้ชายเป็นเครื่องมือทางทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับคุณค่าที่ไม่อาจ ประเมินได้ ในการเรียกร้องความสนใจสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า การจ้องมองเป็นปฏิบัติการอันหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นกลางยากของจักษุประสาท. ดังที่ Naomi Scheman กล่าว:
การมองเป็นผัสสะที่ปรับไปสู่การแสดงออกได้ ดีที่สุด – การทำให้ไม่เกี่ยวกับมนุษย์(dehumanization): มันทำงาน ณ ที่ห่างไกลหนึ่งและไม่ต้องการการแลกเปลี่ยน, มันนำเสนอหรือให้ข้อมูลหมวดหมู่ง่ายๆ จำนวนมาก มันทำให้ผู้รับสามารถติดตรึงกับวัตถุดังกล่าวเอาไว้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และการจ้องมองเป็นหนทางหนึ่งของการทำให้วัตถุทางสายตาเป็นที่รับรู้ ซึ่งเธอคือวัตถุทางสายตาอันนั้น. การมองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ดังที่มันเป็นในงานทัศนศิลป์ และอะไรก็ตามอื่นๆที่มันอาจเกี่ยวเนื่อง(Scheman, 1993, p. 159.)
ทฤษฎี ทั้งหลายเกี่ยวกับการมองได้เน้นถึงกิจกรรมของการมอง ความเป็นนายของมันและการควบคุมเกี่ยวกับวัตถุทางสุนทรีย์. ทฤษฎีเหล่านี้ปฏิเสธการแบ่งแยกความปรารถนาจากความพึงพอใจ กลับคืนสู่แก่นแกนของความงามที่เป็นเรื่องของกามวิสัยหรืออีโรติก, เป็นการจ้องมองที่มีความอยากความปรารถนา ที่ไม่ได้ถูกขจัดออกไปจากการไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางสุนทรีย์
งาน จิตรกรรมภาพเปลือยต่างๆของผู้หญิง(female nudes), ซึ่งนักวิชาการเฟมินิสคนหนึ่งได้ให้เหตุผลอย่างจริงจัง เกี่ยวกับนิยามงานศิลปกรรมสมัยใหม่ทางด้านจิตรกรรม(Nead, 1992) ซึ่งโดยอุดมคติต่างๆ ทางสุนทรีย์ มันได้ยักย้ายศิลปะไปสู่การเพิ่มขึ้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ. โดยในทางทัศนศิลป์ ความสัมพันธ์ต่างๆ เหล่านั้นเป็นการแสดงออกในการมอง นั่นคือวิธีการที่มันถูกวาดขึ้นในผลงาน และวิธีการที่มันถูกกำกับควบคุมในส่วนของผู้สังเกตที่อยู่นอกผลงานนั้น กลายเป็นการปรับไปสู่ตำแหน่งการมองที่กำหนดของผลงานทัศนศิลป์ ซึ่งได้นำพาความปรารถนาและความรู้สึกทางกามวิสัยที่ถูกกดทับไปสู่ความเอาใจ ใส่ และให้ความสว่างเกี่ยวกับผู้ดูงานศิลปะ อย่างเช่นเอกลักษณ์ทางเพศ และเชื้อชาติ
++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
- Banes, Sally. (1998). Dancing Women: Female Bodies on Stage. London: Routledge.
- Battersby, Christine. (1989). Gender and Genius: Towards a Feminist Aesthetics. Bloomington: Indiana University Press.
- __________. (1998). The Phenomenal Woman: Feminist Metaphysics and the Patterns of Identity. New York: Routledge.
- Beauvoir, Simone de. The Second Sex. (1989/49).Trans. H.M. Parshley. New York: Vintage Books.
- Bindman, David. (2002). Ape to Apollo: Aesthetics and the Idea of Race in the 18th Century. Ithaca: Cornell University Press.
- Brand, Peg Zeglin, ed. (2000). Beauty Matters. Bloomington: Indiana University Press.
- Brand, Peggy Zeglin and Carolyn Korsmeyer. Eds. (1995). Feminism and Tradition in Aesthetics. University Park, PA: Pennsylvania State University Press.
- Burke, Edmund. (1957/1968). A Philosophical Enquiry into the Origin of Our Ideas of the Sublime and Beautiful. ed. James T. Boulton. Notre Dame: University of Notre Dame Press.
- Butler, Judith.(1993). Bodies That Matter: On the Discursive Limits of “Sex.” New York: Routledge.
- __________. (1990). Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. New York: Routledge.
- Campbell, Sue. (1997). Interpreting the Personal: Expression and the Formation of Feelings. Ithaca: Cornell University Press.
- Carroll, No?l. (1995). “The Image of Women in Film: A Defense of a Paradigm.” Feminism and Tradition in Aesthetics. Peggy Zeglin Brand and Carolyn Korsmeyer, Eds. University Park, PA: Pennsylvania State University Press: 371-391.
- __________. (2000). Theories of Art Today. Madison: University of Wisconsin Press.
- Chadwick, Whitney. (1990). Women, Art, and Society. London: Thames and Hudson, Ltd.
- Chicago, Judy and Edward Lucie-Smith. (1999). Women and Art: Contested Territory. New York: Watson-Guptill.
- Citron, Marcia J. (1993). Gender and the Musical Canon. Cambridge: Cambridge University Press.
- Copjec, Joan. (2002). Imagine There’s No Woman: Ethics and Sublimation. Cambridge, MA: MIT Press.
- Creed, Barbara. (1993). The Monstrous Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis. London: Routledge.
- Curran, Angela. (1998). “Feminism and the Narrative Structures of the Poetics.” Feminist Interpretations of Aristotle. Cynthia Freeland, ed. University Park, Pa: Pennsylvania State University Press, pp. 289-326.
- Danto, Arthur. (1981), The Transfiguration of the Commonplace: A Philosophy of Art. Cambridge, MA: Harvard University Press.
- Davies, Stephen. (1991). Definitions of Art. Ithaca: Cornell University Press.
- Devereaux, Mary. (2003). “Feminist Aesthetics.” The Oxford Handbook of Aesthetics. Jerrold Levinson, ed. New York: Oxford University Press, pp. 647-666.
- __________. (1998) “Autonomy and its Feminist Critics.” Encyclopedia of Aesthetics, Vol. 1. Michael Kelly, Ed. New York: Oxford University Press: 179-182.
- __________. (1995). “Oppressive Texts, Resisting Readers, and the Gendered Spectator.” Feminism and Tradition in Aesthetics. Peggy Zeglin Brand and Carolyn Korsmeyer, eds. University Park, Pa: Pennsylvania State University Press, pp. 121-41.
- Dickie, George. (1996). The Century of Taste: The Philosophical Odyssey of Taste in the Eighteenth Century. New York: Oxford University Press.
- Doane, Mary Ann. (1991). Femmes Fatales: Feminism, Film Theory, Psychoanalysis. New York: Routledge.
- Eaton, Anne. (2005). “Feminist Aesthetics and Criticism.” Encyclopedia of Philosophy, 2nd ed. Macmillan.
- Ecker, Gisela, ed. (1986). Feminist Aesthetics. Trans. Harriet Anderson. Boston: Beacon Press.
- Felski, Rita. (1989). Beyond Feminist Aesthetics: Feminist Literature and Social Change. Cambridge, MA: Harvard University Press.
- __________. (1998). “Critique of Feminist Aesthetics.” Encyclopedia of Aesthetics, Vol. 2. Michael Kelly, ed. New York: Oxford University Press: 170-72.
- Florence, Penny and Nicola Foster. eds. (2000). Differential Aesthetics: Art Practices, Philosophy, and Feminist Understandings. Aldershot, UK: Ashgate.
- Freeland, Cynthia. (2001). But Is It Art? An Introduction to Art Theory. New York: Oxford University Press.
- __________. (1998a). “Film Theory.” A Companion to Feminist Philosophy. Malden, MA: Blackwell: 353-360.
- __________. (1998b). The Naked and the Undead. New York: Westview.
- Freeman, Barbara Claire. (1995). The Feminine Sublime: Gender and Excess in Women’s Fiction. Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
- __________. (1998). “Feminine Sublime.”Encyclopedia of Aesthetics, Vol 4. Michael Kelly, ed. New York: Oxford University Press: 331-34.
- Gatens, Moira. (1991). Feminism and Philosophy: Perspectives on Difference and Equality. Bloomington: Indiana University Press.
- Grosz, Elizabeth. (1994).Volatile Bodies: Toward a Corporeal Feminism. Bloomington: Indiana University Press.
- Hein, Hilde and Carolyn Korsmeyer, eds. (1993). Aesthetics in Feminist Perspective. Bloomington: Indiana University Press.
- hooks, bell. (1992). “The Oppositional Gaze.” Black Looks. Boston: South End Press, 1992.
- Howes, David, ed. (1991). The Varieties of Sensory Experience. Toronto: University of Toronto Press.
- Irigaray, Luce. (1974/85). Speculum of the Other Woman. Trans. Gillian C. Gill. Ithaca: Cornell University Press.
- Kant, Immanuel.(1798/1978) Anthropology from a Pragmatic Point of View. Trans. Victor Lyle Dowdell. Carbondale: Southern Illinois University Press.
- __________. (1790/1987). Critique of Judgment. Trans. Werner Pluhar. Indianapolis: Hackett.
- Kaplan, E. Ann. (1990). Psychoanalysis and Cinema. New York: Routledge, 1990.
- Klinger, Cornelia. (1998). “Aesthetics.” A Companion to Feminist Philosophy. Alison M. Jaggar and Iris Marion Young, eds. Malden, MA: Blackwell: 343-352.
- __________. (1997). “The Concepts of the Sublime and the Beautiful in Kant and Lyotard.” Feminist Interpretations of Immanuel Kant. Robin May Schott, ed. University Park, Pa: Pennsylvania State University Press, 1997: 191-211.
- Korsmeyer, Carolyn. (2004). Gender and Aesthetics: An Introduction. London: Routledge.
- _________. “Perceptions, Pleasures, Arts: Considering Aesthetics.” Philosophy in a Feminist Voice: Critiques and Reconstructions. Janet Kourany, ed. Princeton: Princeton University Press1998: 145-72.
- Kristeller, Paul Osker. (1951-52). “The Modern System of the Arts: A Study in the History of Aesthetics,” Parts I and II, Journal of the History of Ideas 112 and 113: 496-527, 17-46. Also in Essays on the History of Aesthetics. Peter Kivy, ed. Rochester, NY: University of Rochester Press, 1992.
- Kristeva, Julia. (1982). The Powers of Horror: An Essay on Abjection. Trans. Leon S. Roudiez. New York: Columbia University Press.
- Lauter, Estella. (1993). “Re-enfranchising Art: Feminist Interventions in the Theory of Art.” Aesthetics in Feminist Perspective. Hilde Hein and Carolyn Korsmeyer, Eds. Bloomington: Indiana University Press: 21-34.
- Lorraine, Ren?e. (1993). “A Gynecentric Aesthetic.” Aesthetics in Feminist Perspective. Hilde Hein and Carolyn Korsmeyer, Eds. Bloomington: Indiana University Press: 35-52.
- Lippard, Lucy. (1995). The Pink Glass Swan: Selected Essays on Feminist Art. New York: The New York Press.
- McClary, Susan. (1991) Feminine Endings: Music, Gender, and Sexuality. Minnesota: University of Minnesota Press.
- Mattick, Paul Jr. Ed. (1993). Eighteenth-Century Aesthetics and the Reconstruction of Art. Cambridge: Cambridge University Press.
- Moi, Toril. (1985). Sexual/Textual Politics: Feminist Literary Theory. London: Metheun.
- Mulvey, Laura. (1996). Fetishism and Curiosity. Bloomington: Indiana University Press, 1996.
- __________. (1989). Visual and Other Pleasures. London: Macmillan, 1989.
- Nead, Lynda. (1992). The Female Nude: Art, Obscenity and Sexuality. London: Routledge.
- Nochlin, Linda. (1988). “Why Have There Been No Great Women Artists?” Women, Art, and Power and Other Essays. New York: Harper and Row.
- Parker, Rozsika and Griselda Pollock. (1981). Old Mistresses: Women, Art and Ideology. New York: Pantheon Books.
- Pollock, Griselda. (1988). Vision and Difference: Femininity, Feminism and the Histories of Art. London: Routledge.
- Reckitt, Helena, ed. (2001). Art and Feminism. New York: Phaidon.
- Scheman, Naomi. (1993). “Thinking about Quality in Women’s Visual Art.” Engenderings: Constructions of Knowledge, Authority, and Privilege. New York: Routledge.
- Shiner, Larry. (2001). The Invention of Art: A Cultural History. Chicago: University of Chicago Press.
- Shusterman, Richard. (1993.) “On the Scandal of Taste.” Mattick, Paul Jr., Ed. Eighteenth-Century Aesthetics and the Reconstruction of Art. Cambridge: Cambridge University Press: 96-119.
- Silverman, Kaja. (1992). Male Subjectivity at the Margins. New York: Routledge.
- Silvers, Anita. (1998). “Feminism: An Overview.” Encyclopedia of Aesthetics. Michael Kelly, ed. New York: Oxford University Press: Vol 2, 161-67.
- Steiner, Wendy. (2001). Venus in Exile: The Rejection of Beauty in Twentieth-Century Art. New York: The Free Press.
- Woodmansee, Martha. (1994). The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics. New York: Columbia University Press.
- Worth, Sarah. (1998). “Feminism and Aesthetics.” The Routledge Companion to Aesthetics. Berys Gaut and Dominic McIver Lopes, Eds. London: Routledge.
- Zegher, M. Catherine de, ed. (1996). Inside the Visible: an elliptical traverse of 20th century art in, of, and from the feminine. Cambridge, MA: MIT Press.
ข้อมูลอื่นๆที่สามารถค้นคว้าเพิ่มเติม
- American Society for Aesthetics.
- Feminist Aesthetics, maintained by Kristin Switala, Center for Digital Discourse and Culture, Virginia Tech.
- Feminist Aesthetics in the Performing Arts, Bibliography maintained by the University of Wisconsin System Women’s Studies Librarian.
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เรียบเรียงมาบางส่วน จากงานชิ้นสมบูรณ์เรื่อง Feminist Aesthetics ของ Carolyn Korsmeyer : State University of New York / Buffalo