การพัฒนาเศรษฐกิจบนเส้นทางสีเขียว
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ประเทศแข่งขันกันผลิตอย่างเข้มข้นโดยคำนึงถึงการลดต้นทุนและเพิ่มกำไรเป็นหลัก หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มากขึ้น เศรษฐกิจสีเขียวให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศโดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเศรษฐกิจสีเขียวเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมองผลประโยชน์ของส่วนรวมของ สังคม เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อให้ลูกหลานของเราในภายภาคหน้าสามารถ มีชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างสบาย ไมใช่เหลือแต่ทะเลทรายหรือโลกที่ไม่มีต้นไม้เหมือนในหนังหลายๆ เรื่องที่มักวาดภาพโลกอนาคตเอาไว้
ในเมื่อเศรษฐกิจสีเขียวดีอย่างนี้แล้ว คำถามที่น่าคิดคือทำไมทุกประเทศไม่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจของตนเป็นเศรษฐกิจ สีเขียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเศรษฐกิจโลกยังต้องพึ่งน้ำมัน (Fossil Fuel) เป็นพลังงานหลักในภาคการผลิตและขนส่ง พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนสูงมาก ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการทำวิจัยและผลิตเพื่อใช้ในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดที่ใช้พลังงานทดแทนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีก็แต่ประเทศที่ร่ำรวยแล้วที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับเศรษฐกิจสี เขียว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการพัฒนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกใน เวทีระหว่างประเทศเป็นประจำ โดยในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ที่มีการประชุมมาหลายต่อหลายครั้งได้มีความพยายามให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศกำลังพัฒนามักจะไม่พอใจที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมาบอกให้ตนลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากยังต้องใช้น้ำมันเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนการ พัฒนาทางเศรษฐกิจ
แม้ไทยจะยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ก็ตาม แต่เป็นที่น่ายินดีที่มีความตื่นตัวกับเรื่องการพัฒนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงการต่างประเทศของไทยมีการจัดกิจกรรมการทูตสีเขียว (Green Diplomacy) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ นอกจากนี้เศรษฐกิจสีเขียวก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อีกด้วย
ในระดับประชาชนแล้วการอนุรักษ์พลังงานคงไม่มีเรื่องของการเสียผลประโยชน์ เหมือนในภาคธุรกิจ คงจะดีไม่น้อยหากคนไทยทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในการอนุรักษ์พลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยก็เพื่อสังคมที่น่าอยู่และเพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้