ผลงานของศิลปิน
ลิโอเนอร์ ฟินี Leonor Fini (1908 – 1996)ฟินี่เกิดที่บัวโนสไอเรส เติบโตที่ตริเอสเต เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ปารีส ที่ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มศิลปินเซอเรียลิสต์ ซึ่งเธอได้ร่วมแสดงผลงานหลายครั้ง ในช่วงเวลาระหว่างสงคราม ศิลปินหญิงผู้ฝึกฝนเรียนรู้การวาดภาพด้วยตนเองนี้เปรียบเสมือนตัวกระตุ้นชั้นเลิศ ท่ามกลางศิลปินใหญ่ของยุคนี้
สิ่งที่อยู่ในงานของฟินีมิใช่ความเข้าใจแต่คือการมองเห็น ศิลปินเลือกใช้วัตถุดิบของศิลปะแฟนตาสติกที่มีมาตลอดสองศตวรรษอย่างเสรี สิ่งที่ปรากฏในภาพไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นร่างของสิ่งเหนือธรรมชาติ สาวพรหมจรรย์ หนุ่มสาว ผู้ไร้เพศ ผู้หลงใหลความงามของตนเอง แม่มด สามเทพธิดาฟิวรีส์ งูทะเลและตัวละครอื่น ๆ ในคลังแห่งเทพปกรณัมและเทพนิยาย ฟินีนำตัวละครเหล่านี้มาเรียงร้อยด้วยรูปแบบวิธีการอันน่าทึ่ง ทั้งยังยึดหลักการพื้นฐานของจิตวิทยาเกสตาลต์อย่างมั่นคงคือภาพรวมย่อมเป็นมากกว่าแค่การนำแต่ละส่วนมารวมกัน รูปทรงซึ่งเมื่อมองดูอาจแข็งทื่อปราศจากชีวิตชีวา แต่เมื่อนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ย่อมให้ผลลัพธ์ที่เต็มไปด้วยสิ่งอัศจรรย์ ความเร้นลับในภาพของฟินีมาจากวิธีการใช้แสงที่คลุมเครือ กระจัดกระจาย ทุกสิ่งเหมือนจมในห้วงแห่งความสลัวเลือนราง โลกที่อยู่ระหว่างกลางได้เปิดออกเชื้อเชิญให้ผู้ชมเปิดฉากการสำรวจอันแสนท้าทาย (วอลเตอร์ ชูเรียน. 2552 : 54)
ภาพที่ 1 ลิโอเนอร์ ฟินี Leonor Fini (1908 – 1996) ภาพที่ 2 L’Entracte de L’Apotheose,
ผลงานของศิลปิน
บัลธัสเป็บุตรของนักประวัติศาสตร์ศิลป์และจิตรกร แอริก คลอสโซวสกี และจิตรกรหญิงอลิซาเบธ โดโรธี สไปโช บัลธัสประกาศตนเป็นผู้มองโลกด้วยสายตาเยาว์วัยเสมอและคัดค้านการตี ความจากภาพภาพวาดทุกภาพของเขา เขาปรารถนาจะเห็นภาพเหล่านั้นถูกมองในฐานะเป็นภาพหุ่นนิ่ง และพร้อมที่จะยอมรับว่าภาพของเขาเป็นภาพของโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน ภาพวาดของบัลธัสยืนยันว่าเป้าหมายคือความงาม มีรูปแบบและเนื้อหาที่จำกัดอยู่เพียงไม่กี่หัวข้อ ซึ่งหมายถึงความทรงจำย้อนหลังไปเมื่อครั้งที่เขายังมีอายุเพียงสิบปี และเริ่มใช้หมึกวาดภาพแมวตัวหนึ่งที่เดินเข้ามาหาและจากไปภาพของบัลธัสคือห้องเก็บสมบัติประดามีที่ผู้ชมก้าวเข้าไปด้วยความพะวักพะวง พลางกวาดสายตามองไปรอบ ๆ เพื่อหาเงื่อนงำที่มั่นคงพอ พอจะยึดเหนี่ยวได้ ด้วยความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนแปลกหน้าเป็นผู้บุกรุก คนที่เห็นในภาพ การเคลื่อนไหวของเธอราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่น ปราศจากเวลา และสถานที่ ปราศจากการรับรู้ถึงความมีอยู่ของสิ่งแวดล้อม ตกอยู่ในห้วงความฝัน จมอยู่กับตัวเอง สนทนากับแมวหรือรูเงาของตัวเองในกระจก แม้อยู่ในภวังค์ฝัน สาวน้อยร่างเปลือยเปล่าก็ตระหนักถึงเสน่ห์ของตน บัลธัสต้องการให้ผู้ชมรู้สึกว่าตนเองกำลังถ้ำมองหญิงสาว เช่น ภาพ Nude Before a Mirror
บัลธัส Balthus (1908 – 2001)
บัลธัสชอบวาดภาพเด็กผู้หญิง ภาพความเหม่อลอยตกอยู่ในความฝัน การทอดอารมณ์ การหลับ มักเป็นภาพเปลือยหรือเกือบเปลือย ซึ่งหญิงสาวในภาพอาจเป็น “นางฟ้า” หรือ “โลลิต้า” สาวน้อยผู้เย้ายวน ย่อมขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ชม
บัลธัสไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากสถาบันใด ยึดเอาจิตรกรเรเนสซองส์ยุคต้นอย่าง ปิเอโร เดลลา ฟรานเชสกา และจิตรกรสัจนิยม กุสตาฟ คูร์เบต์เป็นแบบอย่าง บัลธัสแต่งเติมบรรยากาศของความฝันเข้าไปในรูปแบบพื้น ๆ ความขัดแย้ง ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบที่เป็นร่างคนในภาพกับบรรยากาศหม่นมัว แฝงความรู้สึกเหมือนถูกครอบงำด้วยพลังชั่วร้าย (วอลเตอร์ ชูเรียน. 2552 : 72)
ข้าพเจ้าสนใจผลงานของลิโอเนอร์ ฟินี ในเรื่องของการใช้วัตถุดิบทางศิลปะจากคลังแห่งเทพปกรณัม เทพธิดา สัตว์แปลกประหลาด มาเรียบเรียงเนื้อหาขึ้นใหม่ ผสมผสานจนเกิดภาพที่ชวนให้เปิดโลกแห่งจินตนาการอันไร้ขอบเขต ขณะเดียวกันได้เชื่อมโยงอดีตเข้ากับโลกปัจจุบันจนยากที่จะแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นความจริง สิ่งไหนเป็นภาพลวงตา เมื่อมองผลงานของลิโอเนอร์ เหมือนคลับคล้ายคลับคลาว่าภาพเหล่านี้เป็นความฝัน แต่สามารถแทงทะลุถึงห้วงลึกของกิเลสตัณหาและความปรารถนาอันลี้ลับ
ส่วนผลงานของบัลธัส สิ่งที่โดดเด่นคือการใช้ผู้หญิงเป็นองค์ประกอบหลักในอธิยาบถที่กำลังตกอยู่ในภวังค์ แต่ในเวลาเดียวกันบัลธัสทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองกำลังล่วงล้ำเข้าไปเขตหวงห้ามลับเฉพาะและกำลังแอบดูหญิงสาวโดยที่ไม่รู้ตัว มีเส้นกั้นอย่างบางเบาระหว่างผู้แอบมองกับผู้มอง และนั่นคือเสน่ห์และความเย้ายวนในภาพของบัลธัส การสัมผัสช่องว่างระหว่างความรู้สึกประหนึ่งว่าเขตหวงห้ามนั้นกำลังถูกเปิดออก ขณะเดียวกันภาพของบัลธัสจะไม่บ่งบอกเวลา ไม่มีทางเข้าและทางออก เป็นหน้าที่ของผู้ดูที่จะค้นหาประตูนั้นเอง ความรู้สึกลักษณะนี้ตรงกับวัตถุประสงค์ของข้าพเจ้าที่ต้องการให้ผลงานไม่มีกำหนดเวลาและสถานที่ที่ชัดเจน
แนวความคิดการสร้างสรรค์ผลงาน
ข้าพเจ้าต้องการแสดงออกถึงความงดงามในมุมมองของความเป็นผู้หญิงที่มีหลากหลายอารมณ์ โดยการบันทึกเรื่องราวในจิตนาการ ผ่านความคิดฝัน สัญชาติญาณ ความรัก ความมีเสน่ห์เย้ายวน จารีตและสังคม อันผูกพันกับวิถีการดำเนินชีวิต ด้วยการใช้สัญลักษณ์ลวดลายศิลปะโบราณจากโลกตะวันออก (Oriental Cultures) ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพจิตกรรมฝาผนัง เครื่องประดับ ผ้าทอมือ งาน Folk Art งาน Craft ของไทย อินเดีย อินโดนีเซีย จีน อัฟฟริกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณเดิมที่เก่าแก่ ผสมผสานกับภาพผู้หญิงซึ่งเป็นตัวแทนความนึกคิดของจิตวิญญาณ ในยุคสมัยปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้ผ้าที่ผลิตขึ้นใช้ในปัจจุบัน ซึ่งลวดลายและสีสันที่หลากหลายเป็นตัวเชื่อมโยง ข้าพเจ้ามีความรู้สึกธรรมชาติของมนุษย์มักอยากไปท่องเที่ยวในดินแดนที่ลี้ลับภูมิทัศน์แปลกตา ยิ่งไม่มีในประเทศที่ตัวเองอยู่ ยิ่งทำให้น่าสนใจ ดินแดนที่ไปยากน้อยคนที่จะได้ไปเห็น เขตหวงห้าม ดินแดนที่มีคนบอกเล่าต่อกันมา ดินแดนในฝันแต่มนต์ขลังของดินแดนเหล่านี้กำลังถูกนักบริโภคกลืนกิน มนุษย์พิชิตดินแดนอันแสนยากลำบากด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เอาชนะกำราบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จนแทบจะไม่มีที่ใด ในโลกที่ไม่มีมนุษย์เดินทางไปถึง เหลือเพียงบันทึกของภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพพิมพ์ทิวทัศน์ที่เคยบันทึกช่วงขณะอันงดงามเอาไว้ภาพที่ 5 ภาพจิตรกรรมไทยวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี
ภาพทิวทัศน์ของจีนโบราณ ภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย อินเดีย จีน เป็นการบันทึกผ่านมุมมองสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีตภาพผู้คน ต้นไม้ ภูเขา สะพาน ทะเล ท้องฟ้า กลุ่มดอกไม้ สัตว์และแมลงต่าง ๆ ความสงบงันของผู้คน วิถีชีวิตที่คละเคล้ากับธรรมชาติ ความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย กลายเป็นภาพที่ดูห่างไกล เพ้อฝัน น่าสนเท่ห์ ขณะเดียวกันธรรมชาติมิใช่สิ่งที่คงอยู่โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลง แต่คือตัวกระตุ้นแรกสุดที่ก่อให้เกิดงานศิลปะ การเลือกสะท้อนภาพสิ่งแวดล้อมอันเป็นสิ่งที่ห่างหาย คือผู้ที่หวนคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมตั้งคำถามอย่างจริงจัง ตรวจสอบ และพยายามสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ผ่านการเขียนรูปแบบต่าง ๆ การนำเสนอภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบ โดยใช้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายที่ได้จากสื่อต่าง ๆ และการร่างภาพ เกิดกระบวนการแปลงภาพเหล่านั้นไปจากเดิม กลายเป็นภาพที่เกิดจากสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ใช้การมองปราศจากการกำหนดกรอบความคิดล่วงหน้า และเป็นอิสระจากแบบแผนทางศิลปะเดิม ๆ เพราะทัศนศิลป์คือการรวบรวมและแสดงออกซึ่งสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำ ความคิด และสิ่งที่อยู่ระหว่างกลาง (วอเตอร์ ชูเรียน. 2552 : ปีเตอร์ ดูอิก 94)
วิธีการดำเนินงานสร้างสรรค์
การดำเนินงานสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสื่อผสม เริ่มจากแนวความคิดแรงบันดาลใจการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทางสร้างสรรค์ การรวบรวมความคิด การหาวัสดุ การพัฒนาภาพร่างและการขยายผลงานจริงตามกระบวนการการวางแผนการดำเนินงาน
1. ศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือ วารสาร นิตยสาร ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปรัชญา ศาสนาพุทธ เช่นวัชรยาน บทกวีไฮกุ ดนตรี ชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมวัฒนธรรม วิถีธรรมชาติของเอเชียโบราณ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและประมวลความคิดให้เชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาที่ทำ
2. ศึกษาข้อมูลจากงานจิตรกรรมโบราณของไทย อินเดีย อินโดนีเซีย งาน Craft ที่ได้จากลวด
ลายจากผ้าทอมือ ลวดลายจากเครื่องประดับเงินของชาวเขาในจีน สัตว์ในเทพนิยายโบราณ นิทานปรัมปรา พญานาค สัตว์ในป่าหิมพานต์ ภาพเขียนในไตรภูมิ
3. เลือกผ้าลวดลายต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นตัวพื้นภาพแทนผ้าใบ และเป็นตัวกำหนดโครงสีและลวดลายของผลงาน
4. เลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย เช่น ลูกปัดหลากสี เชือกสี เชือกลาย วัสดุตกแต่ง
5. สร้างภาพโดยขึ้นโครงเป็นภาพรวม วางองค์ประกอบให้เหมาะสม โดยใช้ผู้หญิงเป็นส่วน
หนึ่งของภาพ หรือใช้ภาพสัญลักษณ์โบราณ เช่น พญานาค ปลา หยิน – หยาง
6. สร้างผลงานจริง โดยการระบายสีทับลงไปบนผืนผ้า ลางตาให้มีระยะใกล้ไกล ด้วยการเขียน
ขึ้นใหม่ให้ดูเหมือนลวดลายผ้าอยู่ข้างหน้า ตัวคนหรือสัตว์อยู่ระหว่างกลางของภาพเย็บติดวัสดุ ปักปะติดลูกปัดเพื่อให้เกิดพื้นผิว
อุปกรณ์และวัสดุในการสร้างงาน
ภาพที่ 5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานสิ่งประดิษฐ์
การสร้างสรรค์ผลงาน
ผลงานชิ้นที่ 1ชื่อผลงาน “Love at Sundown”
เป็นผลงานจิตรกรรมสื่อผสมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก โดยจินตนาการถึงพญานาค 2 ตนที่เป็นคู่รักออกมาพลอดรักตอนช่วงพระอาทิตย์ตก เป็นช่วงมิติที่ซ้อนกันระหว่างโลกโบราณกับโลกปัจจุบัน ทิวทัศน์ต้นมะพร้าวมาจากลวดลายผ้าที่ผลิตขึ้นใหม่ มีการซ้ำเป็นระยะ เนื่องจากลวดลายผ้าจะมีสีที่เป็นมิติเดียวคือสีเขียวอมฟ้า จึงระบายสีทับลงไปให้มีหลายบรรยากาศของช่วงวันด้วยสีม่วง, น้ำเงิน, เขียวสด, เหลืองสด เพื่อผลักระยะของภาพ แล้วทำให้เกิดการผิดเพี้ยนไปจากลวดลายเดิม แต่งเติมด้วยภาพดวงอาทิตย์กำลังตก ปลาโบราณจากภาพจิตรกรรมไทยในวัดคงคา พญานาคจากอินโดนีเซีย ตกแต่งด้วยลูกปัด วัสดุ เพื่อสร้างพื้นผิวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าโลก ปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ความรักก็ไม่เคยเปลี่ยน มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับพญานาคที่มีอายุยืนยาวนับพันปี ความรักในอดีตหรือปัจจุบันก็เป็นแบบเดียวกันและจะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ
ภาพที่ 6 ภาพผลงาน “Love at Sundown”
Mix-Media, 31.5” x 27.5”
การสร้างสรรค์ผลงาน
ผลงานชิ้นที่ 2ชื่อผลงาน “Wings”
เป็นผลงานจิตรกรรมสื่อผสม มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสามัคคีของคนในชาติ โดยใช้นกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอิสระบินรวมกลุ่มไปพร้อม ๆ กันอย่างมีระเบียบ จำนวนของนกเมื่อรวมกันก่อให้เกิดพลัง การหันไปทิศทางเดียวกันแสดงถึงความมุ่งมั่นและความหวัง ในภาพร่างข้าพเจ้าจะให้กลุ่มนกบินฝ่าเมฆ 1 ใน 3 ของภาพช่วงบน ช่วงกลางจะเป็นเกลียวคลื่นที่ต้องฝ่าไป โดยเมฆและคลื่นได้รูปทรงมาจากจิตรกรรมไทยฝาผนังวัดคงคาราม ช่วงล่างสุดเป็นกลุ่มดาว ซึ่งแทนสัญลักษณ์ถึงจุดมุ่งหมายและความสำเร็จเมื่อระยะภาพผลงานลงบนผ้าลายเสือสีน้ำเงินที่มีน้ำหนักเข้มและเหลืองขาว ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนมุมผ้าให้ลายวิ่งตามแนวยาว ส่วนตัวนกใช้วิธีตัดเส้นด้วยโทนสีอ่อนเหลือง เพื่อให้ลายเส้นตัดรูปทรงนกให้เห็นชัดเจน และทางหัวนกจะสลับสีและเหลือบให้มีระยะอ่อนแก่เพื่อทำให้เกิดความนุ่มนวลและกลมกลืนกับเนื้อผ้าสีน้ำเงินเข้มดาวที่อยู่ล่างสุดให้สีเขียวตัดเส้น เพื่อแยกสัดส่วนระหว่างนกและพื้นหลัง
ภาพที่ 7 ภาพผลงาน “Wing”
Mix-Media, 33.1” x 23.4”
การสร้างสรรค์ผลงาน
ผลงานชิ้นที่ 3ชื่อผลงาน “Soul mate”
ผลงานจิตรกรรมสื่อผสมที่แสดงถึงคู่รักริมทะเล เป็นช่วงเวลาในโลกปัจจุบัน ขณะที่คู่รักนี้กำลังดื่มด่ำอยู่ในห้วงอารมณ์ คู่รักอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบตัวต่างมิติ ได้แก่ พญานาค ปลาโบราณก็แหวกว่ายผุดขึ้นมาสลายกาลเวลาปัจจุบัน ให้กลายเป็นเวลาสากล สิ่งมีชีวิตในภาพกำลังดื่มด่ำกับสภาวะของตน ไม่มีอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต แต่เป็นห้วงเวลาอันไร้ขอบเขต ข้าพเจ้าใช้ผืนผ้าที่เป็นลายเรขาคณิตเป็นพื้นหลัง ลวดลายที่เหลื่อมกันต้องการแสดงถึงภาวะที่กำลังสั่นไหวอยู่น้อย ๆ คล้ายกับคลื่นเล็ก ๆ ที่กำลังกระทบกันอยู่ ภาพชายหนุ่มหญิงสาวได้มาจากภาพโฆษณาขาวดำ ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกสนใจกับการจัดวางท่าทาง สะท้อนภาพคู่รักในโลกปัจจุบัน พญานาคและปลาโบราณได้มาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดคงคาราม ข้าพเจ้าต้องการผสมผสานเวลาปัจจุบัน กับเวลาในอดีตเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยใช้ลวดลายผ้าเป็นตัวประสาน ไม่มีจุดจบในภาพ ไม่มีช่วงเวลาที่ชัดเจน มีการปักลูกปัดเพื่อเพิ่มพื้นผิวความระยิบระยับบนตัวพญานาค ปลา เพื่อแสดงถึงความลี้ลับและความมลังเมลืองจากเทพนิยายโบราณ
ภาพที่ 8 ภาพผลงาน “Soul mate ”
Mix-Media, 24.8” x 24.8”
การสร้างสรรค์ผลงาน
ผลงานชิ้นที่ 4ชื่อผลงาน “Summer grasses”
ผลงานจิตรกรรมสื่อผสมคู่รักริมทุ่งหญ้า เป็นภาพหญิงสาวที่กำลังโน้มตัวเข้าหาชายคนรัก แต่จะไม่เห็นใบหน้าของชายหนุ่มถูกกลืนด้วยใบหญ้าที่ขึ้นระเกะระกะ จุดเด่นจะอยู่บนภาพใบหน้าของหญิงสาวที่ชัดเจนที่สุดในภาพ โดยข้าพเจ้าเลือกลายผ้าที่มีรูปทรงกลมต่อกระจายไปทั้งภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด ไตรภูมิ พื้นหลังที่เป็นวงกลมสีเทาล้อไปกับล้อรถจักรยานที่จอดวางอยู่ข้าง ๆ หญิงสาว เปรียบเสมือนเหตุการณ์เหล่านี้ต่างเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีวันจบ ในวงกลมสีเทาเขียนภาพจากไตรภูมิเป็นรูปวัว นก ใช้ลูกปัดหลากสีเย็บติดลงไปตามใบไม้ดอกไม้ เพิ่มความสว่างของภาพ แสดงถึงชีวิตที่กำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า พร้อมกับชีวิตอื่น ๆ ที่กำลังหมุนเวียนไปตามวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น
ภาพที่ 9 ภาพผลงาน “ Summer grasses”
Mix-Media, 24” x 28”
การสร้างสรรค์ผลงาน
ผลงานชิ้นที่ 5ชื่อผลงาน “The Green forest ”
ผลงานจิตรกรรมสื่อผสมชิ้นนี้ วางองค์ประกอบให้ญิงสาวในโลกปัจจุบัน กำลังนั่งเล่นอยู่ในป่าสีเขียว พื้นหลังของภาพเป็นผ้าที่เลียนแบบลวดลายผ้าม่านโบราณของยุโรป เป็นภาพคู่รักกำลังพรอดรักในป่า ข้าพเจ้าวางตำแหน่งให้หญิงสาวในภาพนั่งเหลือบตามองคนดู ขณะที่ล้อมรอบตัวไปด้วยคู่รักในชุดโบราณมีอริยาบถต่าง ๆ ยืน นั่ง มีหญิงเปลือยนอนหลับอยู่ แทรกด้วยภาพคู่รักสิงห์โตที่กำลังนอนพักผ่อน คู่รัก สิงห์โต หญิงสาวอยู่ในภาพเดียวกันแต่ถูกกำกับด้วยมิติของเวลา ชีวิตของแต่ละสิ่งกำลังดำเนินไปตามวิถีทางของตน มีจุดร่วมและจุดแตกต่าง มีการปักลูกปัดไม้และลูกปัดหลากสีเพิ่มพื้นผิวสัมผัส และแสดงความเหลื่อมของเวลา
ภาพที่ 9 ภาพผลงาน “The Green forest ”
Mix-Media, 28” x 34.8”
การวิเคราะห์ผลงานสร้างสรรค์
ผลงานชุด “ลมตะวันออก” เป็นการพัฒนาแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของข้าพเจ้าในช่วงระยะเวลา 2550 – 2553 ซึ่งเป็นช่วงการทดลอง ค้นหาแนวทางในการผสมผสานเทคนิค การใช้ผ้าที่มีลวดลายแทนการใช้ผ้าใบ กับการใช้วัสดุตกแต่งจากอุปกรณ์เย็บปักถึกร้อยร่วมกับเทคนิควิธีการสื่อผสม (Mixed Media) ในการถ่ายทอดทางทัศนศิลป์ ผลงานชุดนี้เป็นจิตรกรรมสื่อผสมสองมิติ การวิเคราะห์ผลงานจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความคิด เทคนิควิธีการ และรูปแบบในการนำเสนอ โดยมีรายละเอียดของการใช้ทัศนธาตุและองค์ประกอบของผลงานดังนี้การวิเคราะห์ทัศนธาตุ
1. พื้นภาพ ข้าพเจ้าใช้ผ้าฝ้ายที่มีสีสันลวดลายเรขาคณิตลวดลาย Organic ที่มีการออกแบบมาแล้วแทนการใช้ผ้าใบ เพื่อให้เกิดผลในเรื่องภาพ และการเปิดกว้างต่อการสร้างจินตนาการ จึงต้องมีวิธีการเลือกชนิดของผ้า สี ลวดลาย เพื่อนำมาระบายสีทับและเย็บวัสดุติดลงไป1.1 เนื้อผ้าที่เลือกใช้ ควรเป็นผ้าฝ้ายที่มีเนื้อหนาแน่นพอสมควร ถ้าระบายสีลงไปบนผ้าที่บาง จะตัดขอบเส้นให้คมชัดและเขียนเป็นรูปร่างไม่ได้ ผ้าที่หนาพอจะทำให้การระบายทับสะดวก เนียน เขียนลวงตาได้ง่าย คล้ายคลึงกับกระดาษ จากการทดลองใช้ผ้ามาหลายชนิดพบว่าผ้าฝ้ายไทยมีพื้นผิวที่ระบายทับได้ดี ราคาโดยประมาณเมตรละ 80 – 150 บาท
1.2 สี โครงสร้างของสีผ้าฝ้ายไทยจะมีไม่มากนัก ไม่ซับซ้อน โครงสีค่อนข้างจำกัดหรือเป็นโทนสีที่ออกแบบอย่างประณีตซับซ้อน ข้อดีคือสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดทับซ้อนลงไปใหม่ได้ง่าย ข้อเสียคือโครงสีซ้ำ ๆ ไม่มีการผสมสีที่แปลกใหม่
1.3 ลวดลาย แบ่งเป็น 4 ประเภท
1.3.1 ลายดอกไม้
1.3.2 ลายเลขาคณิต
1.3.3 ลายเลียนแบบขนสัตว์
1.3.4 ลายผสม เลียนแบบผ้า Chin ผ้าม่าน พรมโบราณ สัดส่วนของคน ลวดลายพื้น ๆ ไม่ละเอียด แต่มีความ น่าสนใจคือความไม่สมบูรณ์ของลวดลาย สามารถนำมาต่อเติมเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในผลงานได้ง่าย
2. รูปทรง (Form)
รูปทรงในงานของข้าพเจ้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือรูปทรงของคน โดยจะเน้นผู้หญิงเป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกผ่านอิริยาบถต่าง ๆ จึงอาศัยภาพถ่ายผู้หญิงจากนิตยสารแฟชั่น เช่น Vouge, Barzar การโพสต์ท่าทาง เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ในห้วงคำนึงต่าง ๆ จากช่างภาพมืออาชีพ การวางจังหวะของร่างกาย ท่ายืน นั่ง เต้นรำ การมอง ที่มีการคัดสรรมาแล้ว แต่เนื่องจากนางแบบเป็นชาติตะวันตก จึงผสมใบหน้าและเกลารูปร่างให้เป็นเอเชีย นางแบบเหล่านี้มีรูปร่างหน้าที่ตาคัดสรรแล้ว มีการโพสต์ท่าอย่างเชี่ยวชาญ ดูเป็นการผสมผสานกับเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาจากดีไซเนอร์ภาพเหล่านี้จึงดูเสมือนเป็นภาพในอุดมคติไม่มีในชีวิตจริงหรือคนสามัญทั่วไป ภาพนางแบบเหล่านี้คือต้นแบบที่ข้าพเจ้านำมาใช้ในการเขียนภาพผู้หญิง ความสวยงามที่หาได้ยากในชีวิตจริงถูกนำมาใช้เหตุผลคือข้าพเจ้าให้เธอเหล่านั้นเป็นตัวแทนเหมือนสิ่งในอุดมคติที่มีน้อยมาก บอบบาง ชวนให้สงสัย ไม่ยั่งยืน เหมือนความเพ้อฝัน เป็นช่วงหนึ่งของกาลเวลาที่สั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการบันทึกช่วงเวลาที่ร่างกายจะงดงามที่สุด ณ เวลาหนึ่ง ดังที่เกอเต เคยกล่าวไว้ว่า ผู้หญิงสวยเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
รูปทรงที่ได้จากสัญลักษณ์ สัตว์ในเทพนิยายโบราณ ตำนาน นิทานปรัมปรา จินตนาการจากภาพเขียนไทย เช่น พญานาค ปลาโบราณ เสือ นก ผีเสื้อ วัว จระเข้ ม้า ผสมผสานกันระหว่างสัตว์ในธรรมชาติจริง ๆ กับสัตว์ในเทพนิยาย ทำให้เกิดความเร้นลับ และการรวมตัวกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
3. จังหวะ (Rhythm)
เนื่องจากการเลือกใช้ผ้าที่มีลวดลาย จังหวะของลวดลายและที่ว่างจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างโดยรวมของภาพ อารมณ์และบรรยากาศ เช่น ผ้าลายดอกไม้ให้ความรู้สึกนุ่มนวลต่อเนื่อง ผ้าลายเรขาคณิต ให้ความรู้สึกถึงความทันสมัย การลดทอนความเหมือนจริง จังหวะเล็กจะไม่มีผลกระทบมากจังหวะใหญ่จะชัดเจน เด่น จะต้องเลือกรูปทรงที่ไปกันได้ไม่ถูกข่มจนจมหายไป
4. เส้น (Line)
เส้นถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในผลงาน การตัดเส้นภาพคน สัตว์ เพื่อเน้นรูปทรงให้แยกออกจากพื้นหลัง เนื่องจากเป็นภาพแบบ 2 มิติ ไม่ได้เน้นการเขียนแบบเหมือนจริง เส้นจึงเป็นตัวตัดที่แยกองค์ประกอบทั้งหมดไม่ให้กลมกลืนเกินไป ช่วยเน้นให้ภาพมีระยะมากขึ้น การใช้วัสดุที่เป็นเส้น โลหะ ลูกปัด ติดลงไปเน้นเส้นด้วยวัสดุ
5. สี (Colour)
การใช้สีในผลงานชุดนี้ จะขึ้นอยู่กับพื้นภาพเดิมที่เป็นผ้าลวดลายต่าง ๆ การเขียนสีทับลงไป จึงต้องคำนึงถึงการเข้ากันของโครงสีโดยรวม เนื่องจากผ้าที่เลือกมาถูกออกแบบมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงผสมผสานสีในความคิดของข้าพเจ้าให้เข้ากับลวดลายผ้าเดิม แต่ถึงแม้จะใช้ลายผ้าที่ออกแบบมาแล้ว แต่ก็เป็นผ้าที่มีสีสัน ลวดลาย จังหวะ ใกล้เคียงกับเนื้อหาของภาพด้วย ข้าพเจ้ามักใช้ผ้าที่เป็นลวดลายดอกไม้กับลวดลายเรขาคณิต โดยโททนสีมืด เช่น น้ำเงินเข้ม เขียวเข้ม ใช้กับงานที่มีเนื้อหาเน้นความลี้ลับ ส่วนสีสว่าง เช่น พื้นขาว ลายตาราง ใช้กับงานที่แสดงความสดใส ความสุข
6. พื้นผิว (Texture)
พื้นผิวในงานของข้าพเจ้าเกิดจากการใช้วัสดุจริง เครื่องประดับ ลูกปัด โลหะ เชือก ปักปะติดลงไปในผลงาน เพื่อทำให้ผลงานเกิดพื้นผิวและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น มีการจัดวางเรียงวัสดุเหล่านี้ให้เกิดพื้นที่แปลกตา น่าสนใจขึ้น
การวิเคราะห์องค์ประกอบของผลงาน
การใช้ผ้าที่มีลวดลายแทนผ้าใบสีขาว มีวัตถุประสงค์ต้องการเปลี่ยนพื้นภาพเดิมที่เป็นสีขาว ให้มีกระบวนการถูกออกแบบมาแล้วส่วนหนึ่ง เสมือนเป็นโจทย์ที่จะจัดวางองค์ประกอบใหม่ การเลือกลวดลายผ้ามี 2 วิธีคือ ร่างภาพตัวงานไว้แล้ว ไปเลือกลายผ้าให้ใกล้เคียงกับภาพร่างหรือเลือกลวดลายผ้าตามความพอใจ โดยไม่มีภาพร่างเป็นตัวนำ แล้วใช้ลวดลายผ้าเหล่านั้นเป็นตัวขึ้นรูปว่าจะจินตนาการต่อเป็นภาพอย่างไร ข้าพเจ้าจะใช้ทั้ง 2 วิธีนี้เวลาเลือกลวดลายผ้าจะไม่ทั้งลวดลายผ้าที่คิดไว้ในใจว่าอยากได้ลวดลายลักษณะใด กับเลือกลวดลายผ้าตามความพอใจ มีความแปลกตา ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรต่อ ทราบแต่ว่าน่าสนใจ เพื่อป้องกันความเคยชินที่จะเลือกลวดลายซ้ำ ๆ กันเมื่อขึ้นโครงสร้างหลักของภาพแล้ว สถานที่จะเป็นองค์ประกอบที่ 2 โดยเชื่อมโยงกับลวดลายผ้า ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของภาพว่าจะทำเรื่องอะไร เช่น ในป่า สวนดอกไม้ ริมน้ำ ทะเล เป็นต้น ข้าพเจ้าจะใช้ลวดลายผ้าเป็นตัวแสดงสถานที่ที่ไม่มีอยู่ในโลกของความจริง เป็นรอยต่อคาบเกี่ยวระหว่างโลกปัจจุบันกับโลกในอดีตอันไกลโพ้น เป็นสถานที่ที่เกิดจากการผสมผสาน ไม่มีในโลกของความเป็นจริง ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบในภาพ