ความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art)


ความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ (Art)
ได้มีผู้ให้คำนิยามเกี่ยวกับความหมายของศิลปะไว้มากมาย ทั้งนักปรัชญา นักวิจารณ์ และนักศึกษาศิลปะ เนื่องจากศิลปะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ แสดงออกจากความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ จาก มโนภาพที่ได้จากความจริงหรือจากจินตนาการที่คิดฝันขึ้น โดยใช้ภาษาของศิลปะเป็นสื่อกลางให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจในอุดมการณ์นั้น งานศิลปะที่มีคุณค่าจึงสร้างสรรค์ขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ต้องใช้สติปัญญาอันสูงส่งจนเชื่อกันว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีสติปัญญาจนถึงขั้นที่สามารถจะแก้ปัญหาสร้างสรรค์งานศิลปะได้ ทำให้ผลงานมีวิวัฒนาการเจริญต่อเนื่องเป็นลำดับ
ความหมายของคำว่า “ศิลปะ” นั้นมีความหลากหลายตามการนิยามต่าง ๆ กันดังนี้
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2541 ให้คำจำกัดความว่า ศิลปะ หมายถึง ผลแห่งพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือ ความสะเทือนอารมณ์ ตามอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ หรือเพื่อสนองตอบขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หรือความเชื่อในลัทธิศาสนา
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวไว้ว่า ศิลปะ คือ งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ที่ต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดของศิลปิน
เกอเต (Goethe : 1749 – 1836) กวีชาวเยอรมัน กล่าวว่า “ศิลปะเป็นศิลปะได้ เพราะว่าศิลปะไม่ใช่ธรรมชาติ (Art is art only because it is not nature)”
เซอร์ เฮอร์เบิร์ท รีด (Sir Herbert Read, 1893 – 1968) กวี นักปรัชญา นักเขียน และนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ กล่าวว่า “ศิลปะจึงได้มีคำจำกัดความอย่างง่ายและเป็นธรรมดาที่สุด คือ พยายามที่จะสร้างสรรค์รูปลักษณ์ความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์นั้นก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกในความงามนั้น จะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อประสาทสัมผัสของเรารู้สึกชื่นชมในเอกภาพหรือความประสานกลมกลืนกัน ในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน”
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่นักปราชญ์ให้ความเห็นที่ตรงกันคือ ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Artifact) เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น ถึงธรรมชาติจะมีความสวยงามเพียงไรก็ไม่ใช่ศิลปะ เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ต่างๆ ป่าเขา ทะเล ทิวทัศน์ ฯลฯ อาจมีคุณค่าทางความงาม แต่เป็นเพียงปรากฎการณ์ธรรมชาติ
เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งทรัพยากรอันสำคัญของศิลปะ เป็นแหล่งกระตุ้นให้มนุษย์เกิดแรงดลใจในการสร้างสรรค์ศิลปวัตถุของมนุษย์ทุกแขนง เป็นแหล่งรวมความรู้สาขาต่าง ๆ ศิลปินเชื่อว่าธรรมชาติรอบตัวนั้น เป็นวัตถุแห่งความรื่นรมย์ยินดี (Objects of Delight) สร้างความเบิกบานให้แก่ตนเองและผู้อื่นนานัปการ ศิลปินจึงพยายามถ่ายทอดความรู้สึกต่าง ๆ ดังกล่าว บันทึกเป็นงานศิลปะ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ตามความสามารถและด้วยวัสดุที่เห็นว่าเหมาะสม หลักการทำงานของศิลปินในการทำงานศิลปะ จึงแตกต่างกันตามยุคสมัย เช่น สมัยหนึ่งเชื่อว่าศิลปะจะต้องเลียนแบบธรรมชาติ สร้างให้เหมือนธรรมชาติ ผลงานจะปรากฎเป็นเรื่องของธรรมชาติตามสิ่งที่ตาเห็นมากที่สุด ต่อมามีความเข้าใจว่า การเลียนแบบความเหมือนตามธรรมชาตินั้น ไม่มีความแน่นอน ไม่มีศิลปินคนใดสามารถถ่ายทอดความเหมือนนั้นได้ แนวโน้มการถ่ายทอดก็เปลี่ยนไป
ศิลปะเป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ รวมทั้งลักษณะความชำนาญของมนุษย์ ศิลปะจึงเป็นฝีมือทางการช่าง การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางเทคนิค ในการสร้างสรรค์และการแสดงออกของความคิดศิลปะจึงมีความหมายถึงการทำให้วิจิตรพิสดารต่าง ๆ รวมทั้งการใช้วัสดุและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ศิลปะในความหมายเฉพาะ
วิจิตรศิลป์ (Fine Arts หรือ Beaux’ Art) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้เรียกงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประเทืองปัญญาและอารมณ์ แยกออกจากประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) ซึ่งเป็นศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวโน้มที่จะไม่เรียกสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียวว่าศิลปะอีกต่อไป จะใช้คำว่า อุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยี หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์แทน แต่คำว่าประยุกตศิลป์ก็ยังคงใช้อยู่ตลอดมา เพื่อเรียกงานศิลปะที่ผสมประโยชน์ใช้สอยเข้าไปด้วย เช่น เครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งทอ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงศิลปะคำเดียว จะหมายถึงเฉพาะศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์เท่านั้น ส่วนงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นจะเรียกว่า ประยุกต์ศิลป์ หรือเรียกจำแนกออกไปตามสาขา เช่น อุตสาหกรรมศิลป์(Industrial Art) นิเทศศิลป์(communication Art) มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) เป็นต้น ซึ่งหมาย ความว่าได้ประยุกต์ศิลปะหรือสุนทรียภาพเข้าไปในงานอุตสาหกรรม งานสื่อสารมวลชน หรืองานตกแต่งบ้านเรือนแล้ว
การศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของงานศิลปะ
จากแนวโน้มการศึกษาในปัจจุบัน นักการศึกษาพยายามเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดรวบยอด (Concept) หมายถึง ความคิดที่มนุษย์ใช้เป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ ศึกษาทำความเข้าใจชีวิตสภาพแวดล้อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสรรพสิ่งรอบตัว หลักการอยู่ที่ความสามารถในการจำแนกและการจัดหมวดหมู่ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจตลอดชีวิต เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ทางสังคมและธรรมชาติต่าง ๆ ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้ปราศจากคิด เป็นอันตราย” การตระหนักถึงความสำคัญของความคิด และมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับวิชาที่ศึกษานั้นอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งจำเป็น การเน้นความรู้ทางความจำไม่เป็นการเพียงพอ ต้องรู้จักคิดหรือคิดเป็นด้วย การศึกษาในวิชานั้นจึงจะสมบูรณ์ โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นมาและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในลักษณะขององค์รวม (Holistic) เกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องราว รูปแบบ เหตุการณ์ แรงบันดาลใจ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้สามารถแยกแยะประเด็นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบศิลปกรรม โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ (อารี สุทธิพันธ์ 2531 : 29)
1. ต้นกำเนิด (Origin) การศึกษาเรื่องราวของศิลปกรรมต้องมีความเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นได้ย่อมมีรากฐานที่มา สิ่งนั้นเริ่มสร้างเมื่อไหร่ มีเหตุผลของลัทธิในการสร้างอย่างไร ใช้วัสดุอะไร มีเทคนิควิธีก่อสร้างอย่างไร มีรูปทรงแบบอย่างเป็นอย่างไร เป็นต้น
2. การวิวัฒนาการ (Evolution) เพื่อให้เข้าใจถึงการคลี่คลายหรือความเปลี่ยนแปลงของศิลปะแต่ละยุคสมัยว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรง หรือวิธีการในการสร้างสรรค์ศิลปะ ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความเจริญ หรือความเสื่อมของมนุษย์แต่ละยุคสมัย ย่อมทำให้ศิลปะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
3. การพัฒนา (Development) เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เกิดความก้าวหน้าทางศิลปะ ศิลปินจงใจนำเอารูปแบบวิธีการเดิมมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับวัสดุหรือประโยชน์ใช้สอยตามยุคนั้น ๆ หรือการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบและวิธีการให้ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงความเจริญทางศิลปะของมนุษย์ยุคหนึ่ง โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อนำวัตถุต่าง ๆ มาเปรียบเทียบ
4. อิทธิพล (Influence) เพื่อให้เข้าใจถึงการนำเอาแบบอย่างหรือเลียนแบบ ซึ่งมีอิทธิพลในการสร้างศิลปะ โดยปกติช่างสกุลหนึ่งหรือชนชาติหนึ่งย่อมมีวัฒนธรรมทางศิลปะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ หากแต่มนุษย์ได้ติดต่อสัมพันธ์กันโดยทางต่าง ๆ ทำให้รับเอาแบบอย่างศิลปะของชาติอื่นปะปนเข้าไว้ในงานศิลปะของตัว การรับอิทธิพลมี 2 ประการ คือ อิทธิพลที่มองเห็น (Visible Influence) ได้แก่ การลอกเลียนแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน และอิทธิพลที่มองไม่เห็น (Invisible Influence) ได้แก่ การที่ศิลปินเห็นความดีงามในการสร้างสรรค์งานของศิลปินสกุลอื่นหรือชาติอื่น แล้วกลั่นกรองเอาแบบอย่างผสมผสานลงในงานของตน ซึ่งอาจทำให้เกิดศิลปะแบบใหม่ขึ้น
5. การสืบเนื่อง (Transition) เพื่อให้รู้จักการสืบเนื่องและการถ่ายทอดศิลปกรรม เพราะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะรักษาศิลปะไว้มิให้สูญหาย การมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นมาของศิลปะแขนงต่าง ๆ ทำให้สามารถรักษาแบบอย่างและวิธีการสร้างศิลปะนั้นได้อย่างถูกต้อง เป็นการรักษามรดกทางสังคมของมนุษยชาติที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และเป็นมรดกสืบทอดไปในอนาคต
6. การประยุกต์ (Application) เพื่อให้รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นในปัจจุบัน และสนองธรรมชาติความต้องการสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ของมนุษย์ เมื่อได้ศึกษาจนเข้าใจรากฐานการวิวัฒนาการ การพัฒนาการ การรับอิทธิพล และได้ฝึกฝนฝีมือจนมีความชำนาญ สามารถประกอบงานได้ตามความนึกคิดของตนแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างสรรค์ศิลปกรรมใหม่โดยอาศัยความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น (จีรพันธ์ สมประสงค์ 2524 : 10 – 11)
จอห์น รัสกิน (John Ruskin) นักวิจารณ์และครูที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะของประวัติศาสตร์ศิลปะไว้ว่า ชาติที่ยิ่งใหญ่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ของชาติตนเป็นหนังสือได้ 3 เล่ม คือ หนังสือแห่งคำพูด หนังสือแห่งการกระทำ และหนังสือศิลปะ (Book of speech, Book of doing, Book of art) หนังสือทั้งสามเล่มนี้ เล่มแรกเป็นหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดี เล่มที่สองเป็นหนังสือเกี่ยวกับสงครามและเล่มที่สามเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ
หนังสือเกี่ยวกับศิลปะมีลักษณะเป็น 2 มิติ และ 3 มิติ มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากเล่มอื่น นอกจากนี้ยังเป็นรูปทรงกินเนื้อที่ในบริเวณว่าง (Volume in space) เปิดโอกาสให้ผู้พบเห็นแสดงความรู้สึกตอบสนองวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามภูมิหลังของตนอย่างเสรี โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่อาจมีบางกระแสที่มองว่าศิลปกรรมบางประเภทในอดีต สร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขและแวดวงอันเข้มงวดของศาสนา ได้รับการบัญญัติมาจากเบื้องบน หรือเป็นสุนทรียศาสตร์จากเบื้องบน (Aesthetic from above) ซึ่งผู้ดูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทั้งทางตรง คือ ขัดต่อผู้มีอำนาจ และทางอ้อมคือ ขัดต่อความเชื่อส่วนรวม จึงอาจกล่าวได้ว่างานศิลปกรรมวิพากษ์วิจารณ์ได้ยังมีข้อยกเว้น (อารี สุทธิพันธ์ 2532 : 47 – 48)
รูปแบบงานศิลปกรรม
รูปแบบงานศิลปะ หมายถึง ลักษณะเด่นที่มองเห็นในศิลปกรรมแขนงใดแขนงหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับความศรัทธาของมนุษย์ และเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับคุณค่าของวัสดุ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของมนุษย์นั้น มิได้เป็นไปในแนวทางหรือรูปแบบเดียวกันหมด มนุษย์มีความแตกต่างกับสัตว์อื่นอีกประการหนึ่งตรงที่รู้จักเลือกการกระทำ ทำให้แนวความคิด ทัศนคติ พื้นฐานประสบการณ์และเงื่อนไขอื่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นรูปแบบการถ่ายทอดศิลปะจึงปรากฏอย่างมากมาย และกฎเกณฑ์ทางศิลปะก็มิได้กำหนดแน่นอนตายตัวเหมือนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ อาจจะมีการตกลงร่วมกันในบางข้อ เพื่อตีกรอบแนวทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวกัน และถึงแม้ผลงานทางศิลปะจะมีแนวทางหรือรูปแบบมากมายก็ตาม ในบรรดางานที่แตกต่างเหล่านี้ สามารถที่จะแยกรูปแบบตามแนวทางการถ่ายทอดได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ดังนี้คือ
1. รูปแบบในลักษณะที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ (Realistic)
การถ่ายทอดลักษณะนี้ เป็นการถ่ายทอดโดยใช้สื่อรูปแบบตามธรรมชาติ เช่น ภาพคน สัตว์ ทิวทัศน์ ดอกไม้ ต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งผู้ดูส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้ด้วยเคยมีพื้นฐานประสบการณ์เกี่ยวกับรูปแบบเหล่านี้มาแล้ว ศิลปินอาจถ่ายทอดตามตาเห็น หรือนำเอาวัสดุมาจัดวางใหม่ ตามความคิดเห็นที่คิดว่าเหมาะสมโดยศิลปินมีโอกาสเลือกมุม การจัดวางรูปแบบ การตัดทอนบางส่วน นำมาแสดงเฉพาะบางส่วน ซึ่งศิลปะลักษณะนี้ดูเหมือนเลียนแบบธรรมชาติก็จริง แต่การเลียนแบบธรรมชาติของศิลปิน ไม่ใช่เป็นกระจกเงาที่ต้องสะท้อนทุกสิ่งตรงหน้าให้ปรากฏ ศิลปิน จะสอดแทรกความคิดเห็น ความรู้สึก ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญในการใช้สื่อเครื่องมือ เทคนิค วิธีการ ฯลฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในตัวศิลปิน ส่วนผู้ดูจะอาศัยประสบการณ์เดิมมาประกอบในการตีความ โดยการเปรียบเทียบว่าเหมือน คล้าย สวย ไม่เหมือน หรือสิ่งอื่น ๆ โดยนำเอาธรรมชาติมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ และศึกษาเทคนิค วิธีการ ซึ่งเป็นผลสะท้อนให้เกิดการเรียนรู้ในผลงานนั้น
2. รูปแบบในลักษณะกึ่งนามธรรม (Semi abstract)
เป็นการถ่ายทอดโดยให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติน้อยลง และเพิ่มความสำคัญที่ตัวบุคคลผู้สร้างศิลปกรรมมากขึ้น โดยรูปแบบของธรรมชาติที่นำมาเป็นสื่อนั้นถูกลด สกัด ตัดทอน การจัดวางมิได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ความเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยศิลปินตัดทอนเอารูปแบบจากธรรมชาติมาเป็นสื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน บางครั้งนำเอาลักษณะเด่นๆ ของธรรมชาติมาประกอบกัน จัดเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ เป็นการสะท้อนความรู้สึกภายในของศิลปินออกมา โดยอาศัยรูปแบบทางธรรมชาติเป็นสะพานมายังผู้ดู
ศิลปินต้องแสวงหาข้อมูลที่มีอยู่ในธรรมชาติ แล้วตัดทอนเอาแต่ลักษณะเด่น ๆ ของรูปแบบในธรรมชาติมาผูกเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ โดยมีการจัดวางตำแหน่งข้อมูล ซึ่งเรียกว่าการจัดองค์ประกอบ (Composition) การดูงานศิลปะกึ่งนามธรรม ผู้ดูต้องสร้างจิตนาการขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลคือรูปแบบที่ปรากฎในผลงานส่วนจิตนาการจะตรงกับจุดประสงค์ของผู้สร้างหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะงานศิลปะให้อิสระในความคิดแก่ผู้ดู สุนทรียรสที่ผู้ดูจำได้คือ จินตนาการของตนเอง โดยอาศัยศิลปกรรม เป็นแรงผลักดัน และอาศัยข้อมูลอื่น เช่น การตั้งชื่อภาพ ซึ่งเป็นการสรุปครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมดภายในชื่อนั้น การอธิบายเป็นข้อความ เทคนิคกรรมวิธีในการสร้าง เป็นส่วนของการทำความเข้าใจในตัวของผู้สร้างงานศิลปกรรม
3. รูปแบบในลักษณะนามธรรม (Abstract)
เป็นการถ่ายทอดที่ผู้สร้างงานศิลปกรรมไม่คำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเลยแต่จะคำนึงถึงรูปแบบอันเป็นลักษณะที่ตนจะต้องแก้ปัญหา ให้สามารถนำมาใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองไปยังผู้ดู โดยมีกฎเกณฑ์ทางศิลปะเป็นแนวประกอบในการสร้างงาน (ทัศนธาตุ ได้แก่ เส้น สี พื้นผิว รูปทรง น้ำหนัก) ความชำนาญในการถ่ายทอด ความสามารถในการใช้สื่อวัสดุ ทักษะและความชำนาญในด้านเทคนิควิธีการ สื่อที่ใช้เป็นตัวกลางการถ่ายทอดความรู้สึกภายในไม่มีการจำกัด จึงมีอิสระในการค้นหาวัสดุ อุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ มาดัดแปลงประยุกต์ ประกอบรวมกันออกมาเป็นผลงาน

การดูศิลปกรรมลักษณะนามธรรม ถ้าผู้ดูตั้งใจดูให้รู้ว่าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงอะไรที่เคยเห็นจากธรรมชาติ จะกล่าวว่าดูไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่สามารถใช้พื้นฐานประสบการณ์เดิมที่เคยพบเห็นธรรมชาติเข้ามาตีความ การดูศิลปกรรมประเภทนี้ไม่ควรติดอยู่ที่พยายามจะให้รู้ว่ารูปอะไร แต่เป็นการดูที่ใช้การตีความตามจินตนาการหรือความรู้สึกของผู้ดู เมื่อผู้สร้างไม่คำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ ผู้ดูก็ไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเช่นกัน เมื่อผู้สร้างใช้กฎเกณฑ์ทางศิลปะเป็นแนวทางประกอบ ผู้ดูก็ควรใช้กฎเกณฑ์ทางศิลปะเข้ามาประกอบการตีความเช่นกัน จึงอาจนับได้ว่าเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันทั้งผู้สร้างและ ผู้ดู
งานศิลปกรรมประเภทนามธรรมจัดว่าเป็นการเปิดโลกแห่งจินตนาการอย่างไร้ขอบเขตเป็นการเปิดกว้างในการตีความ ซึ่งจะเห็นพ้องต้องกันหรือแตกต่างกันนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในโลกแห่งจินตนาการเป็นอาณาจักรเฉพาะของแต่ละบุคคลโดยมีเงื่อนไขประสบการณ์เดิมเป็นฐาน แต่เพื่อความเข้าใจในตัวผู้สร้างถึงแนวคิดและแรงผลักดันในการสร้างผลงาน ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากชื่อภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้เบื้องต้นผู้ดูจะได้รับแรงกระตุ้นก่อให้เกิดเรื่องราวปรากฏขึ้นในความรู้สึกที่ออกมาในลักษณะตื้นลึก ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เวิ้งว้าง หนักแน่น ทึบ ตัน โปร่งใส ตื่นเต้น ยุ่งเหยิง สดใส หดหู่ เบิกบาน เศร้าสร้อย ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกที่ปรากฎเหล่านี้ไม่สามารถแปลค่าให้ออกมาเป็นรูปแบบธรรมชาติได้เลย สิ่งที่ได้ช่วงแรกจากการดูคือความเพลิดเพลินไปกับจินตนาการที่ไม่หยุดนิ่ง ลึกลงไปดูโดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับศิลปะ เช่น ดูลักษณะการจัดภาพ การใช้สื่อที่เหมาะสม การแสดงออกลักษณะเฉพาะของบุคคลเป็นแนวทางในการประกอบการประเมินตีค่าผลงาน (ประเสริฐ ศีลรัตนา 2525 : 25 – 33)


------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
จีรพันธ์ สมประสงค์. ประวัติศิลปะ. กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2524.
ชะลูด นิ่มเสมอ. องค์ประกอบของศิลปะ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2534
ประเสริฐ ศีลรัตนา. ความเข้าใจในศิลปะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2525.
สกนธ์ ภู่งามดี. ศิลปะเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสัมพันธ์, 2545.
สุชาติ เถาทอง. ศิลปะกับมนุษย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2532.
วิรุณ ตั้งเจริญ. ศิลปะร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิฌวลอาร์ต, 2527.
วิรัตน์ พิชญ์ไพบูลย์. ความเข้าใจศิลปะ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช, 2528.
วิรัตน์ พิชญ์ไพบูลย์. ศิลปนิยม 1. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2524.
อารี สุทธิพันธ์. ศิลปนิยม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กระดาษสา, 2528.
อารี สุทธิพันธ์. มนุษย์กับจินตนาการ. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์, 2532.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น