ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ

หออัครศิลปิน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ในหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา
ให้กับบุคลากรครูผู้สอนทางด้านจิตรกรรมจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ
จำนวนทั้งสิ้น ๘๐ คน
ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี



โดยมีอาจารย์ผู้เข้าร่วมอบรมและตัวแทนมหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ดนายา เชี่ยววัฒกี
อาจารย์อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์
อาจารย์หมวดวิชาพื้นฐานคณะฯ
คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต

ศิลปินแห่งชาติเปิดดวงตาครูศิลปะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่
เมื่อเป็นครูผู้สอนประจำวิชาศิลปะต้องขับเคลื่อนความคิดให้ทันยุคสมัยตลอดเวลา นอกจากพัฒนาตัวเองแล้ว ยังใช้องค์ความรู้สำหรับถ่ายทอดกับนักศึกษาด้านศิลปะ โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ในหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน 2553 ณ หออัครศิลปิน โดยเชิญศิลปินแห่งชาติมาแนะนำเทคนิคการสอนและวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะ จึงทำให้ครูศิลปะได้พบกับสุดยอดทางด้านศิลปะ ต้นแบบที่พวกเขาจะนำมาสร้างความมุ่งมั่นและเพื่อต่อยอดให้กับตัวเอง

สำหรับศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ด้านจิตรกรรมที่มาเสริมเขี้ยวเล็บครูสอนศิลปะครั้งนี้ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ, ดร.กมล ทัศนาญชลี, ดร.ถวัลย์ ดัชนี, ทวี รัชนีกร, ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, ดร.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วราชุน, ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก และ ศ.ปรีชา เถาทอง นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านทัศนศิลป์มาเสริมทีม ไม่ว่าจะเป็น ศ.วิโชค มุกดามณี, ปัญญา วิจินธนสาร, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ, สรรณรงค์ สิงหเสนีย์ ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านการวาดเส้น องค์ประกอบศิลป์ และวิธีการศิลปะเชิงสร้างสรรค์ เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงคับคั่งไปด้วยความรู้ที่แหลมคมน่าสนใจ รองรับด้วยประสบการณ์ที่ได้รับการศึกษาทดลองอย่างดี ครูผู้สอนด้านจิตรกรรมจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศไทย จำนวน 54 คนที่ร่วมอบรม สามารถนำไปต่อยอดสบายมาก

ดร.ถวัลย์ ดัชนี เป็นหนึ่งในทีมศิลปินแห่งชาติที่มาบรรยายทางด้านศิลปะให้แก่ครูศิลปะ พร้อมกับนำหนังสือศิลปะที่มีความพิเศษและหาดูได้ยากกว่า 40 เล่ม มีมูลค่าตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ซึ่งไม่มีตีพิมพ์ในท้องตลาด อาจารย์ถวัลย์บอกว่า รักหนังสือมากเก็บสะสมมานานกว่า 70 ปี นำมาให้ครูได้ศึกษาเพื่อเปิดโลกทัศน์ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและการเรียนการสอน ปรัชญาศิลปะที่อยู่ในหนังสือเหล่านี้จะงอกงามในหัวใจครูผู้สอนศิลปะ และสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้เป็นปรากฏต่อไป

"การเรียนรู้มีสี่วิธี ส่วนแรกพ่อแม่ ต่อไปจึงเป็นครูบาอาจารย์ ประสบการณ์ และส่วนที่สำคัญสุด เป็นการเรียนรู้จากตัวตนที่แท้จริง หรือจิตเดิมแท้ ซึ่งไม่มีใครสอนได้ การมาร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ ผมเป็นนักวาดรูป สอนด้วยสัญชาตญาณ ความรัก และหัวใจ เหมือนผมกำลังหายใจ ผมเห็นว่าครูที่ดีสอนให้น้อยที่สุด ควรปล่อยช่องว่างระหว่างกันให้ลมได้พัดผ่านบ้าง อยู่ด้วยกันเหมือนสายของพิณ แต่เล่นด้วยท่วงทำนองเดียวกัน" อาจารย์ถวัลย์ฝากถึงครูศิลปะ นอกจากนี้ยังมีการสะบัดพู่กันเขียนภาพให้ชมกันแบบใกล้ชิดเพื่อชักจูงครูเข้าสู่โลกของศิลปินแห่งชาติเจ้าของบ้านดำนางแลผู้นี้

แน่นอนว่าในกลุ่มศิลปินแห่งชาติ มีที่เป็นศิลปินอาจารย์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอาชีพสอนศิลปะและทำงานสร้างสรรค์ควบคู่กันไป ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งเป็นศิลปินอาจารย์ แนะนำครูศิลปะว่า ทั้งสองหน้าที่มีความสำคัญและมีเกียรติ จากประสบการณ์ที่สอนศิลปะมา 40 ปี ช่วงที่งานวิชาการหนัก งานสร้างสรรค์ส่วนตัวลดลง เพราะไม่มีสมาธิ แต่หากมีแค่การเรียนการสอนปกติสามารถทำงานศิลปะได้ จะทำยังไงให้ทำทั้งสองอย่างได้ดีและเสริมซึ่งกันและกัน หากเทียบเราเหมือนศิลปินมือสมัครเล่นเพราะทำงานพาร์ตไทม์ ต่างจากศิลปินมืออาชีพที่มีเวลาเต็มที่และมีสมาธิจดจ่อ แต่มองข้อดีการเป็นอาจารย์ทำให้ได้ศึกษาหาความรู้ให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ได้นำความรู้มาพัฒนาตัวเองและให้กับนิสิต นักศึกษา เหมือนอยู่ศูนย์กลางการสร้างสรรค์ ขอให้ครูศิลปะทำงานทั้งสองอย่างแบบสมดุลจะประสบผลสำเร็จ

การอบรมครั้งนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยภาคทฤษฎีที่เหล่าศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์เทคนิควิธีสอนให้ครูศิลปะได้ต่อทักษะ ส่วนในภาคปฏิบัติจะให้ครูผู้เข้าฝึกอบรมเขียนภาพในเนื้อหาความสามัคคีหรือการรักษ์สิ่งแวดล้อม คนละ 2 ภาพ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็น "อัครศิลปิน" และนำไปจัดแสดงนิทรรศการศิลปะต่อไป
ดนยา เชี่ยววัฒกี อาจารย์คณะศิลปะการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหนึ่งในครูศิลปะที่เข้าอบรม กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้รับฟังความรู้ที่กลั่นกรองจากศิลปินแห่งชาติ แต่ละท่านมีเคล็ดลับต่างๆ กัน ซึ่งเราสามารถต่อยอดทางความคิดได้ ในส่วนเวิร์กช็อปศิลปะตนน่าจะได้คิดค้น ทดลองเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มเติมจากความรู้ที่ได้รับ อาชีพครูต้องหมั่นขวนขวายหาความรู้ เห็นว่าวิถีอาจารย์กับศิลปินเกื้อกูลกัน มีการไหลเวียนทางความรู้ ต้องติดตามสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นตลอด เพื่อพัฒนาตัวเองและส่งต่อสู่เยาวชน เหมือนที่อาจารย์ถวัลย์กล่าวว่า เราให้ดวงตากับคนรุ่นใหม่เพื่อเขาจะเป็นเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะที่ดีและแพร่กระจายศิลปะในสังคมต่อไป





สำหรับโครงการ "ครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ" ไม่ใช่แค่การอบรมที่เข้มข้น แต่ยังมีการขยายผลโดยศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกครูศิลปะที่มีผลงานดีเด่นจำนวน 8 คน เพื่อเดินทางไปเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์และทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านศิลปะ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งผลผลิตจากโครงการฯ ที่สำคัญคือ การรวบรวมองค์ความรู้การฝึกอบรมของศิลปินแห่งชาติสำหรับเป็นคู่มือเสริมหลักสูตรในการเรียนการสอนวิชาศิลปะ




ครูศิลปะที่มีผลงานในระดับดีเด่น จำนวน 10 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์ และทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทางด้านศิลปะ พร้อมทั้ง workshop ในสถานที่สำคัญ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา


ในประเด็นนี้ ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์ความรู้ที่ครูได้รับจะเป็นฐานวิธีการสอนงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ครูได้นำกลับไปพัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงวิธีการเรียนการสอน นอกเหนือจากรับใช้การทำงานสร้างสรรค์ส่วนตัว เราคาดว่าครูจะได้รับความรู้ขั้นสูงจากการอบรม โดยเวิร์กช็อปตลอด 5 วัน เริ่มต้นด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยทฤษฎี เพื่อนำไปสู่การลดละเลิกทฤษฎี เหลือแต่ความครีเอทีฟเพียงอย่างเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น