ไขความลับ'โมนาลิซ่า


โดย : รวิกานต์ แก้วประสิทธิ์



งานแสดง "Mona Lisa Secrets Revealed" ซึ่งเป็นงานแสดงย่อยของนิทรรศการ "Da Vinci: An Exhibition of Genius" จัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยความลับ 25 สิ่งของรูปภาพโมนาลิซ่าที่วาดโดยจิตรกรเอกของโลก "ลีโอนาร์โด ดาวินชี่"

ผู้ที่ไขความลับคือ นายปาสกัล คอต อายุ 49 ปี วิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง "ลูเมียร์เทคโนโลยี" เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องมัลไทสเปกตรัล 240 เมกะพิกเซล โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลต ความ ยาวคลื่น 13 ตรวจสอบภาพ เพื่อหาว่าภายใต้สีน้ำมันนั้นมีอะไรซุกซ่อนอยู่



จากการซูมไปที่ตาข้างซ้ายของโมนาลิซ่าพบว่า ดาวินชี่ใช้เพียงฝีแปรงเดียวปัดที่บริเวณคิ้ว

คอต กล่าวว่า "ผมเป็นทั้งวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ผมเห็นว่าทุกอย่างนั้นมีเหตุผลตามหลักตรรกวิทยา แต่โมนาลิซ่าไม่มีตรรกวิทยา เพราะไม่มีคิ้ว ไม่มีขนตา แต่เมื่อใช้กล้องส่องดูจึงพบว่าโมนาลิซ่ามีขนคิ้ว 1 เส้น จึงเป็นการคลายปริศนาไปเปลาะหนึ่ง ส่วนใบหน้าของโมนาลิซ่าจริงๆ แล้วค่อนข้างจะกว้างกว่านี้เล็กน้อย มีรอยยิ้มที่กว้างกว่าแสดงอารมณ์มากกว่า เธอมีรอยยิ้มและดวงตาที่แปลก รอยยิ้มเหมือนเป็นยิ้มที่เน้นหนัก"

คอตยังกล่าวต่อไปอีกว่า รูปโมนาลิซ่าเป็นรูปแรกที่ศิลปินวาดภาพแขนและข้อมือขวาพาดมายังที่หน้าท้อง ซึ่งศิลปินต่างๆ ไม่ทราบว่าทำไมดาวินชี่ถึงวาดการวางแขนในลักษณะเช่นนี้ แต่เมื่อใช้กล้องตรวจสอบจึงพบว่า สีที่ดาวินชี่ใช้ที่หลังข้อมือด้านขวาตรงกันกับสีของผ้าบริเวณตัก จึงเป็นไปได้ว่า แขนข้างขวาและข้อมือช่วยถือผ้าขึ้นมา

นอกจากนี้ ดาวินชี่ยอดอัจฉริยะยังเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่ยังมีความลังเลใจ เพราะเมื่อส่องกล้องไปที่นิ้วของมือซ้ายพบว่า แต่แรกดาวินชี่วางตำแหน่งไว้อีกที่หนึ่ง แต่ภายหลังเปลี่ยนใจ



สำหรับความลับต่างๆ ที่เพิ่งค้นพบยังมี

มีการเปลี่ยนตำแหน่งนิ้วชี้ที่มือซ้ายและนิ้วกลาง

มีการซ่อมความเสียหายที่บริเวณข้อศอกซึ่งได้รับความเสียหายจากที่มีผู้ปาก้อนหินเข้าใส่เมื่อ ค.ศ.1956

นิ้วมือด้านซ้ายยังวาดไม่เสร็จ

รูปโมนาลิซ่าวาดลงบนไม้ป๊อปลาร์ที่ยังไม่ได้ตัดออกเป็นชิ้น

แผลบริเวณตัวมุมของตาและคางนั้นเกิดจากอุบัติเหตุของน้ำมันชักเงา ไม่ใช่เพราะโมนาลิซ่าป่วย

สีผิวของโมนาลิซ่ามีสีชมพูอุ่นๆ สีท้องฟ้าออกสีน้ำเงิน ซึ่งแตกต่างจากสีท้องฟ้าในบรรดารูปต่างๆ ที่ศิลปินสมัยนี้วาดที่มีสีเทาปนเขียว เนื่องจากสีของรูปเปลี่ยนแปลงเพราะมีความเก่าแก่ถึง 500 ปี

//////////////////////////////////////////

ไขความลับ “ยิ้มโมนาลิซา” ของ “ดาวินชี”
หน้าแรกวิทยาศาสตร์|วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ | คิดได้ไง !!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2547

"โมนาลิซา" มองมุมไหนก็ยิ้มได้แปลกๆ ทั้งเปี่ยมสุขและลึกลับ
--------------------------------------------------

นิวส์ไซแอนติส – กว่าหลายศตวรรษมาแล้วที่เหล่าศิลปิน นักประวัติศาสตร์ และนักท่องเที่ยวต่างเดินพาเหรดไปที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหวังไขปริศนารอยยิ้มอันลึกลับน่าฉงนของ “โมนา ลิซา” ผลงานชิ้นโบว์แดงของ “ลิโอนาโด ดาวินชี” และตอนนี้ 2 นักวิจัยทางด้านจักษุศาสตร์ก็เริ่มมองเห็นปริศนาบางอย่างจากภาพโมนาลิซา ว่าไฉนมองมุมไหนถึงยิ้มพิมพ์ใจไปเสียหมด

คริสโตเฟอร์ เทย์เลอร์ และลีโอนอยด์ คอนต์เซวิช แห่งสถาบันวิจัยทางจักษุสมิธ-แคตเทิลเวลล์ ในซานฟรานซิสโก เชื่อว่า เหตุที่โมนาลิซายิ้มโปรยปรายได้ขนาดนี้ก็เพราะ “นอยซ์” (noise) หรือมีสัญญาณรบกวนเกิดขึ้นในระบบการรับรู้ทางสายตาของผู้ที่มองภาพอันลือโลกชิ้นนี้

นักวิจัยทั้ง 2 ได้นำภาพวาดโมนาลิซาบันทึกลงคอมพิวเตอร์ แล้วสุ่มใส่นอยซ์ลงในภาพหลายๆ แบบ (นอยซ์ หรือ noise ที่หมายถึงสัญญาณรบกวน แต่ในภาพคือจุดสีเล็กที่เกิดขึ้นบนภาพ ทำให้ภาพไม่ชัด อย่างเช่นการดูโทรทัศน์ที่สัญญาณไม่ดีก็จะทำให้เห็นภาพเป็นจุดๆ นั่นคือ “นอยซ์”)

และเมื่อนักวิจัยทั้ง 2 สุ่มใส่นอยซ์ลงในภาพโมนาลิซาแล้ว ก็ให้ผู้สังเกตการณ์จำนวน 12 คนมาดูว่าหน้าตาโมนาจะเปลี๊ยนไป๋มากน้อยแค่ไหน



เมื่อเติม "นอยซ์" ลงไปบนภาพโมนาลิซา จุดสีรบกวนเหล่านี้จึงทำให้คนดูรับความรู้สึกของโม้นาแตกต่างกันออกไป
------------------------------


ทั้งนี้ ผลการพินิจดูภาพโมนาที่มีนอยซ์มาฉาบไว้นั้น ก็เป็นไปตามความคาดหมายของคริสโตเฟอร์และลีโอนอยด์ กล่าวคือ นอยซ์ส่วนที่อยู่ตรงมุมปากทำปากของโมนายกขึ้น จึงทำให้โมนาลิซามีใบหน้าเปื้อนยิ้มอิ่มเอมมีความสุข ส่วนนอยซ์อีกภาพหนึ่งที่อยู่บนปากของโมนากลับทำให้รูปปากแบนลง ภาพนี้เลยทำให้โมนาดูเศร้าสร้อย

อย่างไรก็ตาม จุดรบกวนหรือนอยซ์เหล่านี้ทำให้ผู้สังเกตการณ์ที่มาดูภาพโมนาลิซาที่เคยๆ เห็น เกิดการรับรู้ที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้อย่างน่าประหลาดใจ

เทย์เลอร์ เปิดเผยว่า ระบบการรับภาพในสมองของมนุษย์ทั่วไปนั้นจะเปลี่ยนไปตามสิ่งรบกวน และอย่างกรณีภาพโมนาลิซาฉาบนอยซ์คราวนี้ก็เช่นกัน เมื่อผู้มองมองเห็นภาพที่มีเม็ดสีเล็กๆ ไม่ชัดอยู่บนภาพ อนุภาคโฟตอนหรือหน่วยพลังงานของรังสีแสงที่จอตา (เรตินา) รับเข้ามาก็จะเป็นลักษณะแกว่งไปมา (นึกถึงตอนที่เรามองภาพเบลอๆ) จากนั้นเซลล์รับแสงที่จอตาก็จะอ่านค่าเม็ดสีที่มองเห็นผิดเพี้ยน และในที่สุดการรับรู้เม็ดสีที่ผิดเพี้ยนนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังเส้นประสาท และสมองในที่สุด

“สิ่งรบกวนโดยธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้คนทั่วไปมองภาพโมนาแล้วเห็นว่าภาพชิ้นนี้เปลี่ยนไป มากกว่าที่จะเห็นเหมือนแต่ก่อนว่าโมนามีการแสดงสีหน้าที่น่าสงสัยลึกลับ “นอยซ์” นี่ล่ะจึงทำให้ภาพวาดชิ้นนี้มีพลังจนถึงทุกวันนี้” เทย์เลอร์ เผย พร้อมกับแถมอีกว่า ที่ดาวินชีวาดโม้นาได้ออกมาจนลือลั่นโลกขนาดนี้ เพราะดาวินชีรู้ได้ด้วยสัญชาติญาณศิลปินของเขาแล้วว่า “นอยซ์” นี่ล่ะสามารถสร้างการรับรู้ของคนได้ต่างออกไป

ภาพ “โมนาลิซา” เป็นผลงานชิ้นเอกของลีโอนาโด ดาวินชี จิตรกรชาวอิตาเลียน (และยังเป็นนักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์) ดาวินชีวาดภาพชิ้นนี้ขึ้นในปี 1479 – 1528 โดยหญิงสาวในภาพคือ “ลา จิโอกอนดา ” (La Gioconda) ภรรยาของฟรานเซสโก เดล จิโอกอนดา เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนไม้ มีขนาด 77x53 เซนติเมตร ขณะนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส ในนาม “ลา โฌกงด์” (La Joconde)

โมนาลิซาในภาพเป็นภาพนั่งของผู้หญิงธรรมดาๆ ที่แต่งกายตามสมัยนิยมในแฟชั่นแบบฟลอเรนไทน์ ในอิตาลีเบื้อหลังเป็นภูเขา โดยดาวินชีได้ใช้เทคนิกภาพสีหม่น (sfumato) ให้ฉากหลังดูนุ่มเบา แต่ใช้โทนสีหนักกับตัวนางแบบ โมนาลิซามีสีหน้าที่แสดงออกมาอย่างน่าฉงน เพราะบางมุมก็รู้สึกถึงความมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ขณะที่บางมุมก็ให้ความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นภาพเหมือนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
เอกซเรย์ 'รอยยิ้มโมนาลิซา'


The X-ray technique can see the different layers without lifting a sample from the canvas
----------------------------------

วิทยาศาสตร์ได้เข้ามาช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับภาพเขียนโมนาลิซาอีกครั้ง แสงเอกซเรย์ได้เผยให้เห็นว่า ลีโอนาร์โด ดาวินชี ได้ประจงวาดให้ภาพเกิดแสงเงาที่เคลื่อนจากความสว่างสู่ความมืดอย่างไร้รอยต่อได้อย่างไร

ฟิลิป วอลแตร์ กับคณะ รายงานในวารสาร Angewandte Chemie ว่า เคล็ดลับนั้นอยู่ที่การใช้วัสดุเคลือบที่บางมากกับเม็ดสีที่เล็กละเอียดอย่างยิ่ง

นักวิจัยได้ศึกษาเทคนิคการวาดภาพที่ดาวินชี กับบรรดาจิตรกรในยุคเรอเนซองใช้ในการทำให้ภาพมีโทนของสีและความสว่างที่ไล่ระดับอย่างกลมกลืนทั่วผืนผ้าใบ

“ในภาพเขียนเหล่านี้ คุณจะไม่เห็นรอยฝีแปรงหรือรอยนิ้วมือเลย” ดร.โลรอง เดอ วีเกอรี นักวิจัยร่วมคณะอธิบาย “ทุกอย่างมีความละเอียดมาก ทุกสิ่งมีการผสมผสานให้เข้ากัน”

ทีมวิจัยได้ใช้อุปกรณ์แยกแสงสีที่อาศัยแสงเอกซเรย์ ฟลูออเรสเซนส์ เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบและความหนาของสีในแต่ละชั้น

คณะผู้ศึกษาได้ใช้เทคนิคนี้ตรวจสอบภาพวาดชิ้นเอกของดาวินชีรวม 7 ชิ้น ซึ่งเอกอัครมหาศิลปินแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการผู้นี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดเวลา 40 ปี

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบกรรมวิธีที่ดาวินชีใช้ในการสร้างแสงเงาที่ใบหน้าของโมนาลิซาและภาพอื่นๆ กรรมวิธีที่ว่านี้ก็คือ การใช้วัสดุเคลือบเงาเป็นชั้นๆ หรือสีที่มีความบางมาก รวมทั้งวัสดุยึดติด

สีที่ใช้วาดนั้นมีความบางแค่ 2-3 ไมโครเมตร ความหนาของชั้นสีเหล่านี้รวมกันมีไม่เกิน 30-40 ไมโครเมตร ทั้งนี้ 1 ไมโครเมตรเทียบเท่ากับ 1 ในพันของ 1 มิลลิเมตร

การศึกษานี้กระทำในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ลุฟร์ในกรุงปารีส อันเป็นที่เก็บรักษาภาพโมนาลิซา ทีมที่ศึกษาเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและฟื้นฟูบูรณะ พิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศส.

*****
บทความที่เกี่ยวข้อง :
--แรงบันดาลใจเพื่อการสร้างสรรค์
--สารจากพระเจ้า +ถอดรหัสอัจฉริยะ
--คิดให้เหมือนดาวินชี
--ภาพวาดที่ล้ำค่าที่สุดในโลก
--องค์ประกอบและประวัติศาสตร์การวิจารณ์ศิลปะ
--มนุษย์ เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้
--Leonardo Da Vinci ศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์
--ลีโอนาร์โด กับ โมนา ลิซา MONA LISA
--เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของดาวินชี
--โมนา ลาเต โมนาลิซาศตวรรษ 21 จากถ้วยกาแฟ
--แม่ : ภาพวาดของยอดอัจฉริยะ เลโอนาร์โดดา วินชี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น