เรื่องเล่าชาวล้านนาที่วัดภูมินทร์


นภสร ไชยคำภา

พระอุโบสถวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
-------------------------------

จิตรกรรมและประติมากรรมในวัดภูมินทร์สะท้อนเรื่องราวของชาวล้านนาที่เมืองน่าน

จังหวัดน่าน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อุดมด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและศาสนาในแถบล้านนาตะวันออก สะท้อนออกมาให้เห็นด้วยแหล่งธรรมะอย่างวัดวาอารามที่มีอยู่มากมาย ชาวล้านนาแต่เดิมมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและดำเนินชีวิตไปตามทางในหลักของพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของชาวเมืองน่านในวันนั้น เราสามารถรับรู้ได้ด้วยปลายพู่กันบนจิตรกรรมฝาผนังของ 'วัดภูมินทร์' ในวันนี้


'วัดภูมินทร์' ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญของจังหวัด ตามประวัติพงศาวดารเมืองน่านได้ระบุไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองเมืองน่าน สร้างหลังจากที่ครองเมืองได้ 6 ปี เมื่อพ.ศ.2139 แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า 'วัดพรหมมินทร์' ภายหลังได้เพี้ยนกลายเป็น 'วัดภูมินทร์' ในที่สุด


สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี้คือสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยมีอาคารหลักที่ใช้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน อาคารด้านทิศตะวันออก - ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารทิศเหนือ - ใต้ เป็นพระอุโบสถมีประตูเปิดได้ทั้ง 4 ทิศ และมีพระประธานองค์ใหญ่แบบสุโขทัย 4 องค์ มีชื่อเรียกว่า 'พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี' ซึ่งหันพระพักต์ไปยังประตูในแต่ละด้าน มีเจดีย์อยู่ตรงกลางเป็นหลักของเขาพระสุเมรุ แสดงถึงทั้ง 4 ทวีปตามความเชื่อพระไตรปิฎก


นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือ 'ฮูปแต้ม' ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่รอบพระอุโบสถ ภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวนิทานชาดกตามพระพุทธศาสนา เกี่ยวข้องกับเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญ ซ้ำยังสะท้อนเรื่องราวของความเป็นอยู่ท้องถิ่นของชาวน่าน วิถีชีวิต การเลือกคู่ครองของชาวไทลื้อในสมัยอดีตกาล โดยภาพที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามมากที่สุดในทั้งหมดนั้นคือภาพของปู่ม่าน ย่าม่าน คล้ายเป็นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวล้านนาในอดีต


'ปู่ม่าน-ย่าม่าน' ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่คล้ายเป็นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวล้านนาในอดีต
-----------------------------------


อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม นักวัฒนธรรมสายเลือดน่านได้เล่าว่า จิตกรรมฝาผนังที่อยู่ในวัดภูมินทร์เป็นภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวิถีชีวิตเก่าแก่ของคนเมืองน่าน อย่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจะเป็นภาพเขียนนิทานพระพุทธชาดก จันทกุมารชาดก ซึ่งแตกต่างจากที่วัดอื่นตรงที่ถึงแม้จะมีภาพวาดตามชาดก แต่ก็ได้อารมณ์การดำเนินชีวิตของคนเมืองน่าน ภาพวาดจากเรื่องพัทธณกุมารเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนล้านนาสมัยก่อนที่ว่า ผู้หญิงต้องทอผ้าเป็น หากทำไม่เป็นก็จะไม่มีใครเลือกไปออกเรือน หรือการที่บุรุษต้องสักยันต์เพื่อแสดงถึงความเป็นชายชาตรี นอกจากนี้ยังสอดแทรกเรื่องราวคติธรรมชีวิต และได้เขียนเล่าไปถึงตอนที่ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งกรมสุนในประเทศช่วงยุคของการล่าอาณานิคมสมัยนั้นไว้ด้วย


สำหรับผู้วาดภาพจิตกรรมบนฝาผนังวัดภูมินทร์ทราบชื่อคือ 'ทิดบัวผัน' หรือชื่อเรียกทางเหนือว่า 'หนานบัวผัน' ศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่ได้วาดภาพในวัดหลวง จึงทำให้เห็นว่าเป็นภาพวาดนั้นเป็นฝีมือของช่างชาวบ้าน ส่วนเทคนิคเรื่องการวาดภาพและการใช้สียังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปว่า เหตุใดในสมัยที่ยังไม่มีโรงเรียนช่าง หนานบัวผันกลับใช้เทคนิคการวาด การผสมสี และใช้สีเป็น คาดกันว่าอาจเป็นเทคนิคที่ได้มาจากช่างเมืองหลวง หรือแท้จริงอาจเป็นเทคนิคดั่งเดิมของชาวเมืองเหนือ และหากสังเกตจะเห็นว่าสีที่ใช้วาดนั้นซึมลึกและไม่ทรุดโทรมเหมือนฝาผนังที่ทา

นอกจากจิตกรรมฝาผนังแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี้คือประติมากรรมรูปปั้นพญานาค หรือที่เรียกกันว่า 'นาคสะดุ้ง' อันมีความเชื่อว่าพญานาคนั้นมีหน้าที่คอยปกปักรักษา ซึ่งศิลปินหลายคนยอมรับว่าหากจะหาพญานาคที่ปั้นได้อย่างมีพลังเสมือนพญานาคที่วัดภูมิมินทร์นั้นหาได้ยากยิ่ง




ภาพสะท้อนวิถีชีวิตในอดีต
-------------------------------


“อาจารย์ถวัล ดัชนีเคยบอกว่า รูปปั้นนาคที่นี้นั้นงาม เป็นสุดยอดของช่างปูนปั้น ไม่ใช่เป็นเพียงปูนแต่แสดงออกถึงพลังเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่านาคนี้เฝ้ารักษาวัดภูมินทร์ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ว่าหากได้ลอดท้องนาคที่นี้จะไม่ตกอบายภูมิทั้ง 4 ซึ่งเกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา นาคที่นี้จึงเป็นเหมือนต้นแบบของนาคในหลายๆ วัด” อาจารย์สมเจตน์กล่าว


การลอดท้องรูปปั้นพญานาควัดภูมินทร์ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมของชาวเมืองน่าน เป็นพิธีกรรมที่เชื่อกันว่าใช้รักษาคนป่วยหรือโรคที่รักษาไม่หายในอดีต จะทำพิธีสืบชะตา โดยเอาเสื้อผ้าของคนป่วยไปลอดใต้ท้องพญานาค ถ้าไม่หายก็อธิฐานว่าขอให้จากไปด้วยความสงบ ทว่าจริงๆ แล้วอาจเป็นการสร้างกุศโลบายส่งเสริมจิตใจให้ผู้ป่วยเห็นว่าญาติพี่น้องไม่ทอดทิ้งกันแม้ยามเจ็บยามไข้ สำหรับชาวต่างเมืองที่ลอดก็เชื่อกันว่าจะได้กลับมาเยือนเมืองน่านอีกครั้งหนึ่ง


จิตรกรรมและประติมากรรมในวัดภูมินทร์นั้น ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม แต่ยังสะท้อนเรื่องราวของชาวเมืองน่านล้านนาแห่งนี้ไว้มากมาย เป็นภาพเขียนที่ส่งสารบางอย่างถึงอนุชนรุ่นหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น