ศิลปะภาพเขียนของ รพินทรนาถ ฐากูร


โดย ติฟาฮา มุกตาร์

รพินทรนาถ ฐากูร
--------------------------

รพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักคิดชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักอ่านและผู้สนใจระบบการศึกษาทางเลือกของบ้านเรา หลายคนคงได้รับแรงบันดาลใจจากงานนิพนธ์คีตาญชลี พระจันทร์เสี้ยว บ้างขบคิดถึงอิสรภาพในระบบการศึกษาจากแนวคิดโรงเรียนใต้ร่มไม้ของศานตินิเกตัน ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้ง แต่อาจมีคนไม่มากนักที่รู้จักรพินทรนาถในฐานะจิตรกร หรือเคยผ่านตาภาพเขียนของท่านซึ่งถือว่าสำคัญต่อแวดวงศิลปะอินเดียสมัยใหม่

กวีชาวเบงกาลีท่านนี้เกิดวันที่ 7 พฤษภาคม1861 ในตระกูลชนชั้นสูงของเมืองกัลกัตตา เป็นบุตรชายคนที่ 13 ของมหาฤษี เดเบนทรานาถ เทวี และชารดา เทวี ชีวิตในวัยเด็กของท่านแม้ค่อนข้างจำกัดบริเวณอยู่แต่ในคฤหาสห์โจราซังโกของตระกูล หากแวดล้อมด้วยกวีและศิลปิน เติบโตมากับเสียงดนตรี การร่ายกาพย์กลอน และวงวิวาทะของนักคิด หัวก้าวหน้าแห่งยุคสมัย

รพินทรนาถค่อนข้างเป็นขบถต่อการศึกษาในระบบและบรรยากาศการเรียนที่ทึบทึมของห้อง เรียนมาแต่เล็ก ท่านเข้าโรงเรียนจนถึงอายุ 13 ปีก็ออกมาแสวงหาความรู้จากการอ่านและเรียนจากครูพิเศษเฉพาะสิ่งที่สนใจ เช่น ดนตรี สันสกฤต วรรณคดีอังกฤษและเยอรมัน และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ต่อมาในปี 1901 ท่านก่อตั้งโรงเรียนเชิงทดลองขึ้นที่ศานตินิเกตัน ในอาศรมที่บิดาของท่านเป็นผู้ริเริ่มไว้ โรงเรียนดังกล่าวมุ่งหมายความใกล้ชิดระหว่างครูกับศิษย์ อิสรภาพในการเรียนรู้ และการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อันเป็นที่มาของชั้นเรียนใต้ร่มไม้ ซึ่งต่อมาเติบใหญ่ขึ้นเป็นมหา วิทยาลัยวิศวภารตี ภายใต้คำขวัญที่ว่า "รวงรังที่โลกมาพบกัน"

ในด้านงานประพันธ์ รพินทรนาถมีผลงานทั้งที่เป็นบทกวี บทเพลง เรื่องสั้น บทละคร งานชิ้นสำคัญที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดได้แก่รวมบทกวีชุดคีตาญชลี ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม ของโลกตะวันตก และได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1913


ภาพลายเส้นรูปผู้หญิงที่เกิดจากการแก้ไขต้นฉบับรวมบทกวีชุด Puravi
--------------------------------


ภาพมนุษย์ปักษา
--------------------------------


ภาพผู้หญิงในชุดส่าหรีเขียนด้วยสีน้ำและหมึก
----------------------------------


ภาพเขียนผู้หญิง เทคนิคผสมสีน้ำ สีหมึก และพาสเทล
------------------------------------


ภาพใบหน้าคนเขียนด้วยหมึก
-------------------------------------


ภาพทิวทัศน์ซึ่งท่านรพินทร์มักชอบวาดในช่วงอรุณรุ่งหรืออาทิตย์อัสดง
-------------------------------------

สำหรับศิลปะภาพเขียนนั้น เป็นที่รู้กันว่าท่านมาให้ความสนใจจริงจัง เมื่อตอนอายุ 63 ปี แม้ ก่อนหน้านั้นจะมีหลักฐานภาพสเกตช์หน้าคนทั้งหมึกและดินสออยู่เป็นครั้งคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในศิลปะภาพเขียนที่อาจเป็นอิทธิพลจากพี่ชายผู้เป็นจิตรกร แต่ท่านก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ทุกครั้งที่พยายามจะวาดรูป ตนจะเสียเวลากับการลบเสียมากกว่าวาด จนกระทั่งปี 1924 ในช่วงพักฟื้น จากการป่วยระหว่างเดินทางเยือนละตินอเมริกาอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรส โดยเป็นแขกรับเชิญของวิกตอเรีย โอคัมโป รพินทรนาถได้ประพันธ์และขัดเกลารวมบทกวีชุด Puravi จนเสร็จ จึงให้เกียรติมอบต้นฉบับแก่เจ้าบ้านได้อ่าน วิกตอเรียนอกจากจะประทับใจกับบทกวีเหล่านั้น ยังค้นพบว่ารูปเขียนและลายเส้นที่ท่านรพินทร์วาดทับปรับโยงขึ้นจากการแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างวรรคตอนของบทกวี มีความงามดั่งภาพเขียนอยู่ในตัวเองและได้กล่าวชมแก่ท่าน

สิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านรพินทร์เริ่มวาดรูปอย่างจริงจังและวาดต่อเนื่องไปจนกระทั่ง เสียชีวิตในปี 1941 ด้วยอายุ 81 ปี ทิ้งผลงานภาพวาดลายเส้นและภาพเขียนไว้ถึงกว่า 2,000 ภาพ

นอกเหนือจากกำลังใจที่ได้รับจากเจ้าบ้านหญิงในบัวโนสไอเรส อิทธิพลทางอ้อมที่ทำให้ท่านรพินทร์หันมาใช้ภาพเขียนเป็นศิลปะการแสดงออกอย่างใหม่ อาจเป็นการได้สัมผัสกับงานศิลปะร่วมสมัยของยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และการพบ ปะกับศิลปินทั้งกลุ่มเบาเฮาส์ เอ็กซ์เพรสชันนิสต์ และเซอร์เรียลิสต์ ซึ่งต่างตั้งคำถามต่อขนบศิลปะดั้งเดิม และค้นหาแนวทางใหม่ที่พ้นไปจากการวาดตามหลักทัศนมิติ (perspective) และสีแสงเงาเหมือนจริง สิ่งนี้อาจทำให้ท่านรพินทร์รู้สึกเป็นอิสระ จากกรอบการเขียนภาพทั่วไป และกล้าที่จะใช้เส้นสีแสดงออกในหนทางของตนเอง แม้ว่าจะไม่เคยร่ำเรียนหรือฝึกปรือในศิลปะแขนงนี้มาก่อน

เมื่อย้อนสำรวจภาพเขียนของรพินทรนาถจะพบว่าแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคร่าวๆ ได้แก่ ลวดลาย และรูปเขียนที่เกิดจากการแก้ไขต้นฉบับงานเขียน ซึ่งต่อยอดไปสู่รูปลายเส้นที่ตั้งใจวาดบนกระดาษที่ไม่ใช่ต้นฉบับ ช่วงที่สามเป็นรูปเขียนสี และช่วงที่สี่เป็นการกลับมาเน้นการใช้หมึก เครยอง และลายเส้นสีเดียว

ในแง่ของรูปที่วาดพบว่าสองช่วงแรกจะเป็นลวดลายกึ่งเรขาคณิต บ้างกลายรูปเป็นนก ดอกไม้ หรือใบหน้าคนคล้ายหน้ากาก เหมือนภาพในจินตนาการหรือความฝันที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องราวในงานเขียน หากเป็นเรื่องของ 'จังหวะ' ซึ่งเป็นหัวใจของศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าบทกวี ดนตรี หรือภาพเขียน ดังที่ท่านรพินทร์เขียนถึงไว้ว่า "จังหวะเป็นเครื่องถ่ายทอดสิ่งที่อยู่เบื้องในสู่งานสร้างสรรค์... เส้นขีดฆ่าหรือรอยแก้ไขคำจึงมักทำให้ข้าพเจ้าขัดใจ เพราะมันแสดงถึงการผิดกาลเทศะ เหมือนฝูงชนเซ่อซ่าโผล่หน้ามาผิดที่ทางและไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน แต่หากจังหวะแห่งการร่ายรำได้จุดประกายขึ้นในใจ ก็อาจช่วยให้พวกเขาเคลื่อนย้ายไปอย่างกลมกลืน รู้ทิศรู้ทาง ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมักจะพยายามทำให้เส้นสายที่แก้คำผิดร่ายรำ โยงเชื่อมในจังหวะอันกลมกลืน และกลายรูปเป็นลวดลายที่งามตา"

สำหรับสองช่วงหลัง นอกเหนือจากนกและดอกไม้ ท่านยังชอบวาดภาพคน ภาพหุ่นนิ่ง (Still life) ของสิ่งของใกล้ตัว และภาพภูมิทัศน์ (landscape) ในกลุ่มภาพคน โดยเฉพาะผู้หญิง โครงร่างมักดูเหมือนห่มห่ออยู่ในผ้าผืนยาว เผยเพียงใบหน้าดูลึกลับ กึ่งเศร้ากึ่งเชื้อเชิญให้ค้นหาอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนงำ

ในปี 1930 ภาพเขียนของท่านได้รับการรวบรวมและตระเวนแสดงในหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

นันดาลัล โบส ศิลปินคนสำคัญในกลุ่ม Bengal School วิเคราะห์ถึงข้อเด่นในภาพเขียนของท่านรพินทร์ว่า มีลักษณะของการสื่อนัยมากกว่าการลงรายละเอียดเหมือนจริง ซึ่งตรงต้องกับหลักสุนทรียศาสตร์ ของอินเดียโบราณ ที่ให้ความสำคัญกับการบรรสานสอดคล้อง (resonance) ยิ่งกว่าถ้อยคำหรือความหมาย ภาพเขียนของท่านจึงมีชีวิต ดูจริงโดยไม่ต้องเหมือนจริง

รพินทรนาถเองเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ชัดเจนว่า "บ่อยครั้งผู้คนถามหาความหมายในภาพเขียนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้แต่นิ่งเงียบ เฉกเช่นภาพเขียนเหล่านั้น ที่กำเนิดขึ้นเพื่อสื่อแสดงมิใช่เพื่ออรรถาธิบาย"

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ขณะที่กระแสชาตินิยมกำลังโหมแรง ทั้งในระดับประชาคมโลกที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในอินเดียที่เป็นแรงขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แวดวงศิลปะของอินเดียเองก็กำลังอยู่กับคำถามของความเป็นตะวันออก-ตะวันตก ศิลปินบางกลุ่มพยายามหนีห่างจากสไตล์เหมือนจริง (Realistic) ซึ่งเป็นสไตล์นำเข้าที่มาพร้อมกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษและหลักสูตรศิลปะแบบตะวันตกที่สอนอยู่ตามวิทยาลัยศิลปะของรัฐบาล โดยกลับไปรื้อฟื้นศิลปะดั้งเดิมของตนทั้งในแง่สไตล์และโมทีฟ รพินทรนาถผู้เล็งเห็นพิษภัยของกระแสชาตินิยม และตระหนักว่าหายนะที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความรุนแรงที่เกิดอยู่เนืองๆ จากขบวนการเรียกร้องเอกราช คือผลพวงด้านลบอันเป็นรูปธรรม ท่านจึงพยายามเน้นย้ำถึงความเป็นสากล ที่ตะวันออกและตะวันตก จักปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนสู่กันได้อย่างสร้างสรรค์

ในแง่ศิลปะ ท่านกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าศิลปินควรสร้างสรรค์งานอย่างเป็นอิสระจากกรอบคิด ลัทธิความเชื่อ หรือแม้แต่เรื่องของอัตลักษณ์ว่าต้องเป็นอินเดียนตะวันออกหรือตะวันตก ด้วยเหตุนี้ภาพเขียนของท่านรพินทร์จึงปลอดซึ่งพันธนาการเหล่านี้และเผยแสดงเพียงการแสดงออกของปัจเจก จากภาวะเบื้องในอันเป็นสากล ทั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ

จากแง่มุมของประวัติศาสตร์ศิลป์ ภาพเขียนของรพินทรนาถ ฐากูร มีลักษณะกึ่งแอ็บสแตร็คท์กึ่งเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ซึ่งล้ำหน้ากว่าศิลปินกลุ่มอื่นๆ อยู่กว่าทศวรรษ ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์ศิลป์บางคนจึงถือว่า ท่านเป็นศิลปินแนวแอ็บสแตร็คท์คนแรกของแวดวงศิลปะสมัยใหม่ของอินเดีย



Tagore (left) meets with Mahatma Gandhi at Santiniketan in 1940.
----------------------------------------------


Painting, inspired by Rabindranath Tagore


-----------------------------------------

Painting, inspired by a poem.(in acrylic, on paper)
Chain Of Pearls
BY
Rabindranath Tagore
-----------------------------------------


Rabindranath Tagore
Death scene
-------------------------------------


Rabindranath Tagore
Bird
-------------------------------------


Rabindranath Tagore
Head of woman, 1939
-------------------------------


rabindranath-tagore
portrait of a lady
-----------------------------------


Rabindranath Tagore
National Gallery of Modern Art, New Delhi
-----------------------------


Rabindranath Tagore in the Island of Birds
National Gallery of Modern Art, New Delhi
--------------------------


Composition
National Gallery of Modern Art, New Delhi
------------------------------


O' Master
-----------------------


*****
บทความที่เกี่ยวข้อง :
--บทสนทนาระหว่าง : รพินทรนาถ ฐากูล กับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

supreme

supreme Author Archives Joined: 19 Dec 2006 Posts: 727
PostPosted: Mon Jul 04, 2011 9:16 pm |Message| Post subject: 150 ปีชาตกาล เมธีปราชญ์ตะวันออก 'รพินทรนาถ ฐากูร'Reply with quote

150 ปีชาตกาล เมธีปราชญ์ตะวันออก 'รพินทรนาถ ฐากูร'
โดย : ปริญญา ชาวสมุน




แม้เข็มนาฬิกาจะหมุนกี่หมื่นกี่แสนรอบ กาลเวลามิอาจทำลายคุณค่าแห่งเมธีปราชญ์ที่มีนามว่า รพินทรนาถ ฐากูร ได้

"...งานฉลองศตวรรษชาตกาลของท่านคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร ในปีพ.ศ.2504 ยูเนสโกได้เข้ามามีส่วนร่วม ขอให้รัฐบาลต่างๆ ที่เป็นสมาชิกในหน่วยงานนานาชาติแห่งนั้นมีส่วนร่วมฉลอง ในกรณีของไทย นับว่าน่ายินดีที่หม่อมเจ้าธานีนิวัต หรือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรีได้ทรงมีส่วนร่วมอย่างน่าชื่นชม โดยที่พระองค์ท่านมีบทบาทสำคัญ ในการต้อนรับท่านรพินทรนาถเมื่อครั้งมาเยือนสยามในปีพ.ศ.2470 ในขณะที่พระองค์ท่านทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการสมัยนี้ และในการเยือนสยามคราวนั้นท่านรพินทรนาถได้เข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังวรดิศ..."

นี่คือบางช่วงบางตอนจากปาฐกถา 'วรรณศิลป์ : รพินทรนาถ ฐากูร ที่ข้าพเจ้ารู้จัก' โดย ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ในงานชุมนุมเสวนา 'รพินทรวิถี คือรพีในดวงมาน' เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสะท้อนบางอย่างกระจ่างชัดว่า รพินทรนาถ ฐากูร คือบุคคลสำคัญของโลกโดยแท้จริง ตราบจนปัจจุบันลุล่วงมาเกินกว่าศตวรรษแล้วที่รพินทรนาถได้มอบองค์ความรู้นานัปการให้มนุษยชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ผ่านผลงานด้านวรรณกรรมหลากหลายที่รู้จักกันดี อาทิ คีตาญชลี บทกวีจันทร์เสี้ยว บทละครเรื่องจิตรา เพลงชาติอินเดีย เรื่องสั้นราชาราชินี เรื่องสั้นนายไปรษณีย์ พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ

หนึ่งในผลงานของรพินทรนาถ ฐากูรที่โดดเด่นและมีมนตร์เสน่ห์ที่สุดกระทั่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก 'คีตาญชลี' (Gitanjali) เมื่อพ.ศ.2455 ซึ่งรพินทรนาถได้แปลบทกวีนิพนธ์เรื่องนี้ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยาและบุตร 3 ใน 5 คนที่เสียชีวิตไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรวบรวมมาตีพิมพ์เป็นเล่ม หลังจากนั้นอีก 1 ปีต่อมา ขณะที่อายุได้ 52 ปี ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสตอกโฮล์ม ก็ประกาศให้รพินทรนาถได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และนั่นก็นับว่าเป็นชาวเอเชียคนแรกที่รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ ปี 2535 ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของคุรุเทพผู้นี้อย่างยิ่ง เขาเล่าว่า เมื่อแรกเริ่มรู้จักชื่อรพินทรนาถ ฐากูร ท่านเป็นดั่งเครื่องมือที่ศักดิ์สิริใช้แสดงตัวตน เขามักจะถือคีตาญชลีแล้วพลิกปกให้คนอื่นเห็นว่าเขาอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้

"รพินทรนาถ ฐากูร กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผม ทั้งวิถีชีวิต วิถีคิดและวิธีคิด ผมก็เหมือนคนหนุ่มทั่วไปที่เดินทางมาเรียนในสถาบันที่มีอิสระให้มาก นั่นคือเพาะช่าง จะใส่ชุดอะไรก็ได้ จะเรียนตอนไหนก็ได้ ผมพกคีตาญชลีเพียงเหตุผลเดียว คือเท่ ! สมัยก่อนจะพกหนังสือหนักๆ ไม่ใช่น้ำหนักมาก แต่เป็นหนังสือที่ปัญญาชนเขาอ่านกัน พวกโหลยโท่ยไม่อ่านหรอก เวลาพกก็จะไม่ใส่กระเป๋า ไม่ใส่ย่าม จะหนีบไว้ ผมพกคีตาญชลีด้วยความเขื่อง"

ต่อมาภายหลังพลังแห่งวรรณศิลป์ชั้นครูไม่ได้ส่งผลลัพท์แก่ศักดิ์สิริเพียงแค่คำว่า 'เท่' หรือ 'ความเขื่อง' เท่านั้น ทว่า กลับกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขาสร้างสรรค์บทกวีชิ้นเยี่ยมเรื่อยมา ทั้งมุมมอง และกลิ่นไอ

"ผมเป็นศิษย์ท่านรพินทรนาถ ฐากูรด้วยประโยคเดียว คือ "พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่นั่นหรอก"

ในคีตาญชลี วันหนึ่งผมได้เป็นเพื่อนของเพื่อนที่จะไปขอพรพระพุทธชินราชเพื่อที่จะให้เขาสอบบรรจุทำงานได้ ก็ไปนั่งในอุโบสถ ข้างๆ ก็มีคนขอพร บางคนขอให้ถูกหวย บางคนก็ขอให้สอบได้ บางคนขอให้พ้นจากคดี บางคนขอให้ได้ที่ดินคืนกลับมาหลังจากถูกญาติโกงไป ผมสัมภาษณ์เป็นสิบๆ คนเลย พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฉากหลังเป็นสีดำสนิท ฉากหลังนั่นทำให้องค์พระดูโดดเด่นงดงาม แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครเห็นอย่างผม ผมเห็นความงามของพระพุทธชินราชผมขนลุก ขณะเดียวกันมองออกไปเห็นไอแดดเต้นระยับอยู่ภายนอก ผู้คนขวักไขว่ แผงหวยเป็นร้อยแผง ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่าถูกโกยออกไปหรือยัง นางละครก็รำอยู่ข้างนอก บางทีก็เข้ามารำอยู่ภายในวิหารเลย ตู้รับบริจาคอีกมากมาย ควันธูปโชยฟุ้ง ผมเห็นพระพักต์ของพระองค์พร่าเลือนไป สักพักน้ำตาของผมก็ไหล ไม่ได้เพราะความปีติ แต่เพราะควันธูป (หัวเราะ) ผมก็นึกถึงว่าพระพุทธชินราชท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้างที่ถูกรมควันทั้งวันทั้งคืน ผมจึงแต่งกลอนบทนี้ขึ้น มันหลั่งไหลออกมาเอง จากประโยคเดียว "พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่นั่นหรอก" มาเป็นบทกวีชื่อว่า 'หนี' ไม่ใช่พระพุทธชินราชหนีหรอก ผมต่างหากที่หนี"

นอกจากศักดิ์สิริ มีสมสืบแล้ว หากนึกถึงนักเขียนไทยที่หลงใหลเลื่อมใสศรัทธาเมธีปราชญ์ผู้นี้ หนำซ้ำยังเคยแปลผลงานของรพินทรนาถอีกด้วย ซึ่งน้อยคนนักที่จะอาจหาญกล้าแปลบทรจนาของรพินทรนาถ ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนยากแก่การเข้าใจอย่างยิ่ง แต่ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักแปลและนักเขียนอิสระ เจ้าของงานแปล 'ผู้สัญจรแห่งชีวิต' ก็พิสูจน์ให้เห็นแจ้งแทงตลอดแล้วว่า งานของรพินทรนาถที่ว่ายากก็ไม่เกินความสามารถและแรงศรัทธา ที่สำคัญคือความชื่นชอบ

"ตอนที่แปลงานของท่าน ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมาก คือผมชอบ" อนุสรณ์บอก

แม้เขาจะเป็นผู้แปลงานของรพินทรนาถ ฐากูร แต่เป็นเรื่องประหลาดที่เขาบอกว่าชื่อของรพินทรนาถไม่ได้อยู่คงทนถาวรในกมลสำนึกใดๆ ของเขา ทว่า บางขณะที่เขาถอยห่างไปไกลจากคุรุเทพผู้นี้ กลับฉุกคิดถึงคำนึงหาอย่างไร้เหตุผลรองรับ

"ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่านเลย หลังจากทำงานเสร็จแล้ว ท่านก็มลายหายไปจากรูปธรรมสู่นามธรรม ผมก็ลืมท่านไปหลายๆ ครั้ง และผมก็จำท่านได้ในหลายๆ ครั้ง มันเป็นเรื่องแปลก"

หรือเหตุผลแห่งการรับรู้อันชวนพิศวงนี้ก่อเกิดจากวรรณศิลป์อันทรงคุณค่า ซึ่งหาได้เพียงจากในงานขั้นเอกอุของรพินทรนาถเท่านั้น ดังที่อนุสรณ์กล่าวถึงว่า

"ท่านรพินทรนาถในฐานะที่เป็นบุคคลแทบไม่มีอิทธิพลใดๆ แต่ท่านรพินทรนาถที่เป็นกวี เป็นเสียง เป็นลมหายใจที่สะท้อนออกมา มันเหมือนก้องอยู่ตลอด"

และเสน่ห์อันฉกาจอีกประการที่จะกล่าวอย่างเรียบง่ายคือ ยากและซับซ้อน แต่นั่นก็เปรียบดั่งอัตตาของรพินทรนาถ ฐากูร แม้นงานประพันธ์ใดไร้ซึ่งอัตลักษณ์อันซับซ้อนนี้ ก็หาใช่การประพันธ์โดยเมธีปราชญ์ไม่ ดังนั้น จึงมีทั้งผู้ที่หลงใหลใคร่รัก และเดียดฉันท์ในเงื่อนงำ เพราะคร้านจะปลดแก้เงื่อนงำนั้น จึงส่งผลให้งานประพันธ์ของรพินทรนาถไม่ใช่งานตลาดๆ ที่ใครๆ ก็อ่าน เมื่อไม่มีคนอ่านก็ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ถ้าลองพลิกหน้ากระดาษเหล่านี้แล้ว สรรพวิทยาสารพันจะเปิดโลกทัศน์ให้จับจดอย่างวางไม่ลง...แม้ต้องครุ่นคิดติดตามบ้างในบางประโยค ก็พอจะทำให้ยอมรับในรสขมๆ ฝาดๆ นี้กระทั่งพอใจ และรักใคร่ได้เลยทีเดียว

อนุสรณ์ ติปยานนท์ เล่าถึงคุณค่าที่เกินกว่ายอดจำหน่ายงานประพันธ์ของรพินทรนาถว่า "ภาษาของท่านคล้ายการถักโครเชต์ มันต้องไขว้แล้วก็ดึง...ต้องไขว้แล้วก็ดึง...มันมีจังหวะผูกรัดและมีจังหวะผ่อนคลาย มีจังหวะการพันธนาการและจังหวะการปลดปล่อย

งานของท่านรพินทรนาถไม่ใช่งานที่จะไปขายออกในเชิงพานิชย์ เพราะเป็นงานที่ต้องย่อย แต่ในแง่ของจิตใจ งานของท่านรพินทรนาถเป็นยิ่งกว่า Universal Best Seller หรือ International Best Seller คือไม่มีวันที่คุณจะทิ้งมันได้ ไม่ว่าคุณจะอ่านมันเมื่อไรก็จะรู้สึกว่ามันใหม่ มีงานไม่กี่ชิ้นในโลกที่เป็นอย่างนี้ เช่น เจ้าชายน้อย หรือเรื่องที่เราถือว่าคลาสสิค งานพวกนี้เมื่ออ่านแล้วจะรู้สึกว่ามันใหม่ งานของท่านพูดได้เลยว่าไม่ใช่งานที่สนุก เป็นงานที่เราไม่สามารถพูดให้ใครซื้องานของท่านรพินทรนาถได้ แต่สำหรับคนที่ย่อยงานได้ จะรู้สึกว่าชีวิตมันมีหลักมีการ มีคุณค่า"

รพินทรนาถ ได้รับสมัญญานามจากผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาว่า "คุรุเทพ" รพินทรนาถเป็นทั้งนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี เท่านั้นยังไม่พอ คล้ายย้ำชัดถึงอัจฉริยภาพแห่งอัจฉริยบุคคล เพราะเขาเริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา 'ภาณุสิงโห' และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ.2420 ในช่วงปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย ทั้งนี้ผลงานของเขายังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตจิตวิญญาณ ซึ่งความสามารถด้านวรรณศิลป์ของท่านเกิดขึ้นเมื่ออายุเพียง 14 ปี รพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ มีเนื้อหาพาดพิงถึงงานมหกรรม 'เดลฮีเดอบาร์' โดยดำริของลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพราะเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังและชั้นเชิงวรรณศิลป์ของรพินทรนาถทำให้ได้รับสมญานามว่า "เกอเธ่แห่งอินเดีย"

นอกจากงานกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง ยังมีสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ที่รพินทรนาถเฝ้าฟูมฟักด้วยความเชื่อที่ว่า การจะเข้าถึงสภาวะสูงสุดของชีวิตได้นั้น ร่างกาย จิตใจ และโลก หรือจักรวาลต้องสัมพันธ์กัน การเรียนรู้อยู่แต่ในห้องเรียนตลอดเวลาไม่ก่อให้เกิดการศึกษาที่แท้จริงได้ ดังนั้นสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาแห่งนี้จึงรายล้อมด้วยทุ่งโล่ง สนามหญ้า และต้นไม้นานาพรรณ มีห้องเรียนกลางสนาม ใต้ร่มต้นสาละ

อีกปัจจัยหนึ่งที่รพินทรนาถให้ความสำคัญมากคือ อิสรภาพ เพราะเขาไม่เชื่อกฏเกณฑ์อันเคร่งครัดในระบบการศึกษาแบบตะวันตกที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น การศึกษาที่ดีในความคิดของรพินทรนาถนั้นต้องเป็นไปท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนานและความสุข ซึ่งนั้นคือต้นแบบของโรงเรียนใต้ต้นไม้ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวิศวภารตีเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของอินเดีย มีผู้คนสนใจเดินทางมาเรียนจากทั่วโลก อย่างไม่ขาดสาย ด้วยแรงศรัทธาในแนวคิดของ รพินทรนาถ ฐากูร เมธีปราชญ์แห่งตะวันออกผู้นี้

นอกจากนี้แล้ว คุรุเทพผู้นี้ยังถือว่าเป็นผู้สืบสานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับอินเดีย โดยได้มีการตั้ง "อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ" และมีการเรียนการสอนภาษาสันสกฤตในประเทศไทย

ผศ.สาวิตรี เจริญพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเกี่ยวกับการมาเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูรและการก่อตั้งอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะไว้ในปาฐกถา เสาหลักของแผ่นดิน ในตอนหนึ่งว่า "...ท่านบัณฑิต รากูนาถ ชาร์มา ผู้ร่วมในงานเลี้ยงในช่วงที่รพินทรนาถมาเยือน เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหม่อมเจ้าธานีนิวัต หรือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ในภายหลัง เสนาบดีกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนี้ ได้ทรงขอให้รพินทรนาถจัดหาปราชญ์ชาวอินเดียเข้ามาสืบสานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับอินเดีย"

“ในปี 2475 รพินทรนาถได้ส่งสวามี สัตยานันทบุรี อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาปรัชญาและภาษาสันสกฤต เข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 10 ปี ในฐานะทูตวัฒนธรรม สวามีสัตยานันทบุรีได้เรียนภาษาไทยกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และได้แสดงปาฐกถาเป็นภาษาไทยหน้าพระที่นั่งเรื่อง “The Origins of Buddhist Thought” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้สอนภาษาสันสกฤตที่นี่ด้วย และได้จัดตั้งธรรมาศรม ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ”

เนื่องในโอกาสสำคัญ ครบรอบ 150 ปี ชาตกาล รพินทรนาถ ฐากูล เมธีปราชญ์แห่งตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา เครือข่ายจุฬานานาชาติ ศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย และ Indian Council for Cultural Relations ประเทศอินเดีย จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองพร้อมทั้งเปิดตัวการดำเนินการจัดตั้งศูนย์อินเดียศึกษา (Indian Study Centre) ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีกิจกรรมการประชุมวิชาการระหว่างประเทศไทย-อินเดีย นิทรรศการและเสวนาวิชาการ

และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาในงานชุมนุมเสวนา 'รพินทรวิถี คือรพีในดวงมาน' เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ได้ขับขานบทกวีนิพนธ์ 'หนึ่งร้อยห้าสิบปี รพินทรนาถ ฐากูร' คลอเคล้ากับการเขียนภาพ รพินทรนาถ ฐากูร โดย เทพศิริ สุขโสภา นักเขียนและจิตรกรอิสระ

ไม่ว่าในนิยาม หรือนามกรใด 'คุรุเทพ' 'เมธีปราชญ์' หรือชื่อ 'รพินทรนาถ ฐากูร' ก็พิสูจน์แล้วว่า รอยจารแห่งคุณค่าอันเป็นสารัตถะได้สลักหยั่งลึกถาวรเหนือกาลเวลา
เพราะท่านคือรพินทรวิถี คือรพีในดวงมานของคนทั้งโลกนั่นเอง

Life Style : Read & Write
วันที่ 3 กรกฎาคม 2554
By : bangkokbiznews.com

supreme

supreme Author Archives Joined: 19 Dec 2006 Posts: 727
PostPosted: Tue Aug 23, 2011 5:01 pm |Message| Post subject: เบื้องหลังการแปล 'สาธนา' กับ 'หิ่งห้อย' บังเอิญ/โลกกลม......Reply with quote

เบื้องหลังการแปล 'สาธนา' กับ 'หิ่งห้อย' บังเอิญ/โลกกลม/พรหมลิขิต?
โดย : ปริญญา ชาวสมุน



กว่าต้นร่างงานประพันธ์แห่งเมธีปราชญ์ 'รพินทรนาถ ฐากูร' จะมาสู่สายตานักอ่านชาวไทย 'การแปล' คือ หัวใจสำคัญ


ไม่ว่าต้นฉบับนั้นจะเขียนด้วยภาษาใด หรือใครเขียน ท้ายที่สุด...การแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาถิ่นต่างหากที่จะนำพาคนอ่านต่างสัญชาติให้กำซาบสุนทรียรสอันแท้จริงได้

ในบรรณพิภพ...ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมระดับ 'คลาสสิค' ส่วนมากเป็นผลงานของนักเขียนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นแถบทวีปใดก็ตาม นั่นหมายความว่า การรับรู้จึงถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่รู้ภาษาต่างประเทศเท่านั้น

หลายผลงานถูกแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาสากลอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นผลดีไม่น้อย เพราะคนไทยส่วนหนึ่งรู้ เข้าใจภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ทว่าไม่ใช่ทั้งหมด !

ดังนั้น 'นักแปล' จึงเปรียบดั่งพจนานุกรมมีชีวิต ที่จะช่วยตีความถ้อยคำจนกระจ่างชัดแก่นักอ่าน หากแต่เป็นประพันธบทแห่งปราชญ์แล้วไซร้ การแปลย่อมเป็นภาระหนักที่ต้องแบกรับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐที่ผู้อ่านและผู้ประพันธ์มอบให้

'ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล' และ 'อาจารย์ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา' ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ทั้งสองท่าน ต่างก็เป็นนักแปลชั้นครูทั้งสองคน ไม่ใช่ด้วยวัยวุฒิระดับอาวุโสเกือบศตวรรษเท่านั้น แต่ด้วยคุณวุฒิซึ่งทั้งสองท่านสะสมบ่มเพาะทั้งชีวิต พิสูจน์ได้จากงานแปลคุณภาพทุกชิ้นที่ท่านทั้งสองรังสรรค์ไว้


0 ระวี ภาวิไล ผู้รับใช้คุรุเทพ
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ผู้บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์เป็นคนแรกๆ ของไทยแล้ว ยังมีผลงานประพันธ์และงานแปลด้านวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา วรรณกรรมและปรัชญามากมาย อาทิ ปรัชญาชีวิต โดย คาลิล ยิบราน, สาธนา : ปรัชญานิพนธ์ โดย รพินทรนาถ ฐากูร, ปีกหัก โดย คาลิล ยิบราน, อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ โดย ลูอิส คาร์รอลล์ ฯลฯ

หนึ่งในผลงานแปลที่อาจารย์ระวีชื่นชอบมาก คือ 'สาธนา : ปรัชญานิพนธ์' ประพันธบทแห่งคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร แน่นอนว่าหากใครได้ยินกิตติศัพท์เล่าขานในงานของท่านรพินทรนาถแล้ว คงขยาดเกรงในเนื้อความอันหลบเร้น ยากแก่การเข้าใจ แต่สำหรับอาจารย์ระวีหาได้เกรงกลัวไม่ ท่านกลับสนุกสนานเพลิดเพลินกระทั่งประทับใจบทกวีสั้นๆ ซึ่งเคยปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ แม้เป็นเพียงบทกวีสั้นๆ แต่กลับดึงดูดให้อาจารย์ระวีประทับชื่อรพินทรนาถ ฐากูรไว้ในห้วงจำไว้นานนับกัปกัลป์พุทธันดร

"ผมเคยได้อ่านบทความของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ที่มีคนแปลลงหนังสือพิมพ์ บทกวีสั้นๆ นั้นนับว่าสั้นมาก ผมประทับใจ แต่จำไม่ได้ว่าเนื้อความว่าอย่างไร แต่ประทับใจเลยจำชื่อท่านได้" ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล บอกเล่าในงานเสวนา 'จากร้อยปี สู่ ร้อยห้าสิบปี ปรัชญานิพนธ์ สาธนา ฉบับภาษาไทย' และ 'หิ่งห้อย กับสองศิลปินแห่งชาติผู้รังสรรค์งานแปล' เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระทั่งอาจารย์ระวีเข้าไปที่ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ ท่านไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะได้รู้จักคุรุเทพแห่งโลกตะวันออกหลุดลอยไปหรือเป็นเพียงแค่ 'นักเขียนในดวงใจ' เท่านั้น ท่านจึงค้นหาหนังสือของรพินทรนาถ ฐากูร จนได้พบกับสาธนา หนังสือที่บรรจุบทกวีสั้นๆ บทเดิมซึ่งยังตรึงแน่นในหัวใจของอาจารย์ระวีมิคลาย

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ 'รักแรกพบ' ที่ได้หวนมาพบกันอีกครั้ง...

หลังจากอาจารย์ระวีหรือนายระวีในวัยหนุ่มขอยืมหนังสือสาธนาไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกๆ ครั้งที่เขาหยิบอ่านจะคัดลอกด้วยลายมือเก็บไว้ ลอกไปแปลไป...ทำเช่นนี้ประจำ

อาจารย์ระวีเล่าว่า "ในกรณีของสาธนานี้ ผมลอกไว้เป็นตอนๆ เพราะมีหลายตอน ถ้าเราไปเปิดดูจะพบว่ามีหลายตอน สมัยนั้นไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร ก็ขอยืมมาแล้วลอกไว้ด้วยลายมือ แต่ว่าไม่ได้ลอกทั้งหมด ยืมทีก็ลอกส่วนหนึ่ง ส่วนที่ลอกก็นำมาแปล"

เมื่อสบโอกาสวันฉลองวันปิยมหาราช ทางสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำหนังสือ ชื่อ 'หนังสือมหาวิทยาลัย' อาจารย์ระวีจึงนำงานแปลสาธนาบางช่วงตอนไปลงพิมพ์ แม้จะลงได้เพียงปีละตอนเท่านั้น แต่ท่านก็ยังคงเดินหน้าแปลเรื่องสาธนาเก็บไว้...ทำเช่นนี้อยู่หลายปี กระทั่งได้หนังสือออกมา

เมื่อรวบรวมได้ครบถ้วนแล้ว หม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล โอรสของพลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ได้พาอาจารย์ระวีไปถวายหนังสือเล่มนี้แก่หม่อมเจ้าธานีนิวัต หรือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร โดยที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าช่วงเวลานั้นตรงกับงานฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีชาตกาลของรพินทรนาถ ฐากูร และหม่อมเจ้าธานีนิวัตก็เป็นประธานจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย หม่อมเจ้าธานีนิวัตรับหนังสือไว้ไม่นานนักก็ตามอาจารย์ระวีไปพบและรับหนังสือคืน ปรากฏว่าหม่อมเจ้าธานีนิวัตแก้ไขข้อผิดพลาดบางประการให้ พร้อมทั้งเขียนบันทึกซึ่งกลายมาเป็นคำนิยมในหนังสือสาธนาด้วย จากบางช่วงตอนว่า

"อาจารย์ระวี ภาวิไล แห่งแผนกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลปรัชญานิพนธ์ของ 'รพินทรนาถ ฐากูร' ชื่อ 'สาธนา' จากฉบับภาษาอังกฤษ แล้วนำมาขอให้ข้าพเจ้าอ่านเพื่อพิจารณา ข้าพเจ้าขอออกตัวว่าไม่เคยสนใจหรือสันทัดวิชาปรัชญาแม้แต่น้อย แต่โดยที่รู้จักชอบพอกันกับผู้แปล และนิยมในการที่ผู้แปลมีความสนใจกว้างขวางในวิชาความรู้ทั่วๆ ไป จึงได้อ่านดูอย่างลัดๆ ได้ช่วยแก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย เห็นว่าเนื้อเรื่องเรียงไว้ดี สมควรพิมพ์ให้ได้ถึงมือบรรดาผู้สนใจในปรัชญานิพนธ์ของมหากวีรพินทรนาถ ฐากูร ความนิยมของข้าพเจ้ามีอยู่เป็นส่วนมากในตัวผู้แปล..."

0 'อุชเชนี' ราชินีนักแปล

ด้านอาจารย์ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2536 เจ้าของนามปากกา 'อุชเชนี' ผู้รจนาบทกวีอันไพเราะและทรงพลังตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีผลงานทั้งประพันธ์และงานแปล อาทิ รวมบทกวีเรื่อง ขอบฟ้าขลิบทอง, บทกวีแปลจากกวีนิทานพื้นบ้านของจีนเรื่อง อัษมา, บทกวีแปลจากบทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร เรื่อง หิ่งห้อย ฯลฯ

เรื่อง 'หิ่งห้อย' เป็นงานที่อาจารย์ประคิณแปลร่วมกับอาจารย์ระวี ซึ่งหากล่วงรู้ที่มาที่ไปของการได้มาพบกันระหว่างต้นฉบับและนักแปลแล้ว อาจคล้ายเป็นพรหมลิขิตเฉกเช่นเดียวกับกรณี 'สาธนากับอาจารย์ระวี'

เดิมทีอาจารย์ประคิณไม่เคยรู้จักบทกวีเรื่องนี้มาก่อน แต่เมื่อครั้งที่อาจารย์ระวี ภาวิไลจำต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย อาจารย์ระวีได้หอบหิ้วหนังสือระดับคัดสรรกองมหึมาฝากไว้กับอาจารย์ประคิณ และได้บอกทิ้งท้ายว่ากลับมาเมื่อไรจะมาเอาคืน โดยหารู้ไม่ว่าหนังสือเหล่านั้น คือหนังสือที่ทรงคุณค่ามากในสายตาของอาจารย์ระวี เพราะล้วนเป็นหนังสือชั้นเลิศทั้งสิ้น ที่อาจารย์ระวีเคยเปิดเผยว่าจะฝากไว้ได้เฉพาะกับผู้ที่ไว้เนื้อเชื่อใจที่สุด และบุคคลนั้นก็คืออาจารย์ประคิณ

ที่สำคัญ...นี่เป็นที่มาของการได้พบกันระหว่าง 'อาจารย์ประคิณและหิ่งห้อย'

"ก่อนที่อาจารย์ระวีจะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านได้เอาหนังสือมาฝาก แล้วบอกว่ากลับมาเมื่อไรจะมาเอาคืน ดิฉันเห็นว่าเป็นหนังสือดีทั้งนั้นเลย ได้นั่งดู พลิกไปพลิกมา ก็เจอหิ่งห้อย เล่มเล็กๆ มีข้อความสั้น เป็นคติพจน์ ซึ่งท่านรพินทรนาถ ฐากูรเขียนไว้เพราะมาก และยังไม่มีใครแปล ดิฉันอยู่ว่างๆ เมื่อไรคิดถึงหนังสือเล่มนี้ก็หยิบมาค่อยๆ แปลวันละเล็กวันละน้อยจนจบเล่ม ที่จริงไม่ค่อยหนาเท่าไร ทำได้เร็วพอสมควร ก็เก็บเอาไว้เฉยๆ"

อาจารย์ประคิณแปลเรื่องหิ่งห้อยเก็บไว้ได้ไม่นานนัก อาจารย์ระวีก็เดินทางกลับมา 'สัญญาต้องเป็นสัญญา' อาจารย์ประคิณได้นำหนังสือชั้นเยี่ยมเหล่านั้นคืนสู่อาจารย์ระวี และคล้ายการให้ดอกเบี้ยเมื่อรับฝาก อาจารย์ประคิณได้มอบต้นฉบับแปลเรื่องหิ่งห้อยแก่อาจารย์ระวีเป็นของแถม แต่อาจารย์ระวีหาได้พอใจในเนื้อความอันรุ่มรวยไม่ ตามวิสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่พออกพอใจกับเนื้อๆ เน้นๆ เสียมากกว่า

"ดิฉันนำหนังสือพวกนี้ไปคืน แล้วก็เอาต้นฉบับภาษาไทยไปให้ท่านด้วย ว่าดิฉันแปลออกมาเป็นแบบนี้ ท่านเอาไปอ่านก็ไม่ชอบใจ เพราะภาษาของชาวอักษรศาสตร์ก็รู้กันอยู่ว่าต้องฟุ่มเฟือย มีสร้อยมีอะไรประดับประดา ซึ่งชาววิทยาศาสตร์อย่างอาจารย์ระวีจะไม่ชอบ ท่านก็ตัดๆ จนเหลือความซึ่งกระชับมากและตรงกับภาษาอังกฤษ เสร็จแล้วท่านก็เอาไปให้ศึกษิตสยามตีพิมพ์ครั้งแรกในยุคนั้นเมื่อ พ.ศ.2517"

0 เส้นทาง 'นักแปล' กับ 'ต้นฉบับ'

สังเกตได้ว่าที่มาของผลงาน 'สาธนา' และ 'หิ่งห้อย' ฉบับแปลไทยนั้นคล้ายคลึงกันในนิยามหนึ่ง ซึ่งเหมือนจะถูก 'กำหนด' มาแล้วว่า 'ใครคือคนแปล ?' แต่จะด้วยความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ไม่ทราบได้ หากมองให้ถ่องแท้แล้ว นักแปลชั้นครูทั้งสองท่านกลับมีจุดร่วมหนึ่งเดียวกันคือ ความรัก และสนใจในเนื้องานของรพินทรนาถ ฐากูร อันอุดมสรรพวิทยาทั้งองคาพยพ และต้องการสะท้อนถ่ายสู่ผู้อ่านด้วยภาษาซึ่งตนถักทอให้สมกับต้นฉบับแห่งเมธีปราชญ์

ในทางกลับกัน ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์คือสิ่งที่นำพานักแปลมาพบกับต้นฉบับ แม้ต้นฉบับนั้นจะไม่เคยผ่านหูผ่านตานักแปลที่ต้องรับหน้าที่นี้เลยก็ตาม กระทั่งส่งให้ 'นักแปล' กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้รู้ภาษาต่างประเทศคว้าไว้ใช้เลี้ยงชีพ ไม่ต้องมี 'พรหมลิขิต' ไม่ต้องมี 'บังเอิญ' ทุกอย่างถูกจัดสรรในกระบวนการผลิตหนังสืออยู่แล้ว

ต้นทางของการแปลหนังสือในยุคก่อนเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้วช่างเป็นเรื่องแตกต่าง ชนิดหน้ามือกับหลังมือ !

ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่ต้องร่วมงานกับนักแปลมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นเก่าเก๋าเกมไปจนถึงหน้าใหม่ไฟแรง มกุฎ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แสดงทัศนะว่า

"การเดินทางของหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ซื้อลิขสิทธิ์มาบอกว่าให้คนนั้นคนนี้แปล ก็เป็นเรื่องธุรกิจ มันก็เป็นการเดินทางของหน้าที่ ของการทำงาน แต่การเดินทางของต้นฉบับในสมัยนั้นไม่ใช่ มันเป็นคนละเรื่องเลย มันเป็นเรื่องอภินิหาร มันเป็นเรื่องบังเอิญ แล้วแต่เราจะว่าเอา แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดมันก็เดินทางมาถึงวันนี้"

เมื่อห้าสิบปีที่แล้วในงานฉลองวาระชาตกาลของรพินทรนาถ ฐากูร หนังสือสาธนาฉบับแปลไทยของศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล รูปแบบหนังสือมือทำ ได้รับเกียรติให้จัดแสดงสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ทว่าหลังจากนั้น สาธนาก็ได้สาบสูญไปจากการรับรู้ของคนทั่วไปอย่างบางเบา เพราะไม่ได้หายไปอย่างไร้ซึ่งร่องรอย การกลับมาจึงเป็นไปได้ !

มกุฎ อรฤดี กล่าวว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นความตั้งใจว่าจะใช้หนังสือพวกนี้เป็นการเปิดตัวสำนักพิมพ์ภารตะหรืออะไร เป็นความบังเอิญ จะอธิบายด้วยถ้อยคำอื่นหรือไม่ ไม่ทราบ บางคนอาจบอกว่าเป็นการดลบันดาล หรือถ้อยคำใดก็ตาม ผมไม่ทราบ แต่ว่าช่วงเวลานี่มันแปลก เวลาที่หนังสือหนึ่งเล่มปรากฏที่งานนั้น แล้วหายไป อยู่ดีวันดีคืนดี เราก็ได้ความจำกลับมาว่าหนังสือนั้นเคยปรากฏในงานนั้น ตอนนี้ครบร้อยห้าสิบปี ก็ควรจะปรากฏในงานนี้อีก ผมหวังว่ามันคงไม่ต้องรอถึงห้าสิบปีเพื่อที่จะพิมพ์ครั้งใหม่ (หัวเราะ)"

มาถึงตรงนี้...หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือคุณงามความดีของสาธนาและหิ่งห้อยนอกจากเป็นบทประพันธ์ของเมธีปราชญ์รพินทรนาถ ฐากูร และได้รับการแปลและเรียบเรียงโดยศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์สองท่าน หากได้เปิดหน้าหนังสือทั้งสองเล่มนี้แล้วคงหมดความสงสัยด้วยประการทั้งปวง

มกุฎเล่าให้ฟังว่าน่าแปลกที่ทำไมหนังสือทั้งสองเล่มนี้แม้จะเคยตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่กลับขายไม่ได้ เหลือเยอะมากจนเอาไปถมที่ได้ (มุกตลก) จึงได้มานั่งทบทวนว่าเกิดจากอะไร ในกรณีของหิ่งห้อย พบว่าคนส่วนมากลงความเห็นว่า อ่านไม่รู้เรื่อง !

เมื่อมกุฎ อรฤดีพิจารณาถี่ถ้วนแล้วจึงพบสาเหตุความไม่รู้เรื่องนั้นว่าเกิดจากวรรคตอนที่ผิดเพี้ยนไป เมื่อวรรคตอนผิด ความเข้าใจจึงผิดตาม และกำลังดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์

"หลังจากที่เราศึกษาผลงานของท่านรพินทรนาถ แล้วอยากศึกษาเรื่องปรัชญานิพนธ์เราควรจะอ่านเล่มแรกซึ่งเปรียบเสมือนรากต้นไม้ที่หยั่งลึกลงในดิน คือสาธนา ถ้าเราเริ่มอ่านสาธนาจนจบเล่มอย่างเข้าใจ เราจะอ่านเล่มใดของท่านก็ได้ในโลกนี้ที่ท่านเขียนไว้อย่างเข้าใจ อย่างไพเราะ เสมือนหนึ่งเราปลูกต้นไม้ไว้แน่นหนาดีแล้ว ลำต้นแข็งแรงดีแล้ว แล้วต้นก็งอกออกไป เป็นกิ่งเป็นก้าน ในที่สุดเราก็จะเห็นดอก ดอกที่อยู่ในลำต้นที่แข็งแรง และกิ่งก้านสีเขียว ดอกมันจะสมบูรณ์ เบ่งบานเต็มที่ตามเวลาของมัน อ่านไปเถอะ จะรู้สึกได้ว่ามันคือดอก ไม่ใช่ดินนะ แต่มันคือดอก มันคือสวย มันคืองามที่สุดเท่าที่เราจะหยิบฉวยได้ในเวลาอันสั้นๆ ภายในสามบรรทัดเท่านั้น เรารู้สึกอิ่มไปอีกนานเลย..."

ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล และ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา น่าจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีสำหรับนักแปลเลือดใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ 'ธุรกิจวรรณกรรมแปล' ตัวอย่างสำหรับนักแปลที่ต้องการรับดอกไม้มากกว่าก้อนอิฐจากนักอ่าน

นี่คือบทพิสูจน์โดย 'รพินทรนาถ ฐากูร' คุรุเทพ และเมธีปราชญ์แห่งโลกตะวันออก ที่มอบผลงานอันลึกล้ำให้นักแปลได้ร่วมพิสูจน์

ถึงกับมีคำกล่าวหนึ่งจากมกุฎ อรฤดีว่า

"ศิลปินสองท่านนี้เหมาะสมที่สุดที่จะรับใช้งานของท่านรพินทรนาถ ฐากูร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น