ชลูด นิ่มเสมอ


       ART EYE VIEW---“ผมเป็นศิลปินชนบท” เหตุใดจึงต้องนิยามตนเองว่าเช่นนี้ สำหรับ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประติมากรรม) ปี พ.ศ.2541 วัย 84 ปี 
      
       เมื่อไปอยู่ท่ามกลางผลงานศิลปะของเขา ที่มีตั้งแต่ผลงานยุคแรกจนถึงยุคปัจุบัน มาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมในขณะนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอคาดเดาถึงที่มาของนิยามดังกล่าว
       >>>จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชะลูด นิ่มเสมอ
      
       เพราะเมื่อเดินเข้าสู่ "จิตรกรรมฝาผนัง" ส่วนแรกของนิทรรศการ ที่มีผลงานจิตรกรรมบนกระดาษ(สร้างสรรค์เมื่อปี 2553 - 2556) หลายร้อยชิ้นมาติดเรียงรายเต็มฝาผนัง นอกจากจะพอทำให้รู้เหตุผลว่า ทำไมนิทรรศการครั้งสำคัญของศิลปินอาวุโสท่านนี้ จึงมีชื่อว่า “จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชะลูด นิ่มเสมอ” 
      
       ภาพของผู้หญิงและเด็กหญิงผมสั้นในชุดแต่งกายแบบหญิงชาวบ้านในชนบทที่ปรากฎอยู่ในภาพเล็กๆแต่ละภาพก็น่าจะเป็นส่วนสนับสนุนนิยามที่ศิลปินมีให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี
      
       รวมไปถึงผลงานในชุด “ประติมากรรมชนบท” (สร้างขึ้นเมื่อ ปี 2525) ส่วนที่ 4 ของนิทรรศการ ที่เมื่อครั้งอดีตศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มีการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งวัสดุจากธรรมชาติ และวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อในการแสดงออก จนถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกการทำงานศิลปะเชิงความคิด (conceptual art)
      
       ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับเชิญให้เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ ติดตั้งนอกอาคารหลายแห่ง อาทิ ผลงานประติมากรรมชื่อ “องค์สาม” พ.ศ.2524 และ “อินทรีย์ 5” (พ.ศ.2541) สำหรับธนาคารกสิกรไทย
      
       “พระบรมโพธิสมภาร” (พ.ศ.2531) สำหรับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ “โลกุตระ” (พ.ศ.2534)สำหรับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านไปผ่านมาตามสถานที่เหล่านี้คงพอจะคุ้นตาอยู่บ้าง
      
       นอกจากนี้นิทรรศการในส่วนที่ 2,3,5 และ 6 ยังมีผลงานศิลปะอื่นๆของชลูดให้ชมได้แก่
      
       ผลงานชุด "ธรรมศิลป์" (สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2530-2539)โดยมิได้มีเจตนาสื่อแสดงความหมายธรรมะในพุทธศาสนา แต่ถ่ายทอดออกมาจากสภาวะจิตใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลา ด้วยรูปแบบผลงานที่เรียบง่าย รูปทรงอันสงบนิ่ง และสีสันที่นุ่มนวลสะอาดตา สะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สงบนิ่งและปล่อยวาง อันเป็นผลมาจากภาวะของสมาธิ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทำงาน และจากการศึกษาปฏิบัติธรรม
      
       ผลงานชุด "วาดเส้น" ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ชลูดมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี แบ่งออกเป็น 4 ชุด ด้วยกัน คือ ผลงานชุด “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526) ผลงานชุด“ลูกสาว” (พ.ศ.2528) ผลงานชุด “ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และผลงานชุด “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554) ซึ่งสร้างขึ้นในระหว่างหนีภัยน้ำท่วมไปอยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ภาพโดย เสนีย์ แช่มเดช
      
       ผลงาน "วาดเส้นจากโรมและภาพพิมพ์นามธรรม" โดยในช่วงเวลาที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์กลวิธีร่องลึก (intaglio) ที่ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.2499-2501และศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2507 นั้น ศาสตราจารย์ชลูดได้เดินทางไปวาดภาพทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์นามธรรม ซึ่งมีเทคนิคที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งด้วย
      
       ปิดท้ายด้วย "ผลงานยุคแรก" (สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2498-2505) เป็นผลงานเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving)ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย โดยศิลปินทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite)หรือกระดาษอัดแข็งมาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี เป็นการค้นพบเทคนิคที่มีความกลมกลืนกับอารมณ์การแสดงออก ด้วยเรื่องราวและรูปทรงที่เรียบง่าย แสดงออกถึงความเป็นไทย นอกจากนี้ในส่วนผลงานยุคแรกยังมีผลงานจิตรกรรมชุด “ชีวิตชนบทปิดทอง” (พ.ศ.2499) ซึ่งศิลปินทดลองติดทองคำเปลวลงบนจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นคนแรก 
      
      
      
      
ศ.ประหยัด พงษ์ดำ,ศ.ชลูด นิ่มเสมอ และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
       >>>“แบกะดิน” ศิลปะกระแนะกระแหน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
      
       วันเปิดนิทรรศการ มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ชมงานศิลปะไปให้กำลังใจอย่างคับคั่ง เนื่องจากที่ผ่านมานอกจากทำงานศิลปะในฐานะศิลปิน ที่มีเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ การันตีหลายรางวัล ศ.ชลูด ยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เคยดำรงตำแหน่งคณบดี,จัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ (พ.ศ.2508) และจัดตั้ง ภาควิชาศิลปะไทย(พ.ศ.2519) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
        
      
       ดังนั้นงานนี้ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2554 ผู้เป็นนักศึกษารุ่นแรกของภาควิชาศิลปไทย จึงถือโอกาสทำหน้าที่นำชมนิทรรศการของผู้เป็นอาจารย์ด้วยตนเอง 
         
      
       เมื่อมาหยุดอยู่ที่งานศิลปะชุด “แบกะดิน” ผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆหลายชิ้นหลากเทคนิค ซึ่งตั้งให้ชมอยู่บนพื้นห้องในส่วนของงานชุด “จิตรกรรมฝาผนัง” ศ.ชลูด เจ้าของผลงานได้กล่าวขึ้นว่า
        
       “เคยจัดแสดงมาบ้างแล้วแต่ไม่เยอะเท่าครั้งนี้ ผมจัดแสดงเพื่อกระแนะกระแหนเฉลิมชัย เพราะงานเขามีราคา แต่งานผมแบกะดิน เลหลัง”
        
      
       >>>ศ.ประหยัด พงษ์ดำ “ผมไม่ได้ก๊อปปี้ อ.ชลูด”
      
       และเมื่อไปหยุดอยู่ที่หน้าผลงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ในส่วนของผลงานยุคแรกของ ศ.ชลูด 
       เฉลิมชัยได้บรรยาย ณ จุดนี้ ให้ทุกคนได้ฟัง รวมทั้งถือโอกาสกระแนะกระแหน ศาตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์) ปี 2541 ผู้เป็นรุ่นน้อง ศ.ชลูด เพียง 2 ปี ที่เดินชมตามไปติดๆว่า
       
      
       “อาจารย์ชลูดเป็นผู้นำในด้านการทำภาพพิมพ์ wood cut และอาจารย์ประหยัดก็ได้อานิสงค์นี้ จนทำตามและขายดี”
      
       ทำเอาอาจารย์ประหยัดหัวเราะไม่เต็มเสียงแต่ก็อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า 
      
       “คืออย่างนี้ครับ ความคิดเผอิญเหมือนกัน ผมเป็นคนบ้านนอก และก็ทำงานภาพพิมพ์ wood cut ที่เป็นรูปผู้หญิงไทยอารมณ์ใส่เสื้อคอกระเช้าด้วย และเผอิญว่าอาจารย์ชลูดท่านก็ทำเรื่องผู้หญิงคล้ายๆกัน แต่ผู้หญิงของอาจารย์ชลูดจะดูสงบ ขณะที่ผู้หญิงของผมจะออกแอคชั่น และอยู่ในภาพที่มีสีฉูดฉาดหน่อย 
       
      
       เทคนิคที่เราใช้นำเสนอ ก็ได้มาจากอาจารย์ศิลป์(พีระศรี) ด้วยกัน ตอนอาจารย์ชลูดเรียนอยู่ปี 5 ผมอยู่ปี 3 แล้วตอนผมขึ้นปี 4 ผมเริ่มทำ wood cut และได้เห็นแบบอย่างว่าอาจารย์ชลูดทำ wood cut ฟีลลิ่งออกมาจึงอาจจะใกล้เคียงกัน หลายคนบอก ผมก็ยอมรับ เพราะว่า เรียนจากครูบาอาจารย์คนเดียวกัน เห็นพี่เค้าทำเราก็ทำตาม ไม่ใช่ copy แต่เป็นเรื่องความรู้สึกที่เราอาจจะชอบเหมือนๆกัน
       
       อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าเรามีอาจารย์ชลูดเป็นแบบอย่าง แล้วตอนหลังเราก็มาคลี่คลายเป็นตัวของเราเอง”
      
       >>>อ.ชลูด เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆจากนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา
      
       อนุพงษ์ จันทร ศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อดีตนักศึกษาภาควิชาศิลปะไทย ผู้เคยเรียนกับ ศ.ชลูดเมื่อครั้งเรียนในระดับปริญาตรีและโท และตอนนี้ผันตัวเองไปเป็นอาจารย์สอนศิลปะด้วย กล่าวถึง ศ.ชลูดในมุมมองของตนว่า
      
       “ตอนแรกก็คิดว่าอาจารย์เป็นคนที่ดุมาก แต่พอได้ไปเรียนด้วยจึงได้พบว่าอาจารย์เป็นคนที่ใจดีมากๆ และเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องอย่างที่เราได้เห็นผ่านผลงานที่นำมาแสดงในนิทรรศการ อาจารย์เป็นต้นแบบในด้านนี้ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆจากนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา และยังค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะที่มันเคลื่อนไหวในวงการศิลปะโลกควบคู่ไปกับสิ่งที่สอนในสาขาวิชาศิลปะไทย และพยายามดึงเอาแก่นหรือสาระของความเป็นไทยที่อยู่ในวิถีชีวิตของนักศึกษาแต่ละคนออกมา”
      
       >>>นิทรรศการ จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชลูด นิ่มเสมอ (CHALOOD'S MURAL PAINTING - RETROSPECTIVE) 
      
       วันนี้ - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556 ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โทร.0-2214-6630
      
      
      
      
      
   

นิทรรศการและโครงการถ่ายทอดงานศิลป์ รุ่นที่ 1-3

            วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖ ขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนางานศิลปะที่จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาสังคม ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต่อไปจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานศิลปวัฒนธรรม และสืบทอดภูมิปัญญาอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติให้ยั่งยืนได้ โดยได้รับเกียรติจากนายอดิศักดิ์  เบญจศิริวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิด
            ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้เข้าอบรมที่มีผลงานดีเด่นและได้รับการคัดเลือกให้ไปเผยแพร่ผลงาน ร่วมกับสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้ใช้โอกาสที่ได้รับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์ ในการทำงานทางด้านศิลปะ ซึ่งองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ จะสามารถนำมาหลอมรวมเข้ากับความเป็นตัวตน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์ผลงานตนเองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทั้ง ๗๕ คนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็น “บุคคลต้นแบบทางศิลปะ” ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงการศิลปะและขอให้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับไปสู่เยาวชน และสังคม ในวงกว้างต่อไป 
 
            ในการนี้ นางวิไล วิทยานารถไพศาล รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สวธ. โดย หออัครศิลปินได้ดำเนินการจัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ มาแล้วจำนวน ๓ รุ่น มีบุคลากรที่อยู่ในวงการศิลปะ อาทิ ศิลปินอิสระ ครูผู้สอนศิลปะจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมโครงการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๒๐ คน และในปี ๒๕๕๖ มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวนทั้งสิ้น ๗๕ คน โดยในภาคทฤษฎี  ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๑๒ ท่าน เป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ เทคนิควิธีในการสร้างสรรค์ผลงาน ให้ผู้เข้าอบรมได้ต่อยอดทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ทางด้านศิลปะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรที่ดำเนินงานด้านศิลปะและพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญของประเทศต่อไปในอนาคต ส่วนในภาคปฏิบัติจะให้ผู้เข้าอบรมเขียนภาพในแนวทางของตนเอง คนละ ๒ ภาพ และภาพที่ผ่านการคัดเลือก สวธ.จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงานศิลปะสู่สาธารณชนในโอกาสต่างๆ
 








 
            โดย กิจกรรมในโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการเสวนา ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ศิลปศึกษา สุนทรียะ และความงาม โดย ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ จำนวน ๙ ท่าน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ , ดร.กมล ทัศนาญชลี , ดร.ถวัลย์ ดัชนี , นายทวี รัชนีกร , ศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ , นายธงชัย
รักปทุม , นายเขมรัตน์ กองสุข , ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธ์ และ ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี นอกจากความรู้ที่ได้รับจากเวทีเสวนา แล้ว ยังจะได้ชมนิทรรศการผลงานของศิลปินแห่งชาติ และผู้มีผลงานดีเด่นจากโครงการฯ รุ่นที่ ๑-๓  จำนวน ๓๑ คน ที่จัดแสดง  ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ด้วย
 
 
            ส่วนกิจกรรมในวันที่ ๑๓-๑๕ กุมภาพันธ์ ณ หออัครศิลปิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นการอบรมภาคทฤษฎี และการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การอภิปราย เรื่อง “วาดเส้น  องค์ประกอบศิลป์ และการสร้างสรรค์งานศิลปะ” / การเสวนา เรื่อง “ศิลปะไทยและศิลปะไทยประยุกต์” / การอภิปราย  เรื่อง “สร้างสรรค์งานศิลป์ เทคนิควิธีการวาดเส้น” / การบรรยาย  เรื่อง “ศิลปะและสื่อผสม” / การอภิปราย เรื่อง“สร้างสรรค์งานศิลป์ เทคนิควิธีการองค์ประกอบศิลป์” / การบรรยาย  เรื่อง  “การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปะ”ซึ่งในวันสุดท้ายของงานจะมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานศิลปะ โดย ศิลปินแห่งชาติ จากนั้นจะเป็นสัมภาษณ์และคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่น จำนวน ๑๐ คน เพื่อไปร่วมเผยแพร่ผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานศิลปะกับสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อไป



โครงการปฏิบัติการทัศนศิลป์ และนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 9 (Art Workshop) วิทยาลัยเพาะช่าง


                    วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ ผนึกสภาศิลปกรรมไทยแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดโครงการปฏิบัติการทัศนศิลป์ และนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21-24 ม.ค. 2556 ณ วิทยาลัยเพาะช่างหวังสร้างการเรียนรู้ เพิ่มเติมเทคนิคจุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของนักศึกษา พร้อมจัดแสดงผลงานจากศิลปินจากไทยและต่างชาติ
                     รศ.ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อธิการบดีมทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ศิลปินทั้งหลายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับศิลปินนานาชาติแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจ ได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินแต่ละคน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาและสะสมความรู้ทางวิชาการศิลปะ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ ซึ่งเปรียบเสมือนห้องเรียนศิลปกรรมที่มีชีวิต ที่สร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายทางศิลปะให้กับผู้ร่วมงานทุกท่าน โดยมีนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี
                หลังจากเสร็จสิ้นโครงการปฏิบัติการทัศนศิลป์แล้ว ผลงานจากศิลปินที่เข้าร่วมทั้งหมดจะถูกจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอศิลป์เพาะช่าง ในระหว่างวันที่ 24 ม.ค. – 20 ก.พ. 2556 โดยจะมีพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 9 ในวันที่ 24 ม.ค. 2556 เวลา 10.00 น. และจะถูกนำไปจัดแสดงอีกครั้งที่อุทยานศิลปะและวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในระหว่างวันที่ 1 – 30 มี.ค. 2556