"ศิลปะ" ร่วมสมัยกันอย่างไร และ อย่างไรจึงร่วมสมัย

โดย : อารยา ราษฎร์จำเริญสุข 

‘ร่วมสมัย’ เป็นคำที่คนในวงการศิลปะใช้บ่อย บางครั้งในการใช้ต่างคนก็ต่างเหมือนจะเข้าใจกันดีว่า หมายถึงศิลปะปัจจุบันที่น่าตั้งคำถามว่ามีศิลปะที่ผลิตในเวลาปัจจุบันซึ่งหน้าตาไปร่วมสมัยกับอดีต และมีศิลปะที่ผลิตในเวลาปัจจุบันที่คนปัจจุบันดูไม่รู้เรื่อง

น้อยครั้งแต่ไม่ใช่ไม่มี ในที่ประชุมในองค์กรศิลปะจะมีใครสักคนลุกท้วงการใช้คำนี้ในหลักสูตรว่า จริงๆ แล้วแปลว่าอย่างไรกันแน่เล่า

เราเอาเวลาผลิตเป็นที่ตั้งแล้วก็นึกว่า ศิลปะที่ถูกผลิต ณ เวลาปัจจุบันเป็นศิลปะร่วมสมัยคือผลงานร่วมสมัยกับเวลา ลืมไปว่าคำว่า ‘เวลา’ ไม่หมายถึงเพียงวันที่ เดือนและปีพ.ศ. แต่ผนวกพ่วงเอาความเป็นไปแห่งเวลามาด้วย ลืมไปว่าละครทีวีของเราเองเอานิยายเก่าๆ มาเปลี่ยนตัวละครเป็นดารารุ่นใหม่แล้วสร้างซ้ำๆ มาเนิ่นนาน ที่เราจะนั่งดูละครเรื่องเก่าในสายตาของคนในส่วนแวดล้อมใหม่ ลืมไปว่าละครย้อนยุคถูกสร้างขึ้นในยุคปัจจุบันมีไม่น้อยและเราอาจดูละครเรื่องนั้นด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีต เวลาจึงไม่ใช่ตัวกำหนดความร่วมสมัยถ้าในส่วนของ ‘ความเป็นไป’ นั้นไม่ใช่ คือไม่ไปด้วยกันทั้งเป็นๆ หมายว่ามีบางอย่างตาย เวลาเคลื่อน ศิลปะถูกผลิต แต่ความเป็นไปตายหรือแช่นิ่ง หรือเอาความเป็นไปที่ตายแล้วมาดองให้คงอยู่ในชิ้นงานศิลปะ

ในเวลาและความเป็นไปร่วมสมัย หันมองรายรอบ ยังมีศิลปะของยุคสมัยใหม่อยู่มากมาย ส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการศึกษา ในเวลาและความเป็นไปร่วมสมัยยังมีศรัทธาสืบทอดที่คล้ายยังคุกรุ่นร้อนเร่าอย่างเคยมา (ถ้าคำอ้างแห่งศรัทธานั้นไม่เป็นเพียงแนวคิดงานศิลปะ) มีความจงรักและภักดีต่อสไตล์เดิม (ถ้าไม่ใช่การยืนยันว่าไม่ อาจหาก้าวใหม่ที่แตกต่าง) ที่สำคัญคือมีทัศนคติอย่างเดิมที่ดูเหมือนขัดแย้งกับปัจจุบันผ่านผลงานศิลปะที่ไม่ร่วมสมัยแต่ในเวลาร่วมสมัย (ถ้าไม่ใช่การยึดติดแล้วคืออะไร)

อาการของการเปลี่ยนแปลงจากสมัยใหม่ไปสู่ลักษณะอาการของคำจำกัดความที่บอกท่วงทีอื่นๆ ในศิลปะอาจไม่ชัดนัก อย่างที่ Annabelle O. Boissier ตั้งคำถามต่อลักษณาการของศิลปะ ในบทความว่าด้วยศิลปะในประเทศไทยในสูจิบัตรนิทรรศการหนึ่งในต้นปีพ.ศ.2550 ว่า "งานเหล่านี้เป็นงานสมัยใหม่ งานร่วมสมัย ยังคงเป็นงานแบบไทยๆ หรือถูกโลกาภิวัตน์แล้วกันแน่?"

นอกจากนี้ ความสมัยใหม่ (ในคำถามของ โอ โบซิเยร์ข้างต้น) ที่เป็นแนวคิดซึ่งออกอาการ ที่ไม่ใช่ "ความมั้ยหมั่ย" นั้นได้ถูกกล่าวหาไว้หลายมุมในราวสิบปีมานี้

Shimizu Toshio ในปี พ.ศ.2538 ผู้ที่ทอดสายตามองบางฉากของประเทศในเอเชียซึ่งดำเนินไปอย่างเรียบง่าย สงบ ในขณะที่ฉุกใจคิดต่อข้อความในป้ายผ้าหน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ในญี่ปุ่นซึ่งรับอิทธิพลสมัยใหม่ทางวัตถุและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วว่า "สิ่งที่ฉันมองหาคือความสุข" ในข้อเขียนที่ชื่อ Vision of Happiness เขากล่าวว่า "ระบบสมัยใหม่ไม่ได้เป็นแค่วิธีการหนึ่ง แต่เป็นต้นแบบ"

ในขณะที่อีกบทความหนึ่งคือ Jean - Hubert Martin เขียนไว้ในส่วนของอาการทางศิลปะสมัยใหม่ใน Art in a multi - ethnic Society ว่า "ความเป็นสมัยใหม่ก่อปัญหามากมาย...ประเภทของงานจิตรกรรมและประติมากรรมมักจะเลือนหายไปในศิลปะร่วมสมัย รูปแบบการแบ่งแบบเก่าได้พิสูจน์แล้วว่าไม่อาจอยู่ได้กับวัฒนธรรมอื่นๆ"

และทัศนัย เศรษฐเสรี เขียนไว้ในบทความวิจารณ์ยุคสว่างและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ถึงโครงงานซึ่งเป็นความหวังของแนวคิดสมัยใหม่ที่ไม่ได้ผลและ "ไม่ก่อให้เกิดการคิดซ้ำหรือคิดใหม่" และ "ทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานศิลปะ"

ถ้า ‘สมัยใหม่’ เป็นดังข้างต้นแล้ว ‘ร่วมสมัย’ เล่าเป็นอย่างไร

ครั้งหนึ่งราวต้นปี พ.ศ.2548 ข้าพเจ้าได้ฟังการบรรยายของ ศ.เจตนา นาควัชระ ส่วนเล็กๆ ของการบรรยายนำไปสู่คู่กลุ่มคนร่วมสมัย เป็นคู่ระหว่างคีตกวีในอดีตในยุโรปนานมากับกลุ่มผู้ฟังที่ "ทันกัน" เนื้อความนำไปสู่คีตกวีนั้นต้องรักษาคุณภาพผลงานเพราะผู้ฟังเขามีรสนิยม เขาจับสำเหนียกได้ว่างานตก หรือคงระดับแห่งความปราดเปรื่องเปล่งประกายเอาไว้ได้

มีอาการของศิลปะร่วมสมัยที่พอจับได้จากแถบแถวของตัวหนังสือ เก่าบ้าง ใหม่บ้างที่แน่นอนต้องไม่ใช่ คำตอบเดียว เพราะในความร่วมสมัยมีความหลากหลายแบบที่ "อัตลักษณ์ลูกผสมและเปลี่ยนผ่านนับวันจะกลายเป็นกฎเกณฑ์แทนการเป็นข้อยกเว้น"

"ศิลปะร่วมสมัยเป็นผลผลิตของขนบ" เป็นคำกล่าวของ Caroline Turner ในนิทรรศการ First Asia Pacific. 1993 ที่ Queensland Art Gallery เป็นในขณะที่มีความพยายามจะหาฐานที่มั่นในเอเชียแปซิฟิกเพื่อพ้นจากสถานการณ์ศิลปะร่วมสมัยที่ถูกครอบงำจากศูนย์กลางตะวันตก และออสเตรเลียมีบทบาทเป็นแม่งาน

ที่อาจยืนยันกับเราได้ถึงความไม่ไร้รากของศิลปะร่วมสมัย

Jean Hubert Martin กล่าวไว้ใน Art in a multi-ethnic Society 1995 ว่า ในบริบทศิลปะร่วมสมัย คำจำกัดความของศิลปะในฐานะที่เป็นสิ่งที่ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอยไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป และในรายละเอียดที่มากไปกว่าประโยคข้างต้นคือ "ไม่มีวัสดุชนิดใดหรือเทคนิคใดที่ศิลปินทัศนศิลป์ในปัจจุบันไม่สามารถนำมาใช้ในงานของตน"

Dan Cameron ได้ให้อรรถาธิบายผ่านคำถามไว้หลายท่อนในบทความ 2546 "ศิลปะวันนี้ รวมถึงกวีนิพนธ์ ดนตรี และงานสร้างสรรค์อื่นๆ สะท้อนความบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่าที่ขยายไปไกลกว่าอาณาเขตของความงาม ความพึงพอใจ และรสชาติหรือไม่"

ในส่วนคำถามสุดท้ายที่เป็นคำถามชี้นำต่อคำตอบที่ดูเหมือนผู้เขียนมีอยู่แล้วในใจคือ

"ศิลปินร่วมสมัยกับการสร้างสรรค์ของพวกเขาเป็นสัญญาณบอกล่วงหน้าของการมาถึงของยุคซึ่งต้องเคลื่อนไปไกลเกินคำนิยามที่ถูกจำกัดของตัวตน ชาติ เพศ ชั้นและเชื้อชาติ ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์โดยรวมหรือไม่"

และถ้าเป็นอย่างนั้นความเฉพาะพิเศษของศิลปะร่วมสมัยคือการปรับตัวและการกลืนเข้าเนื้อกับความ เป็นไปทุกสิ่งทุกอย่างใช่หรือไม่ ศิลปินร่วมสมัยกำลังถูกกระทำจากเหตุการณ์แวดล้อมจนเป็นเหยื่อของสถานการณ์วัฒนธรรมโลกหรือไม่

อันนาแบล โอ โบซิเยร์ ได้ให้คำตอบที่ว่าศิลปินไม่ได้เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ลูกผสมเสมอไป แต่เป็นผู้กำหนดตนเองด้วย ดังข้อความนี้ "ศิลปินร่วมสมัยมักใฝ่หาเอกลักษณ์ที่หลากหลาย และหลีกเลี่ยงการจัดกลุ่มตน ให้สังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะอาจส่งผลต่อช่องทางการจัดแสดงผลงาน"

คำตอบของหัวข้อที่ตั้งไว้ว่าด้วยศิลปะร่วมสมัยในยุคของเราอาจอยู่ที่คำทำนายที่ว่า ในความเป็นไปหลากหลายสายทางอาจมีสำนวนทางศิลปะร่วมสมัยเพียงชุดเดียวที่เราใช้เป็นวาทกรรมต่อศิลปะร่วมสมัยในยุคของเราได้ มีเงื่อนไขเดียวคือต้องเป็นสำนวนที่เปิดกว้างที่สุด

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น