เรื่อง : ชัชรพล เพ็ญโฉม
ศิลปะวัตถุและโบราณสถานเปรียบเสมือนแบบเรียนประวัติศาสตร์มีชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวความเจริญทางศิลปะวัฒนธรรมในอดีตของชนแต่ละชาติ แต่สำหรับอนาคต ศิลปะยุคสมัยใดจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของสังคม หากไม่ใช่… “ปัจจุบัน”
นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศูนย์วัฒนธรรมแล้ว “ชุมชนทางศิลปะ” อันหมายถึง พื้นที่ทั้งในแง่ของสถานที่และในเชิงความคิดที่ศิลปินมีโอกาสได้ทำงานและแสดงผลงานร่วมกัน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออกทางศิลปะแขนงต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมและช่วยให้ศิลปะอันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญในสังคมนั้นธำรงอยู่
ชุมชนทางศิลปะไม่เพียงเป็นสังเวียนของการปะทะกันทางความคิดและความสามารถของเหล่าศิลปิน แต่ยังเป็นเสมือนยุ้งฉางที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและปากท้องของศิลปินรวมไปถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย |
ในต่างประเทศ บรรดาศิลปินทั้งมีชื่อและ(ยัง)ไม่มีชื่อมักจะเสาะหาที่พำนักราคาถูกเพื่อยึดเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและพากันย้ายไปอยู่รวมกันจนกระทั่งเกิดเป็นกระแสและกลายเป็นชุมชนทางศิลปะในที่สุด ตัวอย่างที่เป็นโมเดลระดับโลกคือโรงงานทอฝ้ายเก่า Spinnerei ในเมือง Leipziger ประเทศเยอรมันและ 798 Art District โรงผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งหลังจากที่โรงงานทั้งสองแห่งเลิกใช้งานมาระยะหนึ่ง (และถูกทิ้งร้าง) มันก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสตูดิโอและแกลเลอรี่ เริ่มจากหนึ่งเป็นสิบจากสิบเป็นร้อย จนกระทั่งเกิดเป็นชุมชนทางศิลปะไปในที่สุด
สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศที่จำนวนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์สู้จำนวนห้างสรรพสินค้าไม่ได้ แต่ความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกับในต่างประเทศก็ได้เริ่มสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นแล้ว เพราะบนพื้นที่ 3 ไร่ในซอยวิภาวดีรังสิต 64 คือ V64 Art Studio สตูดิโอขนาดเท่าโกดังเก็บสินค้าพร้อมด้วยแกลเลอรี่ 35 ห้องที่กำลังกลายร่างตั้งไข่เพื่อเป็น “ชุมชนทางศิลปะ” แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
กว่าจะมาเป็น V64
V64 Art Studio คือ สตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและแกลเลอรี่แสดงงานที่รวมเอาผลงานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ ภาพวาด เซรามิกส์ ศิลปะจัดวาง ฯลฯ ไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังมีโรงเรียนสอนศิลปะและพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางศิลปะด้วย
V64 Art Studio คือ สตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและแกลเลอรี่แสดงงานที่รวมเอาผลงานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ ภาพวาด เซรามิกส์ ศิลปะจัดวาง ฯลฯ ไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังมีโรงเรียนสอนศิลปะและพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางศิลปะด้วย
“จะมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยกันไหม?” คือ คำถามของคุณอธิมา ทองลุม ประติมากรจากตลาดนัดสวนจตุจักร ที่ทำให้ศิลปินหนุ่มสาวหลากสาขากว่า 60 ชีวิตยกพลมาร่วมกันสานฝันให้ตัวเองพร้อมทั้งสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแวดวงศิลปะไทย |
“เราเป็นกลุ่มศิลปินที่ผลิตผลงานขายในตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ละคนมีแนวทางการทำงานของตัวเองที่ชัดเจนมาก และมีความเชื่อร่วมกันว่า ศิลปินเป็นอาชีพที่มั่นคง พวกเราจึงรวมตัวกันหาพื้นที่เพื่อรองรับการทำงานของตัวเองโดยได้แรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศ อาทิเช่น M 50 ของเซี่ยงไฮ้ 798 Art District ของปักกิ่ง และ Spinnerei ของเยอรมัน คือ หลายๆ คนในกลุ่มเราได้มีโอกาสไปแสดงงานในต่างประเทศ จึงดูมาเป็นตัวอย่างแล้วเอาไอเดียมาคุยกัน” คุณกิตติ นารอด หนึ่งในศิลปินผู้ก่อตั้งเล่าถึงที่มาของ V64
ส่วนคุณอธิมา ผู้จัดการโครงการ เล่าถึงแรงบันดาลใจของเธอว่า “ศิลปินขายงานที่จตุจักรมักถูกมองว่า ไม่มีอุดมการณ์ แต่ดิฉันคิดว่า การที่คนทำงานศิลปะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจะช่วยพัฒนาคุณภาพงานให้ก้าวหน้าขึ้น”
“มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอยู่รวมกันจะทำให้ผลงานกลืนกันไป แต่เท่าที่ผ่านมาดิฉันพบว่าแต่ละคนสามารถผลักดันผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ” |
“สิ่งที่เราทำเป็นการช่วยเพื่อนในวงการศิลปะให้ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทุกวันนี้มีนักศึกษาจบใหม่ไม่น้อยที่ต้องเบนเข็มไปทำงานอย่างอื่น เราว่ามันเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษาและสิ้นเปลืองงบประมาณรัฐนะ เมื่อมีที่นี่เกิดขึ้นศิลปินก็จะมีพื้นที่แสดงผลงาน แม้ไม่มีเงินก็มาคุยกันได้”
ศรัทธา + ใจ บริหารงานแบบศิลปิน
ด้วยความที่เป็นศิลปิน การบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่ถนัดนัก แต่คุณกิตติก็เชื่อว่าความศรัทธาในวิชาชีพบวกกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้น่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้
ด้วยความที่เป็นศิลปิน การบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่ถนัดนัก แต่คุณกิตติก็เชื่อว่าความศรัทธาในวิชาชีพบวกกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้น่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้
“กระบวนการทำงานเริ่มจากการคุยกันในกลุ่มว่าใครจะมาร่วมทำบ้าง เมื่อรวมกลุ่มกันได้แล้วเราก็เริ่มหาสถานที่ ซึ่งมีหลายที่ที่เหมาะสม อย่างเช่น โกดังเก่าริมน้ำ แต่ดันติดปัญหาเรื่องราคา ติดต่อเจ้าของไม่ได้ ฯลฯ จนกระทั่งเรามาได้ที่นี่ พวกเราเริ่มทำงานจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เช่นการเช่าสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาเช่าได้ ทำให้เราต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องศึกษาทั้งเรื่องของกฎหมายและเรื่องนอกกฎหมายต่างๆ”
“รายได้ของเรามาจากค่าเช่าพื้นที่ของศิลปิน โรงเรียนสอนศิลปะ คาเฟ่และบาร์ ส่วนรายจ่ายคือ ค่าเช่าพื้นที่เดือนละ 2 แสนกว่าบาทและค่าดำเนินงานอีกเดือนละแสนกว่าบาท เราไม่ได้เอาเรื่องธุรกิจเป็นตัวตั้ง ทำเพราะรักและเชื่อในอาชีพศิลปิน มันเป็นเรื่องโรแมนติกล้วนๆ” |
“การทำงานเราต้องเรียนรู้ที่จะประนีประนอมโดยเฉพาะเวลาที่ประสานงานกับศิลปิน ต้องเรียนรู้เรื่องการหมุนเงินและการหารายได้เพิ่มเติม ส่วนเรื่องที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน อาทิเช่น การตลาด การประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเรื่องกฎหมาย ฯลฯ เราก็ให้มืออาชีพมาช่วยทำโดยอาศัยคอนเนคชั่นจากเพื่อนๆ”
คุณอธิมาเสริมว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยในขณะนี้พวกเธอได้วางแผนว่าจะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งออกให้เช่าเป็นร้านอาหาร
“ปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ในแง่ธุรกิจแล้วอาจยังไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่หากเราคำนึงถึงการได้สร้างความเป็นชุมชน เราก็ภูมิใจแล้วว่า อย่างน้อยทุกวันอาทิตย์เวลาบ่าย 2 เราก็มีโครงการ Art Workshop ให้เด็กๆ มาเรียนศิลปะได้ฟรี แค่คิดว่า เราดึงเวลาเล่นเกมส์ของเขามาได้สามชั่วโมง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” |
แม้โครงการจะเพิ่งเปิดตัวได้เพียงไม่กี่เดือน แต่คุณอธิมาและคุณกิตติเล่าถึงเป้าหมายในอนาคตของ V64 ว่า ต้องการขยายผลเป็นชุมชนทางศิลปะเต็มรูปแบบและอยากจะเป็นอีกเวทีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพงานของศิลปินไทย
“ในอนาคตเราจะมีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการ มีอีเว้นท์ต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของศิลปิน ทั้งยังเป็นการช่วยสร้างคอนเนคชั่นระหว่างคนในอาชีพเดียวกันด้วย”
“ผมอยากให้ผลงานของศิลปินไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่คิดว่า ตอนนี้ศิลปินไทยยังขาดการฝึกฝนในบางด้าน เช่น ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ อีกอย่างการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย (ส่วนมาก) ยังยึดติดอยู่ในกรอบที่ว่าศิลปะคือการวาดรูปเหมือน ซึ่งมันไม่ใช่”
“เราอยากให้ V64 เป็นเหมือนหมู่บ้านให้กับศิลปินหลายๆ กลุ่ม ทั้งนักดนตรี ดีไซเนอร์ นักแสดง ฯลฯ ถ้าทุกคนมาอยู่ร่วมกันที่ V64 ได้ก็จะดีใจมาก” |
คุณกิตติทิ้งท้ายกับเราว่า “ศิลปะเป็นเรื่องของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปิน เพราะการที่เราจะป่าวร้องหรือสื่อสารว่าเราเป็นใคร …มันก็ต้องดูที่ศิลปะนี่แหละ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น