ก้าวย่างสำคัญของ “ตลาดศิลปะร่วมสมัย” ในอุษาคเนย์




พูดไปใครจะเชื่อว่า ในวีคเอนด์หนึ่งของเดือนกรกฎาคม 2555 ณ อาคารเล็กๆ หลังหนึ่งกลางเมืองยอกยาการ์ต้า (เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่บนเกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย) ที่นี่จะได้เปิดประตูต้อนรับนักเสพงานศิลป์กว่า 6000 ชีวิต ที่ทยอยกันมา “รับชม” และ “หาซื้อ” ผลงานศิลปะของ “ศิลปินเลือดอาเซียน” กันอย่างคึกคัก
TCDCCONNECT ได้แวะไปเยี่ยมเยียนตลาดงานศิลป์น้องใหม่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ART/JOG’12 นี้แบบไม่เป็นทางการ (หรือจะเรียกว่าไม่ได้ตั้งใจก็คงไม่ผิดนัก) แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราได้ค้นพบว่า Art Fair ขนาดย่อมๆ ณ มุมเล็กมุมหนึ่งบนเกาะชวานี้ มันได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผ่านฝีมือนักบริหารจัดการศิลปะระดับโปรฯ และมันมีเป้าที่จะไต่ระดับบินสู่เวที “การค้าศิลปะสากล” อย่างไม่ต้องสงสัย
ในปี 2555 นี้ ART/JOG ได้เติบโตเข้าสู่ขวบปีที่ 5 แล้ว พร้อมกับธีมงาน “Looking East — A Gaze upon Indonesian Contemporary Art” ที่ตอกย้ำถึงจุดยืน “ความเป็นท้องถิ่น” ได้อย่างชัดเจน เราลองไปดูกันว่า เพื่อนบ้าน AEC ของเรารายนี้ เขากำลังพยายามทำอะไรกับ “ตลาดศิลปะร่วมสมัย” หนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ
Artist-Centered Art Fair : เมื่อศิลปินคือผู้กำหนดตลาดงานศิลปะ
ดูเหมือนว่าทางกลุ่มผู้จัดงาน ART/JOG’12 นี้ จะรู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีว่า คิวงาน Art event ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียนั้น “อัดแน่น” แค่ไหนในแต่ละปี ดังนั้นการจะทำให้ Art Fair หน้าใหม่ ในเมืองที่ไม่ใช่ “ฮ่องกง” “ปักกิ่ง” “เซี่ยงไฮ้” หรือ “สิงคโปร์” โดดเด่นขึ้นมาในความรู้สึกของนักสะสม และนักค้างานศิลป์ระดับภูมิภาคนั้น มันจำเป็นจะต้องมี “รูปแบบ” และ “สไตล์” ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร
นี่เองน่าจะเป็นที่มาว่าทำไม ART/JOG ถึงโฟกัสการเลือกผลงานทั้งหมดไปที่ “ศิลปินเลือดใหม่” โดยทางผู้จัด Heri Pemad Art Management ได้เปิดประตูกว้างแบบ Open Call ให้ศิลปินหน้าใหม่ (หรือหน้าไหนก็ได้) ร่วมส่งผลงานเข้าคัดสรร และหากผลงานใดเข้าตากรรมการ (ทีมคิวเรเตอร์) ผลงานนั้นก็จะได้เนื้อที่จัดแสดงภายในหอศิลปวัฒนธรรม Taman Budaya Yogyarkata ไปทันที
นอกจากนั้น ART/JOG ยังได้ปรับฟอร์แมทของงานให้แตกต่างจาก Art Fair ทั่วไป นั่นก็คือ พวกเขาเลือกที่จะตัดตอนพ่อค้าคนกลางออกไปทั้งหมด และนำเสนอผลงานของศิลปินในรูปแบบของ “นิทรรศการรวม” (แทนที่จะแบ่งเนื้อที่แฟร์ออกเป็นบูทๆ เพื่อขายให้กับแกลเลอรี่น้อยใหญ่) ดังนั้น หากคุณเป็นนักช้อปงานศิลปะแล้วล่ะก็ ที่ ART/JOG’12 คุณก็จะมีโอกาสเลือกซื้อผลงานชั้นดีที่คัดสรรมาแล้วรวม 224 ชิ้น จากศิลปิน 153 คน โดยไม่ต้องผ่านแกลเลอรี่หรือเทรเดอร์หน้าไหนทั้งสิ้น และศิลปินที่เข้าร่วมงานนี้ก็คือ ผู้ที่ “ตั้งราคา” ผลงานของพวกเขาเองทั้งหมด (โดยมีทีมผู้จัดงานคอยให้คำแนะนำ)
จุดเด่นอันนี้ทำให้ ART/JOG’12 เป็น “Art Fair ของศิลปิน” ที่มีผลงานหลากหลายรูปแบบ และมีระดับราคาที่ “เป็นสากล” มากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคเดียวกัน (สนนราคามีตั้งแต่ 320 เหรียญขึ้นไปจนถึง 260,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชิ้นที่แพงที่สุดนี้คืองาน Installation สเตนเลสสตีลรูปเครื่องบินขนาดมโหฬาร “Mythic Airways” – โดย Pintor Sirait)
จากก้าวแรกที่เราเดินเข้าไปในตัวงาน สัมผัสแรกที่ทุกคนน่าจะรู้สึกตรงกันก็คือ Art Fair นี้มีบุคลิกที่เข้าถึงได้ง่ายมากๆ ยกตัวอย่างเช่น
1) ทุกคนสามารถถือกล้องถ่ายรูปเข้าไปได้
2) ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย หรือพนักงานรักษาความปลอยภัย มาคอยจ้องหรือเดินตามคุณ (อันจะทำให้คุณรู้สึกกริ่งเกรงที่จะสังเกตผลงานอย่างใกล้ชิด)
3) ART/JOG ไม่คิดค่าบัตรเข้างานแม้แต่สตางค์แดงเดียว (ข้อนี้ทำให้ผู้ชมชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกถึงกับงง)
4) หากคุณอยากทราบราคา อยากซื้อ หรืออยากสั่งจองผลงานชิ้นไหน คุณก็แค่เดินเข้าไปถามพนักงานของแฟร์ที่มักจะนั่งอยู่บริเวณด้านหน้า ซึ่งเขาและเธอเหล่านี้ก็จะมีใบราคาแบบ Full List พร้อมยื่นให้คุณทันที
คำถามต่อมาคือ การจัด Art Fair สเกลขนาดนี้ แถมไม่คิดค่าเข้า แล้วฝ่ายจัดงานได้อะไร …ทำไปมันจะไม่เข้าเนื้อหรือ?  คำตอบคือ “หวังว่าจะไม่” ทางผู้จัด Heri Pemad กล่าวว่า ดีลง่ายๆ และตรงไปตรงมาที่สุดระหว่างผู้จัดกับศิลปิน ก็คือ ภายในนิทรรศการนี้หากผลงานชิ้นไหนขายตัวเองออก ทางผู้จัดก็จะขอหักคอมมิชชั่นไว้ส่วนหนึ่ง (เพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายในการจัดงาน) ส่วนชิ้นไหนที่ขายไม่ได้ ก็จะถูกส่งคืนให้ทางศิลปินหลังงานจบ …ก็เท่านั้น
เวทีท้องถิ่นเพื่อศิลปินทั่วโลก Satriagama Rakantaseta ผู้อำนวยการของ ART/JOG’12 เผยว่า แม้ผลงานส่วนใหญ่ในแฟร์นี้จะเป็นผลงานจากศิลปินอินโดฯ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาจากศิลปินชาติอื่นๆ ทั้งจากในอาเซียน และจากชาติยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Ahmad Fuad Osman จากมาเลเซีย, Willis Turner Henry จากสิงคโปร์, Wim Delvoye จากเบลเยี่ยม, Ashley Bickerton ศิลปินอเมริกันในบาหลี นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งส่งเข้ามาโดยศิลปินอินโดฯ ที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ อาทิเช่น  Tintin Wulia จาก Australia and EddiE haRA จาก Switzerland เป็นต้น
ผลงานทั้งหมด 224 ชิ้นที่ได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงใน ART/JOG’12 ครั้งนี้ ถูกตัดสินบนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบงาน และความเกี่ยวโยงกับธีมงานเป็นหลัก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทีมคิวเรเตอร์ชุดนี้จะทำงานได้มีประสิทธิภาพใช้ได้ เพราะสถิติผลงานที่ถูกจองซื้อแค่ในสัปดาห์แรกก็กระโดดไปอยู่ที่ราว 40% แล้ว (ระยะเวลาจัดงานทั้งหมด 2 สัปดาห์)
“ฉันรู้สึกดีที่เห็นนักสะสมสนใจซื้องานจากศิลปินหน้าใหม่ๆ เพราะมันเป็นการตอกย้ำว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว ที่สำคัญมันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นด้วยว่า สิ่งที่เราพยายามทำอยู่นี้มันมีความหมายกับแวดวงศิลปะในภูมิภาคนี้จริงๆ” Rakanteseta ผู้อำนวยการ ART/JOG’12 กล่าวกับสื่อมวลชนเช่นนั้น
สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ART/JOG กำลังจะก้าวสู่การเป็น “อาร์ตอีเวนท์ดาวรุ่ง” ของอาเซียนก็คือ การที่ Lorenzo Rudolf ตอบตกลงร่วมงานกับ ART/JOG’12 ในฐานะที่ปรึกษาพัฒนาโครงการ เพราะเขาคนนี้คือ ผู้ปลุกปั้นงาน Art Basel ให้โด่งดังขึ้นมาในช่วงปี 1991 – 2000 และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งของ ShContemporary in Shanghai และ Art Stage Singapore อีกด้วย
ดูเหมือนว่าพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ที่หลงใหลในศิลปะร่วมสมัยจากอุษาคเนย์ คงจะไม่ใช่อะไรที่ “เล็ก” ตลอดไปเสียแล้ว ความคิดนี้ทำให้เราเองอยากกลับไปเยือนยอกยาการ์ต้าอีกครั้งในกรกฎาคมปีหน้า เพื่อติดตาม “ก้าวต่อไปของศิลปะอาเซียน” ในงาน ART/JOG’13

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น